“หุ่นยนต์ซ่อมท่อน้ำรั่ว” นวัตกรรมช่วยรัฐบาลประหยัดงบซ่อมท่อน้ำ

Logo Thai PBS
“หุ่นยนต์ซ่อมท่อน้ำรั่ว” นวัตกรรมช่วยรัฐบาลประหยัดงบซ่อมท่อน้ำ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ปัญหารอยน้ำรั่วเล็ก ๆ ตามท่อน้ำกำลังจะได้รับการแก้ไขโดยหุ่นยนต์ซ่อมท่อน้ำขนาดเล็กรุ่นใหม่ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของมหาวิทยาลัยอังกฤษ 4 แห่ง ภายใต้โครงการที่มีชื่อว่า “ไพพ์บอท” (Pipebot)

ในทุก ๆ ปีในสหราชอาณาจักรจะมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงท่อน้ำทิ้งสูงถึง 6,000 ล้านปอนด์ หรือ ราว 250,000 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณการซ่อมแซมส่วนใหญ่มักไปลงเอยกับการขุดพื้นผิวถนนขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนท่อน้ำใหม่โดยที่ไม่รู้ตำแหน่งรอยรั่วเล็ก ๆ อย่างแท้จริง ก่อนที่จะทำการฝังกลบหน้าถนนกลับไปอีกครั้ง

นักวิทยาศาสตร์จากมหาลัย 4 แห่งทั่วสหราชอาณาจักร อันประกอบไปด้วย มหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ (University of Sheffield) มหาวิทยาลัยลีดส์ (University of Leeds) มหาวิทยาลัยบริสตอล (University of Bristol) และ มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม (University of Birmingham) จึงได้ตั้งทีมพัฒนาหุ่นยนต์ตรวจหารอยรั่วขนาดเล็กตามท่อน้ำขึ้นมา ภายใต้โครงการที่มีชื่อว่า “ไพพ์บอท” (Pipebot)” ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลซ่อมแซมท่อน้ำได้ตรงจุดมากขึ้นในขณะที่ใช้งบประมาณน้อยลง

และนอกจากนี้แก้ไขปัญหาท่อน้ำรั่วที่มีอยู่ทั่วสหราชอาณาจักรด้วยความช่วยเหลือจากหุ่นยนต์นั้น อาจช่วยลดการสูญเสียน้ำประปาโดยใช่เหตุมากกว่าหลายล้านลิตรในแต่ละปีอีกด้วย ซึ่งถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากในยุคที่น้ำจืดบนโลกกำลังขาดแคลน จากผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่ทำให้น้ำแข็งบนยอดเขาอันเป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำละลายเร็วขึ้นในทุก ๆ ปี

โดยในปัจจุบันหุ่นยนต์ที่โครงการไพพ์บอทกำลังพัฒนาอยู่นั้น มีอยู่หลายรุ่นด้วยกัน ไล่ตั้งแต่หุ่นยนต์รูปทรงคล้ายแมงมุมและมีหางคล้ายปลา ซึ่งได้รับการออกแบบมาให้ว่ายน้ำและเคลื่อนที่แบบปกติได้ ไปจนถึงหุ่นยนต์รูปทรงคล้ายก้นหอยที่สามารถกลิ้งไปมาภายในท่อน้ำได้

แต่ถึงกระนั้นหุ่นยนต์เหล่านี้ยังต้องได้รับการพัฒนาขึ้นอีกมาก โดยเฉพาะระบบการติดต่อสื่อสารใต้ดินระหว่างหุ่นยนต์กับผู้ควบคุมที่อยู่บนพื้นผิวและตัวหุ่นยนต์อื่น ๆ ด้วยกันเอง เพื่อรายงานความคืบหน้าและแจ้งเตือนถึงบริเวณที่เกิดรอยรั่วขึ้น ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการทดสอบในท่อน้ำจำลองอยู่ โดยมีปัจจัยเรื่องตำแหน่งของท่อและน้ำที่อยู่ภายในเป็นอุปสรรคสำคัญ

เนื่องจากสัญญาณวิทยุทั่วไปอย่างคลื่น 4G ที่เราใช้กันในทุกวันนี้นั้น ไม่สามารถฝ่าลงไปยังใต้ดินได้ ในขณะที่น้ำนั้นกั้นคลื่นวิทยุได้ดีเสียยิ่งกว่าตัวกลางใด ๆ

ดังนั้นทางทีมนักวิทยาศาสตร์ไพพ์บอท จึงได้เริ่มพัฒนาช่องทางการติดต่อสื่อสารใหม่ ๆ ด้วยแสงและเสียงที่เราไม่ค่อยคุ้นเคยมากนัก แต่ถ้าหากโครงการไพพ์บอทประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดีในอนาคต ก็จะช่วยให้รัฐบาลในหลาย ๆ ประเทศประหยัดงบประมาณค่าน้ำได้มากโขเลยทีเดียว

ที่มาข้อมูล: The Conversion, Pipebot
ที่มาภาพ: Pipebot
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง