ชายแดนระอุ! ขบวนการค้ายาเสพติดมุ่งเป้าเข้าไทย กลับมาระบาดหนัก ผู้เสพขอเข้าบำบัดอื้อ

อาชญากรรม
21 ธ.ค. 65
11:18
1,853
Logo Thai PBS
ชายแดนระอุ! ขบวนการค้ายาเสพติดมุ่งเป้าเข้าไทย กลับมาระบาดหนัก ผู้เสพขอเข้าบำบัดอื้อ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
UNODC คาดอีก 12 ปี ทั่วโลกจะมีผู้ใช้ยาเสพติด 299 ล้านคน ขณะที่ปัญหายาเสพติดไทยมีแนวโน้มขยายตัว ขบวนการค้ายาฯ สามเหลี่ยมทองคำใช้นักเคมีไต้หวัน คิดสูตรเคมีสังเคราะห์สกัดหัวเชื้อยาเสพติด

UNODC หรือ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ คาดปี 2573 ทั่วโลกจะมีผู้ใช้ยาเสพติดประมาณ 299 ล้านคน และกัญชายังคงเป็นยาเสพติดที่มีผู้ใช้มากที่สุด 200 ล้านคน รองจากกลุ่มโอปิออยด์ 62 ล้านคน แอมเฟตามีนและอนุพันธ์ 27ล้านคน เอ็กซ์ตาซี 20 ล้านคน และโคเคน 20 ล้านคน

ขณะที่สถานการณ์ยาเสพติดของไทยก็น่าจับตาเป็นพิเศษ ในปีงบประมาณ 2564 มีการจับกุมคดียาเสพติดจำนวน 337,186 คดี ผู้ต้องหา 350,758 คน ของกลาง ยาบ้า 554.7 ล้านเม็ด ไอซ์ 26,662 กิโลกรัม เฮโรอีน 4,520 กิโลกรัม เคตามีน 1,350 กิโลกรัม

การขยายตัวการผลิตยาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง นับแต่เหตุรัฐประหารในเมียนมา เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 การเมืองภายใน และปัญหาการสู้รบในพื้นที่รอบนอก ทำให้เมียนมา ไม่สามารถทุ่มสรรพกำลังเจ้าหน้าที่ เข้าไปปราบยาเสพติดได้อย่างที่ควรจะเป็น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อแหล่งผลิตยาเสพติด แต่กลับเอื้อให้เขตอิทธิพลภายใต้การดูแลของกลุ่มชาติพันธุ์ เร่งผลิตยาเสพติดเพื่อส่งเข้าไทยมากขึ้น ขณะที่ไทยก็จับกุมยาเสพติดเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะยาเสพติดจากสารสังเคราะห์ คือ ยาบ้า ไอซ์ และเคตามีน

ขบวนการค้ายาเสพติดไม่ทิ้งช่องทางธรรมชาติ

มีข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ด้านป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ระบุว่า ปัจจุบันรูปแบบการลักลอบซื้อ-ขายยาเสพติดเปลี่ยนไป กลุ่มผู้ค้ายาเสพติดจะใช้ช่องทางออนไลน์ผ่านระบบโซเซียลมากขึ้น ทั้ง Line Twitter Facebook Instagram โดยเฉพาะ Twitter เป็นช่องที่ได้รับความนิยมสูงสุดในการซื้อขายยาเสพติดในกลุ่มเยาวชน

รวมทั้งการส่งผ่านพัสดุภัณฑ์ ซึ่งราคาจะถูกกว่าการว่าจ้างขบวนการขนลำเลียงยาเสพติด ขณะที่กลุ่มผู้ค้ายาฯ รายใหญ่ ยังใช้ช่องทางธรรมชาติเป็นเส้นทางหลัก พร้อมกองกำลังติดอาวุธคุ้มกัน เพื่อป้องกันการตรวจค้นและปราบปรามของเจ้าหน้าที่ไทย

เส้นทางหลักพื้นที่ภาคเหนือ ชายแดนไทย–เมียนมา ยาเสพติดจะถูกลำเลียงเข้ามาพักคอยเพื่อรอเข้าจ.เชียงใหม่ เชียงราย และตาก

แหล่งผลิตและผู้ผลิตด้านชายแดนเมียนมา-จีน ยังเป็นกลุ่มชาติพันธ์เดิม คือ กลุ่มชาติพันธ์ ว้า โกกั้ง คะฉิ่น และรัฐฉาน ในพื้นที่เขตปกครองพิเศษว้าภาคเหนือ และว้าภาคใต้ และพื้นที่เขตปกครองพิเศษที่ 4 เมืองลา รัฐฉาน

ขบวนการค้ายาเสพติดจะใช้กองกำลังติดอาวุธเชื้อสายมูเซอ หรือบางส่วนเป็นอาสาสมัครพิทักษ์ชายแดน (BGF) อดีตกลุ่มขุนส่า รับจ้างลำเลียงขนยาเสพติดข้ามแดนเข้ามาในพื้นที่ชายแดนไทย ยาเสพติดที่ถูกส่งเข้ามาจะมีทั้ง ยาบ้า ไอซ์ เฮโรอีน เคตามีน และฝิ่นดิบ

จุดพักคอยสำคัญในพื้นที่ชายแดนเมียนมา ยังอยู่ที่บ้านเปียงส่า เมืองยองปัง จังหวัดเมืองสาด รัฐฉาน กองทัพมดที่ขบวนการค้ายา ว่าจ้างจะค่อยๆ ลักลอบทยอยลำเลียงเข้าสู่ไทยหลายช่องทาง จากชายแดนไทย–เมียนมา เข้ามาพักรอในพื้นที่ของเครือข่ายยาเสพติดที่ ต.ท่าตอน อ.แม่อาย อ.ฝาง และอ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ และอ.แม่ฟ้าหลวง และอ.แม่สาย จ.เชียงราย

กรณีที่ผู้ค้ายาเสพติดใช้กลุ่มผู้ลำเลียงเป็นกลุ่มชาติพันธ์ม้ง ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการลำเลียงยาเสพติดผ่านเข้าในพื้นที่ของสปป.ลาว ก่อนจะลักลอบนำเข้าไทยในพื้นที่ อ.เทิง อ.เชียงของ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย และในพื้นที่ อ.ภูซาง และ อ.เชียงคำ จ.พะเยา เพื่อลักลอบลำเลียงเข้าสู่พื้นที่ตอนในของไทย

และในช่วงเจ้าหน้าที่ไทยปราบปรามเข้มข้น กลุ่มผู้ค้ายาเสพติดจะเปลี่ยนเส้นทางลำเลียงเข้ามาทางชายแดนไทย-พม่าด้านตะวันตก เข้าที่ช่องทางธรรมชาติในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี หรือภาคใต้ ที่ จ.ระนอง แล้ววกเข้าสู่ภาคกลางของประเทศ หรือผ่านทางประเทศลาว เข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

Drugs Cocktail ฆ่าชีวิตนักเสพหน้าใหม่

ยาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ไม่ได้มีเพียง ไอซ์ เคตามีน เฮโรอีน และยาบ้าเท่านั้น แต่ปัจจุบันยังมีสูตรที่เรียกว่า “Drugs Cocktail” ที่เกิดจากนักเคมีชาวไต้หวัน ที่เข้ามาเป็นมือปืนในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ รับจ้างผสมสารสังเคราะห์ ได้ประยุกต์ดัดแปลงสารเคมี สารตั้งต้นสารพัดชนิดขึ้นมาใช้ จึงทำให้มีการผลิตยาเสพติดชนิดต่าง ๆ จำนวนมาก

น้ำสวรรค์ หรือ “Happy water” เป็นยาเสพติดตัวใหม่ กำลังเป็นที่นิยมของกลุ่มนักเที่ยวชาวจีนตามสถานบันเทิงในฝั่งเมียนมาและไทย ยาเสพติดดังกล่าว เป็นสารเสพติดที่กลุ่มผู้ค้ายาเสพติดผสมขึ้นมาเอง มีส่วนผสมของยาเสพติดหลายชนิด เช่น ยาอี เมทแอมเฟตามีน สารไดอาซีแพม คาเฟอีน และ ทรามาดอล เป็นยาที่ที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท

ข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่า ส่วนผสมของยาเสพติดดังกล่าวจะเข้าสู่ร่างกายโดยการดื่ม หากนำไปผสมกับน้ำหวาน หรือเครื่องดื่มจะออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ทำให้เคลิบเคลิ้ม สนุกสนาน ตื่นตัว คึกคัก นักท่องเที่ยวจึงชอบมาก

เช่นเดียวกับยาอี ซึ่งมีทั้งชนิดเม็ดและผง โดยกลุ่มผู้ค้ายาจะนำชนิดหัวเชื้อที่เป็นผงมาจำหน่ายให้กับกลุ่มนักเที่ยวกลางคืนจะมีรหัสเรียกกันว่า “ยาส่ายหัว” หรือ “ยาหัวส่าย” ผู้เสพจะนำมาผสมกับ ไอซ์ คาเฟอีน หรือยานอนหลับ มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท

เมื่อผู้เสพฯได้ยินเสียงเพลงหรือเสียงดนตรีจะทำให้เต้นไม่หยุด หัวจะส่ายได้ถึงเช้า ทำให้ร่างกายขาดน้ำ เกิดอาการช็อคและเสียชีวิตได้ ไม่ต่างจากเค-นมผง ซึ่งผู้เสพจะนำเคตามีน (ketamine) ผสมกับ ยาไอซ์ เฮโรอีน และโรเซ่ (ยานอนหลับ)

สูตรผสมยาเสพติดดังกล่าวข้างต้น เป็นมัจจุราชเงียบที่คร่าชีวิตนักเสพมาแล้วนับไม่ถ้วน หลายคนต้องจบชีวิตก่อนวัยอันควร

น้ำสวรรค์-เฮโรอีน-ยาอี รุกแหล่งบันเทิง

ต้นเดือนส.ค.ที่ผ่านมาในพื้นที่จ.นครพนม มีการจับกุมยาอีในรูปแบบเม็ด เป็นตัวการ์ตูนรูปหมี สีเหลือง พบว่ามีการนำใช้ผสมยานอนหลับชนิดรุนแรง โดยยาอีรูปหมี มีสูตรเหมือนกับยาอีทั่วไป ผู้ค้ายาเสพติดได้เปลี่ยนรูปแบบ โดยนำมาผลิตรูปหมีสีเหลือง เพื่อต้องการชักจูงกลุ่มผู้เสพวัยรุ่นที่เข้าไปเที่ยวในแหล่งบันเทิง

แหล่งข่าวระบุว่า ที่ผ่านมามีการลักลอบนำยาอี มาจากประเทศแถบยุโรป ข้อมูลปี 2563-2565 หน่วยเฉพาะกิจสกัดกั้นยาเสพติดทางท่าอากาศยาน (AITF) สกัดกั้นยาอายุได้ 60 คดี รวมของกลาง 346,232 เม็ด

นอกจากยาอีแล้วยังมีการนำหัวเชื้อยาอี (MDMA) หรือเมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน ชนิดเม็ด หรือแคปซูลไปใช้แหล่งบันเทิงด้วยเช่นกัน กลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน และนักท่องเที่ยวฐานะดีจะใช้กันมาก มีการปั๊มโลโก้แสดงแหล่งที่มา เช่น ตรากระต่าย ตราผีเสื้อ ราคาซื้อขายอยู่ที่เม็ดละ 800-1,000 บาท

ส่วน Happy Water หรือ”น้ำสวรรค์” เป็นยาเสพติดที่มีหลากหลายยี่ห้อ แม้จะมีราคาแพง แต่กลับเป็นที่นิยมของนักเสพวัยรุ่นและวัยทำงาน ราคาซื้อขายบรรจุในถุงพลาสติกน้ำหนัก 15-20 กรัม ราคาซองละ 3,500 - 6,000 บาท ขายปลีกในกลุ่มนักเสพด้วยกันราคาซองละ 3,000-3,500 บาท

ผู้เสพจะนำมาผสมกับบุหรี่สูบ หรือผสมน้ำเปล่า โดยซองหนึ่งจะผสมได้ 6-8 แก้ว ผู้เสพบางรายก็นำไปผสมในเครื่องดื่มชูกำลัง หรือกาแฟ หลังจากเสพเข้าไปแล้ว ไม่ต้องดื่มแอลกอฮอล์ ก็สนุกสนานได้ทั้งคืน และสุดท้ายอาจทำให้เสียชีวิตจากภาวะช็อค

บรรจง แซ่อึ้ง ประธานชุมชนกองขยะหนองแขม ซึ่งเป็นกลุ่มเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดในชุมชน บอกว่า ตลาดยาเสพติดสำหรับนักท่องเที่ยว และคนทำงานที่มีฐานะดีจะต่างกัน นักเสพที่มีเงินจะใช้ ยาอี ยาเค หรือ ยาสวรรค์ แต่สำหรับวัยรุ่นและวัยทำงานในพื้นที่ย่านหนองแขม และกทม. จะไม่มีกำลังซื้อ ส่วนใหญ่จะนิยม “เล่นเป๊ะ” หรือ “เฮโรอีน” มากกว่า

ปัจจุบันยาเสพติดที่เป็นสารเสพติดสังเคราะห์กำลังแพร่แพร่ระบาดอย่างหนัก โดยเฉพาะเฮโรอีนกำลังเป็นปัญหาหนักของชุมชนหลายแห่งใน กทม.

เฮโรอีนระบาดหนักมากกว่า ยาบ้า กัญชา หรือยาเสพติดชนิดอื่น ๆ และน่ากังวลมากเนื่องจากค่อยๆซึมลึกเข้ามา ในแต่ละวันมีผู้แสดงตัวขอเข้ารับการบำบัดด้วยทรามาดอลจากโรงพยายาลอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดวันเดียวมี 85 ราย แต่สุดท้ายไปไม่รอดต้องกลับมาเสพซ้ำ

ถามคนติดเฮโรอีนมันบอกทนไม่ไหว ปวดข้อ จะลงแดงตาย ส่งไปถ้ำกระบอก ส่ง รพ.ไปรับทรอมาดอลบำบัด มันเอาไม่อยู่ ใจมันอยากจะเลิก แต่มันทนไม่ไหว เฮโรอีนตัวนี้แรง มันเป็นเฮโรอีนสังเคราะห์ มีพวกไนจีเรียมาขายให้ บอกตำรวจไปแล้ว ยังไม่เห็นว่า จะเข้ามาปราบยังไง คนขายยาบ้ามันเสพเฮโรอีน มันว่า ยาบ้านี่ธรรมดาไปเลย

แหล่งผลิตประชิดชายแดนแข่งปั๊มยาบ้าคร่าชีวิต

บรรจง เล่าว่า ทราบข้อมูลจากวัยรุ่นในชุมชนว่า ราคาซื้อขายยาบ้าอยู่ที่ 4 เม็ด 100 บาท ราคาถูกและหาซื้อได้ง่าย จึงหวั่นใจว่า เยาวชนในช่วงวัยกำลังอยากรู้อยากลองจะเข้าไปสู่วงจรยาเสพติด นอกจากนี้แม้ประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ได้ปรับ เปลี่ยนบทลงโทษให้ผู้เสพเป็นผู้ป่วย

หากผู้เสพครอบครองยาเสพติดปริมาณน้อยให้รับเข้าบำบัดไม่ถูกจับ เพื่อแก้ปัญหานักโทษล้นคุก แต่ปัญหาคือ ผู้ที่เข้ารับการบำบัดได้กลับเข้ามาเสพซ้ำ จึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลกกับชุมชนต่างพบว่ามีเยาวชนเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดเพิ่มขึ้น ทั้งผู้เสพซ้ำและนักเสพหน้าใหม่

ข้อมูลจากหน่วยงานปราบปรามยาเสพติดระบุว่า ขณะนี้ยาบ้าจากแหล่งผลิตมีราคาเม็ดละ 50 สตางค์ เนื่องจากผู้ค้ายา เปลี่ยนจากการใช้ปั๊มมือมาเป็นระบบไฮโดรลิก จึงสามารถผลิตยาบ้าได้ 288,000 เม็ด/ชั่วโมง /เครื่อง เพิ่มขึ้น 100 เท่า จากเดิมที่ผลิตได้ 2,700 เม็ด/ชั่วโมง

ขณะที่ก่อนหน้านี้ ขบวนการรับจ้างขนยาบ้า 1 เม็ด 3 บาท โดย 1 กิโลกรัม มี 10,000 เม็ด ต้องใช้เงินค่าจ้างขนถึง 30,000 บาท แต่ปัจจุบันใช้ส่งทางพัสดุภัณฑ์ ราคาถูก กิโลกรัมละ 80 บาท จะเห็นว่า ค่าขนส่งลดลงจาก 30,000 บาท เหลือ 80 บาท เคมีภัณฑ์หาง่ายขึ้น ราคาถูกลง เครื่องอัดก็อัดเร็วเป็นร้อยเท่า จึงผลิตได้เร็ว

ถามว่ายาบ้ามีเยอะไหม ต้องยอมรับว่า มีมากจริง ๆ แต่ถามว่าหาง่ายไหม หาไม่ได้ง่าย

ขณะที่ข้อมูลฝ่ายความมั่นคงระบุว่า ยาบ้าจากแหล่งผลิตเหลือเม็ดละ 50 สตางค์ เมื่อถูกลำเลียงจากชายแดนเพื่อนบ้านเข้ามาเขตชายแดนไทย ราคาเม็ดละ 1บาท ยาบ้าของกลุ่มชาติพันธ์จะถูกกลุ่มผู้ผลิตรายย่อย ในพื้นที่นำยาบ้าตรงนี้มาบดเป็นผง ใส่คาเฟอีน แล้วอัดเม็ดขึ้นใหม่ ด้วยการใช้ปั้มโฮโดรลิก ซึ่งแต่ละรายปั้มได้วันละ 20,000-30,000 เม็ด แล้วลักลอบส่งเข้ามาขายในไทยทำตลาดแข่งกับกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ จึงเป็นสาเหตุให้ยาบ้ามีราคาถูกลง

จากการจับกุมผู้รับจ้างขนยาเสพติดรับสารภาพว่า ต้องดัดแปลง รถยนต์ เพื่อลำเลียงยา ที่อยู่ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เชียงราย ในราคาเหมาจ่าย รวมครั้งเดียวราคาเม็ดละ 50 สตางค์ เพื่อตบตาการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่

ที่ผ่านมาเราจับยึดในพื้นที่ตอนในของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยสารพัดวิธี ทั้งซุกซ่อนไปกับ รถขนนม รถยนต์บรรทุก หรือ รถพ่วง ขนาดใหญ่วิ่งหลบเลี่ยงด่าน แล้วนำยาเสพติด มาพักเก็บที่โกดัง ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางก่อนส่งไปยังภาคใต้

คนรับจ้างขนยาเสพติดกล้าทำเพราะถ้าหลบด่านตรวจได้คุ้ม ขนยาเสพติดลงมา 1 ล้านเม็ดจะได้ค่าจ้างเที่ยวละ 300,000-500,000 บาท สถานการณ์ยาเสพติดของบ้านเราขณะนี้ค่อนข้างวิกฤติ มันล้อมรอบทุกที่

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง