เหมืองถลุงแร่ทำแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า สร้างมลพิษแก่ชาวบ้านที่อินโดนีเซีย

Logo Thai PBS
เหมืองถลุงแร่ทำแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า สร้างมลพิษแก่ชาวบ้านที่อินโดนีเซีย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ทะเลในอินโดนีเซียรอบเกาะสุลาเวสีกลายเป็นสีแดง จากอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ก็ได้มีเหมืองแร่จำนวนมากผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ด ท่ามกลางป่าดงดิบเกาะสุลาเวสี ประเทศอินโดนีเซีย โดยเฉพาะเหมืองแร่นิกเกิล ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนของรถยนต์ไฟฟ้า ที่กำลังมีความต้องการในตลาดสูงมากขึ้นในทุก ๆ ปี

เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในทุกวันนี้รถยนต์ไฟฟ้ากำลังเป็นที่ต้องการของตลาดโลกเป็นอย่างมาก จากกระแสความนิยมด้านการลดการใช้งานเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ก่อให้เกิดสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

แต่หารู้ไม่ว่าอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ที่กำลังคึกคักในประเทศอินโดนีเซียนั้น กลับปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกออกมาอย่างมหาศาล พร้อมกับก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำและอากาศที่เป็นอันตรายต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อีกด้วย 

โดยภาพถ่ายจากสำนักข่าว วอชิงตัน โพสต์ ล่าสุด ได้เปิดเผยให้เห็นถึงผืนน้ำรอบเกาะสุลาเวสี ที่ถูกปกคลุมไปด้วยกากแร่สีแดงจากกระบวนการถลุงอยู่เต็มไปหมด ซึ่งมีธาตุนิกเกิลปนเปื้อนอยู่เกินกว่าที่มาตรการของภาครัฐอินโดนีเซีย กำหนดไว้ถึง 20 เท่า

ในขณะที่ในปัจจุบันก็ยังไม่มีใครหรือหน่วยงานไหนริเริ่มการศึกษาใด ๆ ว่าโลหะที่ปนเปื้อนอยู่ในทะเลนี้ ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพต่อมนุษย์อย่างไรกันแน่ แต่ที่แน่ ๆ ก็คือชุมชนชาวประมงริมน้ำต่างต้องแล่นเรือออกไปในน่านน้ำที่ไกลขึ้นกว่าเดิมในทุก ๆ ปี ซึ่งใช้เวลามากกว่า 4 ชั่วโมง กว่าจะเจอบริเวณที่สามารถจับปลาได้มากพอ ที่จะหล่อเลี้ยงชีวิตคนในชุมชนได้

โดยในปี 2010 กลุ่มชาวประมงก็เคยประท้วงอุตสาหกรรมเหมืองแร่นี้มาแล้วครั้งหนึ่ง ด้วยวิธีการนำเรือหลายร้อยลำไปปิดกั้นเส้นทางเดินเรือขนส่งแร่ ซึ่งกระทรวงสิ่งแวดล้อมอินโดนีเซียก็ได้สั่งให้บริษัททำเหมืองจ่ายเงินชดเชยคนในชุมชนละแวกนั้น แต่ทว่าเรื่องก็กลับเงียบไป และชาวบ้านก็ได้เงินชดเชยแค่เพียง 250 บาทต่อคนเท่านั้น พร้อมกับเครื่องยนต์เรือรุ่นใหม่ ซึ่งชาวบ้านตีความกันว่าทางบริษัทเหมืองกำลังบอกว่าให้ไปหาปลาในน่านน้ำที่ไกลออกไปแทน 

เลาะเด มุฮัมหมัด ซารีฟ อดีตผู้นำคณะปราบปรามการทุจริตอินโดนีเซีย เคยกล่าวไว้ว่า “อุตสาหกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการคอร์รัปชันมากที่สุดในอินโดนีเซีย” ซึ่งผลการศึกษาของทางการอินโดนีเซีย ยังระบุอีกด้วยว่า มีเหมืองแร่ประมาณ 5,000 แห่ง ที่ได้รับใบอนุญาตมาอย่างผิดกฎหมาย

ความเป็นจริงของกระบวนการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ที่ผู้คนมากมายต่างเชื่อว่าเป็นพาหนะแห่งอนาคตที่จะต่อสู้กับภาวะโลกร้อน ก็กลับกลายเป็นต้นกำเนิดของการก่อมลพิษอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้หน้ากากของพลังงานสะอาดไปเสียได้

พื้นที่เกาะสุลาเวสี ในประเทศอินโดนีเซีย จึงเป็นหนึ่งในตัวอย่างของการจัดการบริหารที่ล้มเหลวของภาครัฐที่จะเยียวยาผู้คนที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้น และการควบคุมขั้นตอนการทำเหมืองแร่ที่ไร้คุณภาพ จนยากที่ธรรมชาติของเกาะสุลาเวสีจะหวนกลับคืนสู่จุดเดิมอีกครั้ง

ที่มาข้อมูล: Washington Post

ที่มาภาพ: Reuters

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง