บทวิเคราะห์ : งานหินพรรคภูมิใจไทยคือสนามกรุงเทพฯ

การเมือง
12 ม.ค. 66
15:12
781
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : งานหินพรรคภูมิใจไทยคือสนามกรุงเทพฯ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ภาคไหน พรรคภูมิใจไทยดูจะเนื้อหอมและถูกจับตาในลำดับต้นๆ เพราะนอกจากส.ส.หน้าเดิมของพรรค รวมทั้ง ส.ส.งูเห่าหรือ ส.ส.ฝากเลี้ยง ยังอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาแล้ว ยังมีพลังดูดแบบซูเปอร์เพาเวอร์ ดึง ส.ส.และอดีต ส.ส.จากพรรคอื่น มาเสริมทีมมากมาย

ยกเว้นแค่ จ.นครราชสีมา ที่มีข่าว “เสี่ยแป้งมัน” นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล หรือกำนันป้อ รมช.พาณิชย์ ที่มีส.ส.ในสังกัด 3 คน ขอวางมือไม่ไปต่อ โดยอ้างปัญหาสุขภาพ แต่วงในลือกระหึ่มจะย้ายไปพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคเพื่อไทย พรรคใดพรรคหนึ่ง

แม้แต่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสนามต้องห้ามสำหรับหลายพรรคการเมือง เนื่องจากมีโอกาสยากมากที่จะปักธงแจ้งเกิด ส.ส.ได้ แม้แต่พรรคภูมิใจไทย แต่เลือกตั้งครั้งหน้า กลับมีการเตรียมแผนสำคัญหวังแจ้งเกิด ส.ส.กรุงเทพฯให้ได้

เพราะเชื่อมั่นว่า คนกรุงเทพฯ มองเห็นความตั้งใจของพรรค ที่ทำเพื่อคนเมืองกรุง มาตลอด โดยเฉพาะเรื่องรถไฟฟ้า ที่เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานสำคัญของคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ด้านการเดินทางคมนาคม

ยิ่งกรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียวและโครงการส่วนต่อขยาย พรรคภูมิใจไทยฝากความทรงจำไว้ให้คนกรุงเทพฯผ่านการบอยคอต โดยรัฐมนตรีทั้ง 7 คนของพรรค นำโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีสาธารณสุข ไม่เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2565

ด้วยเหตุผลจากปมร้อน เมื่อกระทรวงมหาดไทยดันเรื่อง "ขยายอายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว" ไปอีก 30 ปีเข้า ครม.เพื่อให้เร่งพิจารณาเห็นชอบ และพรรคภูมิใจไทยไม่เห็นด้วยกับการเก็บค่าโดยสารสูงสุดตลอดสาย 59 บาท แต่ราคาที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 25-30 บาท

เป็นการแสดงจุดยืนเคียงข้างประชาชนชาวกรุงเทพฯ ที่มีความจำเป็นต้องใช้บริการรถไฟฟ้า จุดประกายสานฝันการปักธงส.ส.ในกรุงเทพฯ เพื่อทำงานสนองตอบคนเมืองหลวงและปริมณฑลให้ได้มากกว่าที่ผ่านมา

การสานฝัน เริ่มจากการทาบทามนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีต ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ อดีตแกนนำ กปปส. และอดีต รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เข้ามารับบทบาทเป็นขุนพลหลักนำพรรคสู้เลือกตั้ง ส.ส.ในสนามกรุงเทพฯ โดยมีการเจรจากันมาก่อนหน้านี้นานพอสมควรแล้ว แต่เพิ่งมาเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 มกราคม 66 ที่ผ่านมา

และก่อนหน้านั้น มีการประสานดึงตัว ส.ส.กรุงเทพฯ ชุดล่าสุด ที่สังกัดพรรคพลังประชารัฐ อย่างน้อย 4 คน นำโดย นายจักรพันธ์ พรนิมิตร ประธานภาค ส.ส.กทม. เขต 30 น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส. กทม. เขต 2 นายกษิดิ์เดช ชุติมันต์ ส.ส. กทม. เขต 8 และนายประสิทธิ์ มะหะหมัด ส.ส.กทม. เขต 19 ก่อนที่ น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส.กทม.เขต 6 นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส. กทม.เขต 4 จะตามมาสมทบเพิ่มเติม

ล่าสุดที่เป็นคนรุ่นใหม่ร่วมเปิดตัว และเตรียมเปิดตัวกับพรรคภูมิใจไทย สู้ศึกเลือกตั้งกรุงเทพฯ มีชื่อน.ส.พีร์ปภาอร เสถียรไทย หลานสาว นายสุรเกียรติ เสถียรไทย อดีต รองนายกฯ น.ส.พิชามญช์ ชมะนันทน์ หลานสาว พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อดีตนายกรัฐมนตรี รวมอยู่ด้วย รวมทั้งคนรุ่นใหม่ทายาทจากตระกูลดังอีกหลายคน เช่น นางศลิษา สิงหเสนี น.ส.อัชญา จุลชาต และนายพศิน ชาญศิลป์ เป็นต้น

ในการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งหลังสุด เดือนมีนาคม 62 พรรคภูมิใจส่งส่งผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ เกือบครบทุกเขตเลือกตั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนใหญ่จะได้อันดับ 6-8 จากผู้สมัครทั้งหมด ได้คะแนนจากคนกรุงเทพฯ รวมประมาณ 43,500 คะแนน เทียบกับพรรคอนาคตใหม่ หรือพรรคก้าวไกลปัจจุบัน ได้ส.ส.9 คน คะแนนรวมทั้งสิ้น 8.04 แสนคะแนน

พรรคพลังประชารัฐ ได้ ส.ส.12 คน คะแนนรวมกัน 7.9 แสนคะแนน ผู้สมัครที่ได้คะแนนมากที่สุด คือเขต 24 นายไสว โชติกะสุภา พื้นที่เขตราษฏร์บูรณะและทุ่งครุ ได้คะแนน 6,748 คะแนน แม้จะได้นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ลงพื้นที่ช่วยหาเสียงให้ด้วยก็ตามที

ถือเป็นงานและสุดยอดความท้าทายของพรรคภูมิใจไทย หากหวังจะแจ้งเกิดส.ส.ในพื้นที่เมืองหลวงกรุงเทพฯ แม้จะถูกคาดหมายว่า จะเป็นพรรคใหญ่อันดับ 1 ในขั้วรัฐบาลปัจจุบัน

วิเคราห์โดย : ประจักษ์ มะวงศ์สา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง