เสธ ทร.ยังไม่ตอบปม “ต้นกล” ไม่ขึ้นเรือวันเกิดเหตุ

สังคม
29 ธ.ค. 65
20:04
4,183
Logo Thai PBS
เสธ ทร.ยังไม่ตอบปม “ต้นกล” ไม่ขึ้นเรือวันเกิดเหตุ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรณีมีรายงานว่าในวันเกิดเหตุ ร.ล.สุโขทัย อับปาง “ต้นกล” ซึ่งรับผิดชอบงานด้านวิศวกรรมไม่ได้ขึ้นเรือ ล่าสุดผู้สื่อข่าวสอบถามเสนาธิการทหารเรือ แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ

วันนี้ (29 ธ.ค.2565) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การตรวจสอบสาเหตุเรือหลวงสุโขทัยอับปางยังไม่ได้ข้อสรุป แต่มีคำถามเกี่ยวกับการรับมือในวันเกิดเหตุมากพอสมควร โดยเฉพาะประเด็นที่กองทัพเรือระบุว่าน้ำเข้าทางท่อไอเสียและทำให้ระบบไฟฟ้าดับจนเสียการควบคุม คำถามหนึ่งคือผู้รับผิดชอบฝ่ายวิศกรรมบนเรือได้กำกับควบคุมหรือไม่ ซึ่งก็คือ “ต้นกลเรือ”

แหล่งข่าวระดับสูง ระบุว่า ตามระเบียบ “ต้นกล” ของเรือหลวงต้องอยู่ในเรือ ไม่สามารถมอบหมายให้ผู้อื่นรับผิดชอบแทนได้ แต่ไม่ยืนยันว่าวันเกิดเหตุ มีต้นกลประจำการในเรือหรือไม่ คำถามนี้ถูกถามหลายครั้ง หลังมีรายงานว่าในวันเกิดเหตุ “ต้นกล” ซึ่งรับผิดชอบงานด้านวิศวกรรมไม่ได้ขึ้นเรือ และได้มอบหมายให้รองต้นกลรับผิดชอบงานแทน

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามประเด็นนี้กับเสนาธิการทหารเรือ ที่เข้าไปชี้แจงกับกรรมาธิการการทหารของสภาฯ วันนี้ (29 ธ.ค.) ว่า ต้นกลไม่ได้ขึ้นเรือหลวงสุโขทัยในวันเกิดเหตุจริงหรือไม่ แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ

ความสำคัญของ “ต้นกล” ตามคำยืนยันจากแหล่งข่าวในกองทัพเรือ การทำงานบนเรือแบ่งเป็นฝ่าย Operation หรือฝ่ายยุทธการ มีตำแหน่งที่ได้ยินกันบ้างแล้ว เช่น ต้นเรือ, ต้นหน, ต้นปืน

ซึ่ง “ต้นเรือ” คือตำแหน่งรองผู้บังคับการเรือ ส่วนฝ่ายวิศวกรรม มีตำแหน่งสำคัญคือ “ต้นกล” รับผิดชอบทั้งระบบไฟฟ้า, ความเสียหายของเรือ, รับมือเหตุไฟไหม้ หรือน้ำเข้าเรือ

ตามระเบียบ “ต้นกล” เป็นหัวหน้าแผนกช่างกล อยู่ใต้บังคับบัญชาของ “ต้นเรือ” อีกที แต่ในทางปฏิบัติต้นเรือกับต้นกลจะเท่าเทียมกัน เพราะต้นกลเป็นเสมือนรองผู้การเรืออีกคนหนึ่งที่รับผิดชอบด้านช่างกล ดูแลเครื่องจักรทั้งหมด เครื่องจักรใหญ่ ระบบไฟฟ้า และการป้องกันความเสียหาย

เส้นทาง “ต้นกล” จบจากโรงเรียนนายเรือ ตำแหน่งเริ่มต้นคือ นายช่างกล ดูและระบบไฟฟ้า, ขยับเป็น รองต้นกล ดูระบบขับเคลื่อน ซึ่งทั้ง 2 ตำแหน่งนี้จะใช้เวลา 2-3 ปี ก่อนจะเลื่อนชั้นได้ และสูงสุดคือ ต้นกล ที่คุมทั้งแผนก

กรณีเรือเล็กอาจไม่มีตำแหน่งต้นกล แต่มี “สรั่งกล” ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเช่นกัน เป็นกลุ่มจ่าที่มีประสบการณ์ แต่กรณีเรือหลวง เรือขนาดกลาง-ขนาดใหญ่ จำเป็นต้องมีต้นกล

เรือหลวงสุโขทัย แม้ไม่ใช่เรือรบขนาดใหญ่ แต่ถือเป็นเรื่องที่มีคุณค่าทางยุทธการสูงสุดของกองทัพเรือ มีศักยภาพการรบ 3 มิติเทียบเท่ากับเรือใหญ่ ซึ่งเรือที่นับว่ามีคุณค่าทางยุทธการฯ มี 5 ลำ คือ เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช, เรือหลวงตากสิน, เรือหลวงนเรศวร, เรือหลวงรัตนโกสินทร์ และเรือหลวงสุโขทัย ซึ่ง 2 ลำท้ายซื้อมาพร้อมกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทร.ยืนยันลุยค้นหาผู้สูญหาย ร.ล.สุโขทัย อีก 5 นายตลอดปีใหม่

สัมภาษณ์พิเศษ : ภารกิจสำรวจ-วางแผนกู้ "เรือหลวงสุโขทัย" ใต้ทะเลลึก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง