สภาผู้บริโภค ร้องยุติใช้สาร "แมนโคเซบ" หลังพบคราบสีฟ้าจากต้นหอม

สังคม
12 ม.ค. 66
14:22
547
Logo Thai PBS
สภาผู้บริโภค ร้องยุติใช้สาร "แมนโคเซบ" หลังพบคราบสีฟ้าจากต้นหอม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สภาผู้บริโภค เรียกร้องเร่งหามาตรการจำกัดการใช้ หรือยกเลิกขึ้นทะเบียนสารเคมีอันตรายการเกษตร หลังเคสพบคราบสีฟ้าจากต้นหอม ด้านเครือข่ายเกษตรไทยแพน ระบุในสหภาพยุโรปไม่ให้ใช้ "แมนโคเซบ" หากเข้าสู่ร่างกายจะตกค้าง เสี่ยงต่อระบบสืบพันธุ์-ระบบต่อมไร้ท่อในมนุษย์

วันนี้ (12 ม.ค.2566) ภก.ภาณุโชติ ทองยัง ประธานอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคมีความห่วงใยต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค จากการที่มีผู้แชร์คลิปวิดีโอพบต้นหอมที่วางขายในตลาดมีคราบสีฟ้าติดมือออกมาจากการสัมผัสต้นหอมทั้งกำ ซึ่งเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN : ไทยแพน) ได้ออกมาระบุว่าสารปนเปื้อนที่พบนั้นอาจเป็นสารแมนโคเซบ (Mancozeb) แม้ว่าจะมีพิษเฉียบพลันจากการกินเข้าไปในระดับน้อย (Acute Toxicity) แต่หากกินพืชผักที่มีการปนเปื้อนสารดังกล่าวอยู่เป็นประจำจะก่อให้เกิดพิษระยะยาวได้ (Chronic Toxicity) เพราะสารดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อระบบสืบพันธุ์และยังเป็นอันตรายต่อทารก อีกทั้งยังไปรบกวนระบบต่อมไร้ท่อในมนุษย์

สภาผู้บริโภคจึงร่วมสนับสนุนไทยแพน เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คณะกรรมการวัตถุอันตราย กรมวิชาการเกษตร และกระทรวงสาธารณสุข เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง และพิจารณาหามาตรการในการจำกัดการใช้หรือยกเลิกการขึ้นทะเบียนสารดังกล่าวโดยด่วน รวมทั้งให้นำข้อมูลสารอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายมาพิจารณาหามาตรการจำกัดการใช้หรือยกเลิกการใช้เช่นเดียวกันด้วย

ชงเร่งตรวจสอบ-ออกมาตรการจัดการ "แมนโคเซบ"

ด้านปรกชล อู๋ทรัพย์ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN : ไทยแพน) กล่าวว่า สารแมนโคเซบเป็นสารกำจัดโรคพืช หรือสารกำจัดเชื้อรา ที่คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศไม่อนุญาตให้มีการใช้สารชนิดนี้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชในยุโรป ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค.2564 และอาจขยายการใช้ต่อไปได้ แต่ต้องไม่เกินวันที่ 4 ม.ค.2565 เนื่องจากสารนี้มีความเสี่ยงต่อระบบสืบพันธุ์และเป็นอันตรายต่อทารก โดยเฉพาะการเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ประเภท 1B อีกทั้งมีผลต่อการรบกวนระบบต่อมไร้ท่อในมนุษย์ และมีความเป็นพิษร้ายแรงต่อสัตว์น้ำ

ในกรณีของต้นหอมที่ใช้มือลูกทั้งกำแล้วมีสารสีฟ้าติดมือนั้น คาดว่าเกิดจากการมีสารเคมีกำจัดโรคพืชตกค้าง ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นสารแมนโคเซบ แม้ว่าปกติสารนี้จะออกฤทธิ์โดยการสัมผัสไม่ใช่ดูดซึม ก็มีบางงานวิจัยพบการตกค้างของแมนโคเซบในเนื้อของผลไม้ที่มีเปลือก เช่น ลำไย รวมถึงแตงกวาที่ปอกเปลือกแล้ว

สำหรับผู้บริโภคสามารถล้างแมนโคเซบที่ตกค้างบนผักผลไม้ได้บางส่วนด้วยน้ำเปล่า และการใช้สารบางชนิดช่วย เช่น ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ คลอรีนไดออกไซด์ รวมถึงการปอกเปลือก และการล้างด้วยน้ำเปล่าแล้วนำไปผ่านความร้อน จะขจัดแมนโคเซบได้มากกว่า แต่ทั้งนี้ประสิทธิภาพการขจัดสารแมนโคเซบของแต่ละวิธียังขึ้นอยู่กับชนิดผักผลไม้ด้วย และสำหรับส่วนที่ตกค้างในเนื้อของผักหรือผลไม้นั้นคงยากที่จะขจัดออกและมีโอกาสสูงที่ผู้บริโภคจะได้รับสารที่เป็นอันตรายนี้

ปรกชล กล่าวอีกว่า จากประเด็นปัญหาข้างต้น ไทยแพนเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และมีมาตรการที่ชัดเจนในการจัดการแมนโคเซบและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายสูงอื่น ๆ เพื่อความปลอดภัยของเกษตรกรและผู้บริโภค

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คณะกรรมการวัตถุอันตราย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรมีข้อมูลสถานการณ์การจำหน่าย การใช้ ระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนการตกค้าง ผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม อัปเดตข้อมูลวิชาการ นโยบายการควบคุมในต่างประเทศ มีการประเมินความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ จัดทำเป็นฐานข้อมูลและเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนทราบ รวมถึงเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการข้างต้น เพื่อให้สามารถจัดการปัญหาได้ทันท่วงที และหากพบว่าสารใดมีความเป็นอันตรายมากเกินไป หรือไม่สามารถลดความเสี่ยงได้ ก็ต้องมีกระบวนการทบทวนเพื่อพิจารณาจำกัดการใช้ หรือยกเลิกการใช้

ชงยกเลิกใช้สาร "คาร์เบนดาซิม" ชี้ตกค้างสูง

นอกจากนี้ ข้อห่วงใยที่เร่งด่วนไม่แพ้กรณีที่เป็นข่าว คือ การตกค้างของสารกำจัดโรคพืชคาร์เบนดาซิม (Carbendazim) ซึ่งออกฤทธิ์โดยการดูดซึมในพืช (Systemic fungicide) เป็นสารที่ก่อกลายพันธุ์ เป็นพิษกับระบบสืบพันธุ์โดยเฉพาะของเพศชาย และทำให้ทารกพิการ เป็นสารที่ไทยแพนพบการตกค้างสูงที่สุดในผักผลไม้ปี 2565 รวมถึงพบการตกค้างในเนื้อส้มสูงถึง 91 เปอร์เซ็นต์ ของกลุ่มตัวอย่าง และ 50 เปอร์เซ็นต์ ของตัวอย่างน้ำส้มที่บรรจุในภาชนะปิดสนิท ซึ่งหมายความว่าผู้บริโภคแล้วจะไม่สามารถล้างหรือจัดการได้เลย สารชนิดนี้ถูกห้ามใช้แล้วในหลายประเทศ เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และล่าสุดคือบราซิลประกาศห้ามใช้เมื่อเดือน ส.ค.2565 และจะมีผลบังคับใช้เดือน ก.พ.2566 ทั้งนี้ทางไทยแพนจะดำเนินการเสนอให้กรมวิชาการเกษตรและคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณายกเลิกการใช้สารนี้ต่อไป

ปรกชล ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า การที่ผู้บริโภคตื่นตัว ช่างสังเกต ตั้งข้อสงสัย และค้นหาข้อเท็จจริงเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนให้ระบบเกษตรและอาหารมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น

การที่ผู้บริโภคมีข้อมูลที่เพียงพอ ทำให้เลือกตัดสินใจบริโภคได้ รวมถึงส่งเสียงให้ภาครัฐออกมาดำเนินการเพื่อให้เกิดความปลอดภัยทางอาหาร ความปลอดภัยในการประกอบอาชีพ และการอยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ขีดเส้น 7 วันสอบ "ต้นหอมสีฟ้า" พิสูจน์ชนิดสาร-ปริมาณตกค้าง 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง