ธปท.ตีกรอบควบคุมความเสี่ยง "ธนาคารไร้สาขา" 3 รายแรก

เศรษฐกิจ
12 ม.ค. 66
19:57
889
Logo Thai PBS
ธปท.ตีกรอบควบคุมความเสี่ยง "ธนาคารไร้สาขา" 3 รายแรก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาต จัดตั้ง "ธนาคารไร้สาขา" 3 แห่งแรก ภายใต้มาตรฐานกำกับความเสี่ยงเท่ากับ ธนาคารพาณิชย์ หวังอุดช่องโหว่การเข้าถึงบริการทางการเงิน คาดเปิดให้บริการ กลางปี 2568

คนไทยหลายคน ยังคงประสบปัญหาการเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงคาดหวังให้ การจัดตั้งธนาคารไร้สาขา หรือ "Virtual Bank" สร้างผู้เล่นรายใหม่ จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว

นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า มีผู้สนใจจัดตั้งธนาคารไร้สาขาแล้วประมาณ 10 รายแต่แบงก์ชาติ จำกัดใบอนุญาตธุรกิจประเภทนี้ เพียง 3 รายเท่านั้น เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างพอเหมาะ หลังพบกรณีศึกษาจากต่างประเทศ ที่ผู้ให้บริการธนาคารไร้สาขา แข่งขันกันกำหนดดอกเบี้ยเงินฝากสูง ๆ จนธุรกิจล้มละลาย

ทั้งนี้ จะพิจารณาให้ใบอนุญาต สำหรับบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มีผู้เชี่ยวชาญระดับดีเลิศ เพื่อป้องกันความเสี่ยงระบบ หากเกิดความขัดข้อง

รวมถึงมีแผนธุรกิจที่ลดช่องว่างทางการเงินรายย่อย ไม่ผูกมัดลูกค้าของธนาคารไร้สาขา ต้องซื้อสินค้าหรือบริษัทในเครือ ซึ่งแบงก์ชาติ จะดูแลไม่ให้เกิดปัญหาการผูกขาด หรือ สร้างอำนาจเหนือตลาด พร้อมกำหนดให้ต้องมีช่องทางร้องเรียนซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในไตรมาส 2 ของปี 2568

พร้อมย้ำว่า แม้เป็นธนาคารที่ไม่มีสาขา แต่ยังคงปฏิบัติตามระเบียบควบคุมความเสี่ยง และกฎหมายสถาบันการเงิน ของธนาคารแห่งประเทศไทย เหมือนกัน ธนาคารพาณิชย์ทั่วไป จึงเชื่อมั่นว่า จะสามารถควบคุมไม่ให้มิจฉาชีพ ใช้ช่องทางนี้ ก่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจ

นายกิตติ โฆษะวิสุทธิ์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ศูนย์ประสานงานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีภาคการธนาคาร สมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สมาคมฯ อยู่ระหว่างประสานการทำงาน ปรับปรุงระบบการควบคุมปัญหาบัญชีม้าให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น

ส่วนความกังวลว่า ปัญหาบัญชีม้าจะรุนแรงขึ้น หากมีธนาคารไร้สาขานั้น โดยส่วนตัวเห็นว่า ระบบเทคโนโลยีภาคการเงินและธนาคาร กำหนดกลไกการยืนยันตัวตนของไทย สามารถป้องกันความเสี่ยงดังกล่าวอยู่แล้ว โดยเจ้าของบัญชี หรือ ผู้ใช้งาน ต้องมีความรู้ความเข้าใจความเสี่ยงจากมิจฉาชีพ และเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลเป็นสำคัญ

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง