เปิดรหัสลับ ว.5 ยิงตรงตึกสูง ชี้ช่องทุจริตงบรัฐส่งส่วย

การเมือง
10 ม.ค. 66
15:49
333
Logo Thai PBS
เปิดรหัสลับ ว.5 ยิงตรงตึกสูง ชี้ช่องทุจริตงบรัฐส่งส่วย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เปิดรหัสลับ ว.5 ยิงตรงตึกสูง ชี้ช่องทุจริตงบรัฐส่งส่วย แค่วาระเดียวข้าราชการกำเงินส่งคนใกล้ชิดแล้ว คาดไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้าน

ปี 2565 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวนกว่า 20,000 ล้านบาท เฉพาะกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้รับ 9,700 ล้านบาท จากที่ถูกปรับลด 20 เปอร์เซ็นต์จากงบประมาณที่เสนอขอไปกว่าหมื่นล้านบาท

ขณะที่ปี 2566 รัฐได้จัดสรรงบประมาณให้เพิ่มขึ้นเป็น 11,045.05 ล้านบาท

การทุจริตภายใต้คลื่นลมที่สงบในกระทรวงทรัพยากรฯ แม้จะมีกระแสให้ได้ยินมาเป็นระยะๆ แต่ก็ไม่สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้คนในสังคมได้เหมือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 27 ธ.ค.2565 เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลางร่วมกับ ป.ป.ช.-ป.ป.ท.บุกจับนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

พร้อมแจ้ง 2 ข้อกล่าวหา เป็นเจ้าพนักงานสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือ ยอมจะรับทรัพย์สิน หรือ ประโยชน์อื่นใด สําหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทําการหรือไม่ กระทําการอย่างใดในตําแหน่งไม่ ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่

และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

เปิดช่องทุจริตงบรัฐส่งสินบนการเมือง

แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงทรัพยากรธรรมฯ ระบุว่า การจ่ายสินบน เพื่อแต่งตั้งโยกย้ายเกิดขึ้นมานานแล้ว ทุกยุคสมัย แต่ยุคก่อนจะเป็นการช่วยเหลือเล็กน้อยๆ จ่ายเพียง 1-2 เปอร์เซ็นต์ กาลเวลาผันผ่านจากการเรียกรับค่าตอบแทน 1-2 เปอร์เซนต์ ขยับเพิ่มเป็น 50 เปอร์เซ็นต์

ในอดีตเมื่อ 10 ปีที่แล้ว จะมีการเรียกเก็บส่วยเฉพาะบางรายการ ในพื้นที่ที่มีรายได้สูงจำนวน 50 เปอร์เซ็นต์ เช่น รายได้จากการจำหน่ายตั๋วเข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางทะเล ซึ่งต่างจากปัจจุบันที่มีการเรียกเก็บทุกเม็ด

ต่อมามีการเรียกเก็บผลประโยชน์ จากการโยกย้ายตำแหน่งหลักๆ ซึ่งจำนวนเงินค่าวิ่งเต้นโยกย้ายจะไม่แน่นอน และรายได้ทั้งหมดอธิบดีฯ จะส่งไปข้างบนทั้งหมด

ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ เจ้าหน้าที่ไม่มีเงินทำงาน เป็นลักษณะอย่างนี้มาโดยตลอด แต่พอในยุคนี้ เก็บทุกเม็ดโดยใช้ระบบสุดฮิตคือ หากใครต้องการอยู่ต่อเพื่อรักษาตำแหน่งก็ต้องจ่ายเพิ่ม

ถามว่าเอาเงินไปไหน เมื่อก่อนไม่มีการส่งการเมือง ข้าราชการประจำส่งเงินให้ฝ่ายการเมืองครั้งแรก เกิดขึ้นก่อนปี 2548 โดยลักษณะการจ่ายตกลงกันว่า จะเป็นการเหมาว่า ในแต่ละปีต้องส่งกี่ร้อยล้านบาท โดยอดีตอธิบดีอุทยานฯ จะเป็นผู้ส่งให้กับฝ่ายการเมือง และนับจากนั้นเป็นต้นมา การจ่ายส่วยก็รุกลามหนักขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อก่อนเขาจะเก็บตามเปอร์เซ็นต์ แต่สมัยนี้หากต้องการจะอยู่ต่อในตำแหน่งจะต้องจ่ายเดือนละเท่าไหร่ ปีละเท่าไหร่ โดยจ่ายเพิ่มเป็นรายเดือนหรือรายปี หรือรายไตรมาส

จ่ายค่ารักษาตำแหน่งวงเงินต่ำสุดรายละล้าน

เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ รายหนึ่ง เปิดเผยพฤติกรรมการเรียกรับเงินจากข้าราชการ ในสังกัดกรมอุทยานฯ ในยุคนี้ว่า จะมีการเรียกรับเงินจากหัวหน้าหน่วย เพื่อให้วิ่งเต้นเพื่อรักษาตําแหน่งหัวหน้าหน่วยนั้นๆ ไว้ให้ หากหัวหน้าหน่วยแต่ละหน่วยไม่นําเงินมาจ่ายก็จะถูกย้ายออกทันที

โดยการวิ่งเต้นเพื่อรักษาตําแหน่งนั้น ทางหัวหน้าหน่วยจะต้องนําเงินมามอบให้ที่สํานักงานภายในกรมฯ รายละประมาณ 500,000 -1,000,000 บาท และยังต้องนำเงินสดมาจ่ายให้เป็นรายเดือนอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีการเรียกเก็บเงินจากหัวหน้าหน่วยงานในภาคสนาม คิดตามอัตราส่วนจากหน่วยงานที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ เช่น อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจะเรียกเก็บ 18.5 เปอร์เซ็นต์ จากหมวดงบดําเนินงาน และค่าใช้สอย ส่วนหน่วยป้องกันไฟป่าจะเก็บ 30 เปอร์เซ็นต์จากหมวดงบประมาณดําเนินงานและค่าใช้สอย

รหัส.ลับว. 5 ยิงตรงตึกสูง

มีคำถามว่าเก็บเงินไปไหน แม้ซองเงินส่วนใหญ่จะอยู่ที่ห้องทำงานของนายรัชฎา แต่ข้าราชการในกรมฯ ต่างทราบกันดีกว่า อธิบดีกรมอุทยานฯ คงไม่ได้เอาเข้ากระเป๋าตัวเองคนเดียวแน่ๆ แต่อาจนำส่งให้กับเจ้าของฉายา

ตัวอยู่กรุงเทพฯ เหรียญสลึงหล่นที่ภูเก็ตยังได้ยิน

แหล่งข่าวระดับสูงเปิดเผยว่า ข้าราชส่วนใหญ่อึดอัดกับระบบนี้มานานแล้ว แต่ไม่มีใครทำอะไรได้ ทนไม่ได้ก็ลาออก ยอมจบชีวิตราชการตนเอง ทั้งที่ใจรัก เพราะการเรียกเก็บสินบนจากงบประมาณรัฐนั้น ถูกยิงตรงขึ้นตึกสูง

แหล่งข่าวระดับสูง กล่าวว่า ข้าราชการประจำได้มีข้อตกลงกับฝ่ายการเมืองไว้ว่า หากมีเงินงบประมาณ 100 เปอร์เซ็นต์ ฝ่ายการเมืองจะขอ 60 เปอร์เซ็นต์ โดยหน่วยงานนี้จะมีผู้ที่หน้าที่เก็บส่วยให้ โดยผู้ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่นี้ จะต้องเป็นคนใกล้ชิดที่ฝ่ายการเมืองไว้ใจและให้อำนาจ เนื่องจากมีเป็นผู้มีอำนาจตรงในการสั่งย้าย โดยบุคคลนี้จะเก็บอีก 25 เปอร์เซ็นต์ รวมแล้วฝ่ายการเมืองจะได้ไป 75 เปอร์เซ็นต์

ดังนั้นฝ่ายข้าราชการประจำจะเหลือเพียง 25 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากต้องแบ่งกันหลายคน ทำให้ต้องไปเรียกเก็บเปอร์เซ็นต์เพิ่มเป็น 150 ส่วนจะไปเก็บตรงไหนแล้วแต่งบประมาณ ที่แต่ละหน่วยได้รับการจัดสรร เรียกว่าเก็บตามหน้าเสื่อ หลังจากตกลงกันแล้วอาจมีการเรียกเก็บเพิ่ม ซึ่งฝ่ายการเมืองระดับสูงอาจจะทราบหรือไม่ก็ได้

แหล่งข่าวคนเดิม ยืนยันว่า มีการประมาณการตัวเลขกลมๆ ที่เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยเฉพาะในสังกัดกรมอุทยานฯ ส่งตรงผ่านให้ข้าราชระดับสูงไปจ่ายให้กับฝ่ายการเมืองในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ตามวงเงินงบประมาณที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลอยู่ที่ 3,000-4,000 ล้านบาท

แหล่งข่าวระบุว่า เงินจำนวนนี้คือตัวเลขตั้งแต่ปี 2560-2565 เท่านั้น โดยเงินที่ยิงขึ้นตึกสูงเป็นเงินมาจากงบประมาณ เช่น ส่วนป้องกันไฟป่า เป็นเงินจากการจ้างแรงงานผี และเงินปลูกป่า ซึ่งเอาเงินไปปลูกป่าแล้วไม่ปลูกจริง หากเป็นเงินจากอุทยานฯ จะมาจากการเก็บค่าตั๋วเข้า ร้านค้า ส่งเข้าอุทยานฯ

ส่วนใหญ่จะยิงตรงไปให้บุคคลใกล้ชิดฝ่ายการเมือง 2 คน ขณะที่ข้าราชการระดับสูงก็สั่งใครไม่ได้ โดยเฉพาะระดับอธิบดี

ทั้งหมดอยู่ที่ฝ่ายการเมืองสั่ง เขาจะไม่เก็บเอง พูดง่ายๆ เงินจำนวน 10,000 บาท เขายังเก็บเลย ทำให้ข้าราชการไม่เหลืออะไร ทำงานไม่ได้เพราะไม่มีงบประมาณ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง