ตรวจสอบการแต่งตั้งโยกย้าย "หัวหน้า" อุทยานฯ เกรดเอ

สังคม
5 ม.ค. 66
19:30
540
Logo Thai PBS
ตรวจสอบการแต่งตั้งโยกย้าย "หัวหน้า" อุทยานฯ เกรดเอ
มูลนิธิสืบฯ ตั้งข้อสังเกตการแต่งตั้งโยกย้าย "หัวหน้าอุทยานฯ" ในช่วงคาบเกี่ยวที่นายรัชฎา รับตำแหน่งอธิบดีกรมอุทยานฯ พบว่ามีการเปลี่ยนหัวหน้าสูงในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะอุทยานฯ เกรด A

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ทำข้อมูลเปรียบเทียบจำนวนอุทยานแห่งชาติ ที่มีการเปลี่ยนแปลง “หัวหน้าอุทยานฯ” โดยใช้ข้อมูลวันที่ 21 พ.ย.2564 เปรียบเทียบกับ 22 พ.ย.2565 ซึ่งเป็นเวลาคาบเกี่ยวที่นายรัชฎา เข้ารับตำแหน่งอธิบดีกรมอุทยานฯ พบว่าสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ (สบอ.) 21 แห่ง ที่มีอุทยานฯ รวม 134 แห่งทั่วประเทศ เปลี่ยนหัวหน้าอุทยานฯ ถึง 80 คน จากทั้งหมด 134 คน โดยพบมีการเปลี่ยนหัวหน้าฯ มากสุด 80-100% ใน 5 พื้นที่ ปราจีนบุรี สระบุรี สงขลา นครศรีธรรมราช และขอนแก่น

ยกตัวอย่างปราจีนบุรี คือ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 1 มีอุทยานฯ ในความรับผิดชอบ 6 แห่ง เปลี่ยนหัวหน้าอุทยานฯ 6 คน หรือมีการโยกย้ายสูง 100% อีก 1 แห่ง คือ สบอ.5 นครศรีธรรมราช มีอุทยานฯ ในความรับผิดชอบ 20 แห่ง เปลี่ยนหัวหน้าอุทยานฯ 16 คน หรือ 80%

ส่วนในพื้นที่นี้มีอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นอุทยานฯ เกรด A มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงเป็นอันดับ 1 ของปี 2565 คือ 72 ล้านบาท จึงถูกตั้งคำถามว่าการโยกย้ายตำแหน่งในพื้นที่เป็นความต้องการของข้าราชการในกรมอุทยานฯ หรือไม่

นอกจากนี้ อุทยานฯ ในพื้นที่ที่เข้าข่าย “เกรด A” เช่น อุทยานฯ หาดนพรัตนธารา หมู่เกาะพีพี 61 ล้านบาท และอุทยานฯ หมู่เกาะสิมิลัน 40 ล้านบาท ทั้ง 2 แห่งนี้มีรายได้สูงติดอันดับ 5 ในปี 2565 โดยอยู่ในอันดับ 2 และ 3 ตามลำดับ ซึ่งตัวเลขรายได้เหล่านี้ถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คนต้องการมาอยู่ และคนที่อยู่ก็ไม่ต้องการจะย้ายไป

สำหรับรายรับเงินอุทยานฯ ประจำปีงบประมาณ 2565 รายได้อันดับ 1 สบอ.5 นครศรีธรรมราช เป็นเงินกว่า 180 ล้านบาท, อันดับ 2 ได้แก่ สบอ.1 ปราจีนบุรี, อันดับ 3 สบอ.2 ศรีราชา, ตัวเลขรายได้เหล่านี้จึงถูกตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นสิ่งที่ทำให้หลายคนต้องการมาอยู่ และคนที่อยู่อาจไม่ต้องการจะย้ายไป แต่การโยกย้ายตำแหน่งอาจต้องใช้วิธีการบางอย่างหรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง