ครม.ไฟเขียว “ช้อปดีมีคืน-ลดภาษีที่ดิน-ลดค่าธรรมเนียมฯ”

เศรษฐกิจ
20 ธ.ค. 65
16:43
3,775
Logo Thai PBS
ครม.ไฟเขียว “ช้อปดีมีคืน-ลดภาษีที่ดิน-ลดค่าธรรมเนียมฯ”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ครม.เห็นชอบของขวัญปีใหม่ 2566 จาก ก.คลัง ทั้งช้อปดีมีคืน ลดภาษีที่ดิน รวมถึงค่าธรรมเนียมโอน ขณะที่ ก.แรงงาน ดีล ธอส.คิดอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์บ้านวงเงิน 2 ล้าน เหลือร้อยละ 1.99 ต่อปี ระยะเวลา 5 ปี

วันนี้ (20 ธ.ค.2565) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบและรับทราบการดำเนินมาตรการ/โครงการของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2566 ให้แก่ประชาชน

มาตรการภาษีและค่าธรรมเนียม 5 มาตรการ

1. มาตรการ “ช้อปดีมีคืน ปี 2566”

กำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล สามารถหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 40,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ.2566

แบ่งเป็น (1) ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ จำนวนไม่เกิน 30,000 บาท จะต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบกระดาษ หรือใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากร

(2) ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ จำนวนไม่เกิน 10,000 บาท จากส่วนที่เกิน (1) จะต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากรเท่านั้น

สำหรับสินค้าที่เข้าร่วมมาตรการ เช่น ค่าซื้อสินค้าและค่าบริการทุกประเภทที่ซื้อจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงค่าสินค้า OTOP

แต่ไม่รวมถึงค่าสินค้าและบริการบางชนิด ได้แก่ ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์ ค่าซื้อยาสูบ ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ ค่าซื้อหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ค่าบริการจัดนำเที่ยว ค่าที่พักในโรงแรม ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต และค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาว (ซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 ม.ค.2566 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 ก.พ.2566 แม้จะจ่ายค่าบริการในช่วงระยะเวลามาตรการ) และค่าเบี้ยประกันวินาศภัย

ทั้งนี้ คาดว่าจะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นประมาณ 56,000 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์มวลรวมเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.16 และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม

2. มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2566 (มาตรการลดภาษีที่ดินฯ)

มาตรการดังกล่าวจะให้ลดภาษีในอัตราร้อยละ 15 ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้ สำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ของปีภาษี พ.ศ. 2566 ยกตัวอย่างเช่น กรณีมีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมูลค่า 1 ล้านบาท ใช้ประกอบกิจการ เช่น ร้านขายของชำ ร้านตัดผม ร้านขายอาหารตามสั่ง โรงงาน อาคารสำนักงาน เป็นต้น ปกติจะมีภาระภาษี 3,000 บาท แต่จะได้รับการลดภาษีจากมาตรการลดภาษีที่ดินฯ 450 บาท คงเหลือภาษีที่ต้องชำระ 2,550 บาท

และตัวอย่างกรณีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับลดภาษีในอัตราร้อยละ 50 ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้อยู่แล้ว เช่น โรงผลิตไฟฟ้า เขื่อน เป็นต้น จะได้รับการลดภาษีในอัตราร้อยละ 15 ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้หลังจากได้รับการลดภาษีร้อยละ 50 แล้ว

อย่างไรก็ดี ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับการลดภาษีร้อยละ 90 แล้ว เช่น สวนสัตว์ สวนสนุก สถานที่เล่นกีฬา เป็นต้น จะไม่ได้รับการลดภาษีตามมาตรการลดภาษีที่ดินฯ เพิ่มเติมอีก

3. มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัยปี 2566 (มาตรการลดค่าธรรมเนียมฯ)

มาตรการดังกล่าวจะให้ลดค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ จากร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 1 และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ จากเดิมร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.01 (เฉพาะการโอนและจดจำนองในคราวเดียวกัน) สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัย ได้แก่ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์ และห้องชุด (ทั้งบ้านมือ 1 และมือ 2) เฉพาะที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อสัญญา โดยไม่รวมถึงกรณีการขายเฉพาะส่วน ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธ.ค.2566

4. มาตรการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิต

สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่นที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานภายในประเทศ โดยลดอัตราภาษีตามปริมาณของน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นที่ใช้บินในประเทศ จากลิตรละ 4.726 บาท เหลือลิตรละ 0.20 บาท โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-30 มิ.ย.2566

5. มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมการอนุญาตขายสุรา ยาสูบและไพ่ ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560

ให้สิทธิยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่ ประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 สำหรับผู้ประกอบการที่ประสงค์จะประกอบกิจการต่อเนื่อง ณ สถานประกอบการเดิม ประเภทใบอนุญาตเดิม ที่ยื่นคำขอระหว่างวันที่ 1 ม.ค. - 31 ธ.ค.2566

มาตรการและโครงการของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

1. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เช่น โครงการชำระดีมีคืน ลดดอกเบี้ยแก้หนี้ภาคครัวเรือน มาตรการส่งเสริมสภาพคล่องและฟื้นฟู
2. ธนาคารออมสิน เช่น โครงการวินัยดี มีเงิน
3. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เช่น ยกเว้นค่าดำเนินการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs
4. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศ (ธพว.) เช่น ผ่อนดีมีคืน (บัตรกำนันสูงสุด 300 บาท) มาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

มาตรการและโครงการจากหน่วยงานสังกัดกระทรวงการคลัง

1. มาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมเงินเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2566 จากกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
2. มาตรการของขวัญปีใหม่ปี 2566 ให้กับลูกค้ารายย่อยที่ไม่มีหลักประกัน/ผู้ค้ำประกัน จากบริษัทบริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด (บสอ.)
3. โครงการเที่ยวปีใหม่สุขใจไปกับพิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2566 ให้แก่ประชาชน จากกรมธนารักษ์
4. โครงการสนับสนุนตลาดทุนและเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน ลดภาระแก่ผู้ประกอบธุรกิจ จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทัพย์ (ก.ล.ต.)
5. โครงการส่งเสริมให้ประชาชนและผู้ลงทุนมีศักยภาพในการสร้างสุขภาพทางการเงินที่ดี และมีภูมิคุ้มกัน ไม่ถูกหลอกลวงจาก ก.ล.ต.
6. โครงการกรมธรรม์ประกันภัยรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) สำหรับเทศกาลปีใหม่ 2566 จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกบิธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
7. โครงการ "ชม ชิม ช็อป ยาสูบเชียงราย" จากการยาสูบแห่งประเทศไทย

ก.แรงงานดีล ธอส.รีไฟแนนซ์บ้านลดดอกเบี้ย

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวว่า ของขวัญจากกระทรวงแรงงานที่เข้า ครม. คือการลดค่าของชีพประชาชน กระทรวงฯ ได้ฝากเงิน 30,000 ล้านบาทที่ธนาคาร ธอส. เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานตามมาตรา 33 ที่มีสินเชื่อบ้านที่อยู่อาศัยไม่ถึง 2 ล้านบาท สามารถรีไฟแนนซ์ที่ ธอส. อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6 ต่อปี ในขณะที่ธนาคารทั่วไปอัตราลอยตัว และได้ประสานกับธนาคาร ธอส. ที่ลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.99 ระยะเวลา 5 ปี ซึ่งจะเป็นเฟสแรกและจะทำเฟสต่อๆ ไป

รมว.แรงงาน ยกตัวอย่าง ผู้ประกันตนตั้งวงเงิน 2 ล้านบาทและผ่อนรายเดือนเดือนละ 14,000 บาท ก็จะผ่อนเหลือเดือนละ 8,000 บาท เหลือเงิน 6,000 ไปใช้จ่ายได้อีก หรือการลดอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 6 ต่อปี วงเงิน 2 ล้านบาท ก็จะเหลือละ 120,000 บาท และจากอัตราดอกปีละ 1.99 ก็จะเหลือจ่ายดอกเบี้ยปีละ 40,000 บาทต่อปี หรือเหลือเงินปีละ 80,000 เวลา 5 ปี เป็นเงิน 400,000 บาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง