แนะ 5 วิธีป้องกัน "เด็กพลัดหลง" ในงานวันเด็ก

สังคม
13 ม.ค. 66
13:59
2,857
Logo Thai PBS
แนะ 5 วิธีป้องกัน "เด็กพลัดหลง" ในงานวันเด็ก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รองโฆษก ตร.เตือนพ่อแม่ผู้ปกครอง พึ่งระวังเด็กพลัดหลงช่วงงานวันเด็ก แนะ 5 วิธีป้องกัน และพฤติกรรม Sharenting ของพ่อแม่ยุคใหม่ อาจเสี่ยงตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

เมื่อวันที่ 13 ม.ค.2566 พ.ต.ท.หญิง ณพวรรณ ปัญญา รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนผู้ปกครองที่จะพาบุตรหลานไปเที่ยวงานวันเด็กแห่งชาติ ให้ระมัดระวัง พร้อมแนะนำวิธีป้องกันเด็กพลัดหลง

พ.ต.ท.หญิง ณพวรรณ กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้งดจัดงานวันเด็กแห่งชาติ 2 ปี ซึ่งในปีนี้วันเด็กแห่งชาติตรงกับวันเสาร์ที่ 14 ม.ค.2566 คาดว่าจะมีผู้ปกครองพาบุตรหลานไปเที่ยวงานวันเด็กที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการป้องกันบุตรหลานพลัดหลงในงานวันเด็ก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงมีข้อแนะนำดังนี้

  • ก่อนออกจากบ้าน ควรเขียน ชื่อ-เบอร์โทรศัพท์ของผู้ปกครอง ติดตัวไว้ในกระเป๋าเสื้อหรือกางเกงของเด็ก โดยควรมีเบอร์โทรศัพท์สำรองมากกว่า 1 หมายเลข
  • ถ่ายรูปล่าสุดของเด็กก่อนออกจากบ้าน เพื่อสามารถจดจำชุดที่เด็กสวมใส่ได้ เวลาเกิดเหตุพลัดหลงจะได้สามารถให้ข้อมูลเพื่อประชาสัมพันธ์ติดตามหาตัวได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
  • สำหรับเด็กเล็ก ขอความร่วมมือผู้ปกครองควรต้องจูงมือไว้ตลอดเวลา หรืออาจใช้อุปกรณ์ในการช่วยจูง เช่น เป้จูง เป็นต้น
  • ผู้ปกครองควรบอกกล่าวสถานที่นัดพบ เส้นทาง จุดสังเกต หากเกิดกรณีพลัดหลง จะนัดเจอกันจุดไหน การแจ้งเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของสถานที่นั้น ๆ โดยอาจแนะนำเด็ก ให้มองหาตำรวจ หรืออาสาสมัครกู้ภัย หน่วยปฐมพยาบาลที่สวมชุดเครื่องแบบ เพื่อที่จะจดจำได้ง่าย
  • หากเกิดเหตุพลัดหลงในพื้นที่ ให้ผู้ปกครองรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ในบริเวณนั้นทันที เพื่อช่วยออกค้นหาเบื้องต้น หากการค้นหาในพื้นที่ไม่พบตัวเด็กที่พลัดหลง ให้รีบไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่นั้น โดยไม่ต้องรอให้ครบ 24 ชม.

รองโฆษก ตร. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันผู้ปกครองนิยมโพสต์รูปลูกลงในโซเชียลมีเดียโดยไม่ได้มีเจตนาร้าย เพียงแค่อยากจะส่งต่อความน่ารักนี้ให้คนอื่นได้เห็น แต่ในอีกด้านหนึ่งอาจส่งผลกระทบต่อตัวบุตรหลานในอนาคตได้ ทั้งนี้พฤติกรรม Sharenting ของผู้ปกครอง คือ Share + parenting ใช้เรียกพฤติกรรมของพ่อแม่ที่แชร์ภาพ วิดีโอ เช็คอินตามสถานที่ต่าง ๆ รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวของลูกมากเกินไป เปิดโอกาสให้มิจฉาชีพเข้าถึงตัวบุตรหลานได้ง่าย เสี่ยงตกเป็นเหยื่อภัยไซเบอร์ เช่น การถูกขโมยตัวตน (Identity Theft) สวมรอยเหยื่อนำข้อมูลส่วนตัวไปกระทำผิดกฎหมาย หรือนำภาพเด็กไปสร้างเรื่องราวขอรับเงินบริจาคต่าง ๆ ปัญหาเรื่องล่วงละเมิดทางเพศเด็ก การนำภาพเด็กไปขายในเว็บมืด (Dark web) หรือนำไปเพื่อใช้ตอบสนองทางเพศของกลุ่มคนที่มีอาการใคร่เด็ก (Pedophile) หรือนำไปเเสวงหาผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์

ทั้งนี้ พล.ต.อ.ดํารงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. มีความห่วงใยในสวัสดิภาพและความปลอดภัยของเด็กและเยาวชน ในช่วงวันเด็กซึ่งอาจมีมิจฉาชีพฉวยโอกาสก่อเหตุประทุษร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน หรือกระทำผิดต่อเด็กในลักษณะต่าง ๆ จึงได้สั่งการ ตร. ทุกหน่วยทั่วประเทศดำเนินการเพื่อป้องกันเหตุต่าง ๆ

นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้ทุกหน่วยดูแลความปลอดภัยและเพิ่มความเข้มในการตรวจตรา เฝ้าระวังพื้นที่จุดเสี่ยง สถานที่จัดกิจกรรมวันเด็ก เพื่อป้องกันเหตุอาชญากรรมต่าง ๆ และฝากประชาชนช่วยกันเฝ้าระวัง หากพบเหตุการณ์ บุคคล หรือวัตถุต้องสงสัย โปรดแจ้ง 191 หรือ 1599

ข่าวที่เกี่ยวข้อง