ลูกช้างป่า "ธันวา" มีแรงขึ้น-ปรับแผนรักษาทางเดินอาหาร

สิ่งแวดล้อม
16 ธ.ค. 65
07:39
567
Logo Thai PBS
ลูกช้างป่า "ธันวา" มีแรงขึ้น-ปรับแผนรักษาทางเดินอาหาร
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ทีมสัตวแพทย์ เผยความคืบหน้าการรักษา "ธันวา" ลูกช้างป่าพลัดหลง พบมีเรี่ยวแรงขึ้น-เดินไกลขึ้น โดยมีเจ้าหน้าที่ช่วยพยุง พร้อมดูแลใกล้ชิด 24 ชั่วโมง ปรับแผนรักษาระบบทางเดินอาหารเพิ่มเติม เนื่องจากสภาวะลำไส้แปรปรวน-มีแผลหลุม

วันนี้ (16 ธ.ค.2565) นายอนันต์ ศรีผุดผ่อง หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก, สพ.ญ.กนกวรรณ ตรุยานนท์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ สอป.สบอ.3 (บ้านโป่ง), สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก, น.สพ.อนุรักษ์ สกุลพงษ์ นายสัตวแพทย์ ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 3 (ประทับช้าง) รายงานอาการ "ธันวา" ลูกช้างป่าพลัดหลง มีอาการป่วยและบาดเจ็บ ว่า

ในวันนี้ (16 ธ.ค.) เวลา 03.00 - 06.00 น. ลูกช้างมีอาการถ่ายเหลวแบบเนื้อครีม มีเยื่อเมือกลำไส้ปน แต่ไม่พบเลือดปนอุจจาระ หรือสีอุจจาระเปลี่ยนไป มีเรี่ยวแรงมากขึ้น เดินได้ไกลขึ้น โดยมีเจ้าหน้าที่ช่วยพยุงตัว มีพฤติกรรมการยืนหลับร่วมด้วย

ส่วนเมื่อวานนี้ (15 ธ.ค.) ลูกช้างถ่ายอุจจาระเป็นเนื้อครีม สีปกติ ปัสสาวะปกติ โดยให้สารน้ำเข้าทางหลอดเลือดดำและใต้ผิวหนัง ให้น้ำต้มข้าว เนื้อข้าวต้มเปื่อย และนมทุก 3 ชั่วโมง ให้ยาฆ่าเชื้อแบบกิน วิตามินแบบกิน ให้ยาลดกรดและยาขับลมแบบกิน เนื่องจากมีอาการท้องอืด ปวดท้อง จึงระบายท้องด้วยการกระตุ้นรอบๆ รูก้น และใช้น้ำสวนไปในลำไส้ พบว่าหายท้องอืด มีการผายลมและขับถ่าย

นอกจากนี้ ให้เอ็นไซน์ช่วยย่อยอาหารแบบกินและให้สารกระตุ้นภูมิผ่านทางก้น พร้อมตรวจเช็กระดับกลูโคสในกระแสเลือดวันละ 2 ครั้ง อยู่ในระดับ 55 และ 97 mg/dl โดยลูกช้างมีเรี่ยวแรงและกำลังมากขึ้น มีความอยากลุกนั่ง ยืน และเดิน

ทั้งนี้ ทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ ดูแลลูกช้างป่าอย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง และปรับแผนการรักษาระบบทางเดินอาหารเพิ่มเติม เนื่องจากสภาวะลำไส้แปรปรวน และมีแผลหลุมในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งทำการวินิจฉัยจากเยื่อเมือกที่ลอกหลุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง