สัญญาณเตือน "โรคอัลไซเมอร์" รู้เร็ว รักษาทัน ด้วยวิธีการตรวจเลือดแบบใหม่

Logo Thai PBS
สัญญาณเตือน "โรคอัลไซเมอร์" รู้เร็ว รักษาทัน ด้วยวิธีการตรวจเลือดแบบใหม่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การตรวจเลือดแบบใหม่อาจสามารถหาต้นตอที่ก่อให้เกิด "โรคอัลไซเมอร์" ก่อนผู้ป่วยแสดงอาการหลงลืมนานหลายปี ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยเข้ารับการดูแลที่เหมาะสมได้ทันท่วงที

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันได้สร้างระบบการตรวจเลือดรูปแบบใหม่เพื่อตรวจหาต้นตอของโมเลกุลในกระแสเลือดที่ส่งผลให้โปรตีนในสมองพับไปมาและเกาะตัวกันอย่างผิดรูปผิดร่าง ซึ่งก่อให้เกิดโครงสร้างที่เรียกว่า “แอมีลอยด์ บีตา พลาก” (Amyloid Beta Plaques) ขึ้นมา อันเป็นสัญญาณที่ชัดเจนของ “โรคอัลไซเมอร์”

แต่อย่างไรก็ดี กระบวนการที่ “แอมีลอยด์ บีตา พลาก” ก่อให้เกิดการเสื่อมถอยของการทำงานในสมองนั้น ยังคงเป็นปริศนาอยู่ เพราะเท่าที่เรารู้โครงสร้างของโปรตีนที่แปลกประหลาดนี้ ส่งผลให้เซลล์ประสาททำงานผิดพลาด ก่อนที่จะตายจากไปในที่สุด ซึ่งมีเพียงผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จำนวน 1 ใน 3 เท่านั้น ที่มีการตรวจพบ “แอมีลอยด์ บีตา พลาก” มิหนำซ้ำในบางกรณีก็มีการตรวจพบในคนธรรมดาที่ไม่ได้เป็นอัลไซเมอร์อีกด้วย

นักวิทยาศาสตร์จึงตั้งสมมติฐานใหม่ว่า สาเหตุของโรคอัลไซเมอร์นั้น อาจมาจากสารต้นกำเนิด “แอมีลอยด์ บีตา พลาก” อีกทีหนึ่งที่เรายังตรวจไม่พบต่างหาก ซึ่งกำลังมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในเรื่องนี้กันอยู่

แต่ในขณะเดียวกันนี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันก็สามารถคิดค้นสารละลายตัวหนึ่งที่มีชื่อเรียกว่า SOBA เพื่อใช้ในการแยกแยะ “แอมีลอยด์ บีตา พลาก” ที่ก่อให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ที่อยู่ในคนปกติได้ ผ่านการตรวจพลาสมาที่อยู่ในเลือด

โดยผลการทดลอง SOBA จากอาสาสมัคร 310 คน พบว่าในเวลาต่อมามีอาสาสมัครจำนวน 10 คนที่ได้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ จากทั้งหมด 11 คนที่นักวิจัยคาดการณ์ไว้

ในปัจจุบันการตรวจหาโรคอัลไซเมอร์นั้น มักจะใช้การตรวจลักษณะการสืบทอดทางพันธุกรรมเป็นหลัก หากวิธีการตรวจโรคอัลไซเมอร์ด้วยสาร SOBA ดำเนินไปได้ด้วยดีอย่างที่นักวิจัยมหาวิทยาลัยวอชิงตันทำไว้แล้วล่ะก็ การตรวจหาโรคอัลไซเมอร์ที่แม่นยำก็คงเป็นเรื่องที่ไม่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป

ที่มาข้อมูล: Science Alert

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง