หมดปัญหายุงกวนใจ! เยอรมันพัฒนา "แหวนไล่แมลง" ผลิตจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ

Logo Thai PBS
หมดปัญหายุงกวนใจ! เยอรมันพัฒนา "แหวนไล่แมลง" ผลิตจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิจัยเยอรมันพัฒนาอุปกรณ์ไล่ยุง และแมลงต่าง ๆ แบบใหม่ มาในรูปแบบแหวน หรือเครื่องประดับอื่น ๆ ที่สวมใส่ได้ ช่วยปล่อยสารกันแมลงให้ทำงานได้นานขึ้น

ปัญหากวนใจของใครหลายคน คงหนีไม่พ้นยุงหรือแมลงต่าง ๆ ที่บินมาตอม จะไล่เท่าไรก็ไม่หมดจนเกิดความรำคาญ ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้มีแค่ที่ประเทศไทย แต่แมลงหรือยุงนั้นมีอยู่ทั่วโลก

ที่ผ่านมาเรามักเห็นสเปรย์หรือโลชั่นกันแมลงวางขายทั่วไปในท้องตลาด ซึ่งจะช่วยป้องกันได้เพียงระยะเวลาหนึ่งและต้องคอยฉีดสเปรย์หรือทาโลชั่นเพิ่ม แต่นักวิจัยจาก Martin Luther University Halle-Wittenberg (MLU) ได้คิดค้นอุปกรณ์กันยุงแบบใหม่ ที่มาในรูปแบบสวมใส่ ช่วยยืดระยะเวลาของสารขับไล่แมลงให้ทำงานได้ยาวนานขึ้น หมดปัญหาเรื่องแมลงกวนใจไปได้เลย

นักวิจัยเลือกใช้สาร IR3535 ซึ่งเป็นสารขับไล่แมลงที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก สารขับไล่แมลงชนิดนี้มีความอ่อนโยนต่อผิวหนังมนุษย์ จะผสมอยู่ในสเปรย์หรือโลชั่นที่ใช้กันยุงหรือแมลงตามท้องตลาด โดยปกติแล้วสเปรย์หรือโลชั่นก็จะออกฤทธิ์ให้การปกป้องได้นานหลายชั่วโมง แต่นักวิจัยได้ทำการค้นหาวิธีการปลดปล่อยสารขับไล่แมลงในระยะเวลาที่นานขึ้น จนได้วิธีการห่อหุ้มสารขับไล่แมลงไว้ในแหวนหรือสร้อยข้อมือที่สวมใส่ได้

สารขับไล่แมลงและส่วนผสมอื่น ๆ ถูกใส่อย่างระมัดระวังลงในโพลิเมอร์ที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ โดยใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติแบบพิเศษ เพื่อควบคุมส่วนผสมให้ออกมาตามรูปร่างที่ต้องการ เช่น แหวน หรือสร้อยข้อมือ โดยแนวคิดพื้นฐานคือสารขับไล่แมลงจะระเหยอย่างต่อเนื่องและสร้างเกราะป้องกันแมลง

อัตราการระเหยของสารขับไล่แมลงขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ อุณหภูมิ ความเข้มข้น และโครงสร้างของโพลิเมอร์ที่ใช้ หลังจากทำการทดลองแล้ว ทีมวิจัยคาดการณ์ว่าสารไล่แมลงต้องใช้เวลานานกว่าหนึ่งสัปดาห์ในการระเหยอย่างสมบูรณ์ที่อุณหภูมิ 37°C ซึ่งก็คืออุณหภูมิร่างกายมนุษย์

จากงานวิจัยดังกล่าว ได้พิสูจน์แล้วว่าการพัฒนายาขับไล่แมลงแบบสวมใส่สามารถทำได้ แต่แหวนหรือสร้อยข้อมือนั้น เป็นเพียงอุปกรณ์ต้นแบบในการศึกษาครั้งนี้เท่านั้น ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมถึงประสิทธิภาพในการทำงานจริงของแหวน และการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของวัสดุที่ให้ห่อหุ้มสารขับไล่แมลงอีกด้วย ซึ่งหากในอนาคตการทดลองนี้สำเร็จ คงมีอุปกรณ์สวมใส่เพื่อขับไล่แมลงออกมาเป็นอีก 1 ทางเลือกที่น่าสนใจในท้องตลาด

ที่มาข้อมูล: scitechdaily, phys, publicnewstime
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง