กสม.ชี้ขอนแก่นไม่รับจดทะเบียนตั้งมัสยิด เข้าข่ายละเมิดสิทธิ

สังคม
15 ธ.ค. 65
16:24
1,138
Logo Thai PBS
กสม.ชี้ขอนแก่นไม่รับจดทะเบียนตั้งมัสยิด เข้าข่ายละเมิดสิทธิ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กสม.เผยผลตรวจสอบกรณี จ.ขอนแก่น มีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนจัดตั้งมัสยิดในพื้นที่ ต.พระลับ ถือเป็นการละเมิดสิทธิ แนะมหาดไทยสร้างความเข้าใจชุมชนต่างศาสนาเพื่อลดความขัดแย้ง และสร้างสันติสุข

วันนี้ (15 ธ.ค.2565) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า  กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือน พ.ย.2564 จากผู้ร้องรายหนึ่ง ระบุว่า ได้ใช้บ้านพักส่วนตัวในพื้นที่ต.พระลับ อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น ประกอบศาสนกิจตั้งแต่ปี 2556 ต่อมาเมื่อปลายปี 2559 ได้ยื่นคำขออนุญาตจดทะเบียนจัดตั้งบ้านหลังดังกล่าวเป็นมัสยิดต่อคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดขอนแก่น

โดยคณะกรรมการอิสลามฯ ได้มีมติเห็นชอบและจัดส่งเอกสารยื่นคำขออนุญาตจดทะเบียนจัดตั้งมัสยิดต่ออำเภอเมืองขอนแก่น (ผู้ถูกร้องที่ 1) และจ.ขอนแก่น (ผู้ถูกร้องที่ 2) ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.บริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 เพื่อพิจารณารับจดทะเบียนตามขั้นตอน

ต่อมาเมื่อเดือน มิ.ย.2560 สมัชชาชาวพุทธเพื่อความมั่นคงของชาติจังหวัดขอนแก่น (ผู้ถูกร้องที่ 3) ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ อ.เมืองขอนแก่น เพื่อคัดค้านการจัดตั้งมัสยิด โดยให้เหตุผลว่าการมีมัสยิด อาจทำให้มีกลุ่มผู้ก่อการร้ายเข้ามาในพื้นที่ มีเสียงรบกวน และอาจมีการบุกรุกถมหนองน้ำบริเวณหน้ามัสยิด ทำให้ จ.ขอนแก่น มีหนังสือระงับการจดทะเบียนไปยังคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดขอนแก่น และผู้ขออนุญาตจัดตั้งมัสยิด

รวมทั้งมีคำสั่งไปยัง อ.เมืองขอนแก่น ให้จัดทำประชาคมเพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ และต่อมาได้มีการจัดทำประชาคมขึ้นเมื่อเดือนพ.ย. 2562 ผลปรากฏว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้มีมัสยิด

ผู้ร้องเห็นว่าอำเภอเมืองขอนแก่น และจ.ขอนแก่น สร้างขั้นตอนการประชาคมโดยไม่เป็นตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนด และไม่มีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอจดทะเบียนจัดตั้งมัสยิด รวมถึงการที่สมัชชาชาวพุทธฯ ต่อต้านการจดทะเบียนจัดตั้งมัสยิด เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม.ได้พิจารณาคำร้อง ข้อเท็จจริงและความเห็นจากบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบทบัญญัติของกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 30 บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาและการปฏิบัติ หรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน แต่ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ไม่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

กรณีตามคำร้องแยกพิจารณาได้สองประเด็น ดังนี้ ประเด็นแรกพิจารณาว่าการที่จังหวัดขอนแก่นไม่มีคำสั่งรับจดทะเบียนจัดตั้งมัสยิดเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาระยะเวลา ตั้งแต่ อ.เมืองขอนแก่น เสนอเรื่องขอจดทะเบียนจัดตั้งมัสยิดต่อ จ.ขอนแก่น และจ.ขอนแก่น ได้มีหนังสือสั่งการให้อ.เมืองขอนแก่น จัดทำประชาคม รวมระยะเวลาประมาณ 6 เดือน

จนกระทั่งปัจจุบันยังไม่มีคำสั่งรับหรือไม่รับจดทะเบียนจัดตั้งมัสยิดดังกล่าว ถือเป็นระยะเวลาเกินกว่าที่พ.ร.บ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2542) ออกตามความในพ.ร.บ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 กำหนด

การกระทำของ จ.ขอนแก่น จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร อันเป็นเหตุให้ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งมัสยิดเสียสิทธิ ในการดำเนินการอื่นอันพึงมี รวมถึงอาจกระทบสิทธิชาวไทย ที่นับถือศาสนาอิสลามที่ประสงค์จะประกอบพิธีกรรมในมัสยิดที่ได้รับการจดทะเบียนดังกล่าว ในชั้นนี้การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ประเด็นที่สอง พิจารณาว่าการที่สมัชชาชาวพุทธฯ คัดค้านไม่ให้มีการจดทะเบียนจัดตั้งมัสยิด เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เห็นว่า การจัดตั้งหรือจัดสร้างมัสยิด ถึงแม้จะเป็นสิทธิและเสรีภาพของผู้ขออนุญาตตามที่กฎหมายให้อำนาจ

ขณะเดียวกันเมื่อชาวบ้านที่อยู่บริเวณโดยรอบเห็นว่าหากมีการอนุญาตให้จัดตั้งมัสยิดจะกระทบต่อวิถีชีวิตหรือจารีตประเพณีท้องถิ่น ก็ย่อมมีสิทธิตามกฎหมายในการเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้งดเว้นการดำเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของชุมชนด้วย

โดยกรณีที่สมัชชาชาวพุทธฯ และชาวบ้านคัดค้านการจัดตั้งมัสยิดด้วยกังวลว่าการใช้เสียงในการอาซาน จะรบกวนการอยู่อาศัยของประชาชนโดยรอบนั้น มัสยิด ได้รับฟังความคิดเห็นของชุมชน และปรับแก้การใช้เสียงโดยหันลำโพงเข้าด้านในและลดระดับเสียงลงเพื่อให้ได้ยินแค่ภายในสถานที่แล้ว

ส่วนกรณีเกรงว่ามัสยิดจะบุกรุกถมหนองน้ำ บริเวณหน้ามัสยิดนั้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่า หนองน้ำสาธารณะดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของ อ.เมืองขอนแก่นและองค์การบริหารส่วนตำบลพระลับ ซึ่งหากมีการรุกล้ำถมหนองน้ำจริงก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานราชการที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย

สำหรับกรณีที่ชาวบ้านเกรงว่าหากมีมัสยิด จะมีกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเข้ามาในพื้นที่นั้น จากการตรวจสอบข้อมูลมัสยิดกว่า 4,000 แห่ง ของสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการยกเลิกการจัดตั้งมัสยิด ด้วยเหตุผลจากการใช้มัสยิดในการก่อการร้ายแต่อย่างใด และจะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้มิได้เกิดจากการมีมัสยิด หรือการใช้มัสยิดเป็นฐานที่ตั้งในการก่อความไม่สงบด้วย

แนะ 4 แนวทางแก้ปัญหา

กรณีนี้จึงเป็นความกังวลของประชาชนที่อาจเกิดจากความเชื่อข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง ตีตรา เหมารวม และสร้างความเกลียดชัง ซึ่งอาจก่อให้เกิดอคติต่อศาสนาอิสลามและชาวไทยมุสลิมจนเกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคม และกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยส่วนรวม และอาจทำให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามมาในอนาคต

ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม.ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2565 จึงเห็นควรมีเสนอแนะมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสรุปได้ดังนี้

  • ให้ จ.ขอนแก่น สร้างความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนา และมีคำสั่งรับหรือไม่รับจดทะเบียนจัดตั้งมัสยิดตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้
  • ให้กระทรวงมหาดไทยแจ้ง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดหาแนวทางสร้างความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันระหว่างคนในชุมชนที่อยู่ต่างศาสนาเพื่อลดความขัดแย้งและสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน โดยเฉพาะให้จ.ขอนแก่นทำความเข้าใจกับสมัชชาชาวพุทธฯ เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา รวมถึงกำชับให้พิจารณามีคำสั่งในเรื่องลักษณะเดียวกันตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดโดยเคร่งครัด
  • ให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยนำแนวทางของสำนักจุฬาราชมนตรีในเรื่องการปฏิบัติของชาวไทยมุสลิมในโอกาสต่าง ๆ เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และแจ้งไปยังมัสยิดทั่วประเทศเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป
  • ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรมการศาสนา และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย หารือร่วมกันเพื่อหาแนวทางในการทำความเข้าใจกับวัดและเครือข่ายผู้นำทางศาสนาต่าง ๆ เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการสร้างศาสนสถานของศาสนาอิสลาม หรือศาสนาอื่นเพื่อป้องกันความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง