"VR Therapy -Metaverse" ทางเลือกยุคดิจิทัล ช่วยบำบัดจิตเวช

Logo Thai PBS
"VR Therapy -Metaverse" ทางเลือกยุคดิจิทัล ช่วยบำบัดจิตเวช
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เตรียมใช้ระบบ "VR Therapy -Metaverse" เป็นทางเลือกช่วยรักษาผู้ป่วยทางจิต นำร่อง 3 โรคสำคัญ

นพ.ศรุตพันธุ์ จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ
สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอส ออนไลน์ ถึงแนวทางการใช้ระบบบริการทางสุขภาพจิต Virtual reality therapy (VR Therapy) ซึ่งเบื้องต้นจะเป็นตัวเลือกในการรักษาผู้ป่วยทางจิตเวชใน 3 กลุ่มโรคสำคัญ คือ

 

1.โรคกังวล (Anxiety) 2.โรคกลัว (Phobia) เช่น กลัวเลือด กลัวแมงมุม กลัวที่แคบ กลัวการพูดในที่สาธารณะ หรือในกลุ่มจิตเวชเด็กเช่น กลัวการไปโรงเรียน (school refusal) หรือกลัวการเข้าสังคม

3.กลุ่มโรคภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง Post-traumatic stress disorder (PTSD) โดยก่อนหน้านี้เริ่มนำระบบดังกล่าวมาทดลองใช้ที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จึงหยุดการพัฒนาไป เมื่อสถานการณ์คลี่คลายจึงกลับมาพัฒนาต่อ

เทคโนโลยี VR ที่เราจะทำก็เลือกโรคมาก่อน คือ กลุ่มโรคกลัว กลัวเลือด กลัวการเข้าสังคม ซึ่งมีงานวิจัยของต่างประเทศรองรับ จากนั้นจะค่อย ๆ พัฒนาไปสู่โรคอื่น ๆ ต่อไป 

นพ.ศรุตพันธุ์ ยังกล่าวว่า ปกติการรักษาโรคกลัว (Phobia) จะใช้จิตบำบัดและพฤติกรรมบำบัดโดยนักจิตวิทยา โดยให้จินตนาการว่า คนไข้กำลังอยู่บนเวทีจากนั้นมีคนปรบมือ และมีคนดูเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะค่อย ๆ เพิ่มระดับความรุนแรง เช่น จากการคิด จากนั้นดูภาพจริง ไปสถานที่มีคนน้อยและไปสถานที่ที่มีคนมาก ซึ่งเป็นกระบวนการตามมาตรฐาน ดังนั้นการที่มีระบบ (VR Therapy) จะช่วยทำให้เห็นภาพได้ทันที โดยที่ไม่ต้องคิดจินตนาการ 

 

ทั้งนี้ การเลือกใช้ ระบบ VR Therapy มาใช้เนื่องจาก มีผลทางวิชาการยืนยันว่า สามารถช่วยการรักษาได้ผล ทางสถาบันฯได้และพัฒนาและปรับให้เข้ากับบริบทและสิ่งแวดล้อมของสังคมไทยด้วย เนื่องจากก่อนหน้านี้เป็นโปรแกรมที่ซื้อมาจากต่างชาติ ซึ่งขณะนั้นมีราคาที่ค่อนข้างสูงถึงหลักหลายล้านบาทเมื่อ 5 ปีก่อน 

ทั้งนี้โปรแกรม VR Therapy ของสถาบันฯ จะถูกเขียนโดยนักพัฒนาชาวไทย ซึ่งจะช่วยประหยัดการใช้งบประมาณได้หลายเท่า 

ในต่างประเทศมีงานวิจัยหลายชิ้นบอกว่าใช้ในการบำบัดไม่ต่างจากกระบวนการปกติ และด้วยการที่เป็นเทคโนโลยีดิจิทัลจึงกระจายไปได้ง่าย และการเขียนโปรแกรมโดยคนไทยนั้นจะทำให้ราคาถูกลง

รวมถึงยังมี VR Therapy จำลองการตีกลองที่จะพัฒนาเป็นการตีกลองสะบัดชัยต่อไป ซึ่งจะช่วยลดความโกรธได้ รวมถึงการใช้ VR Therapy ในการช่วยให้ผ่อนคลาย ( Relaxation) เช่นการทำสมาธิ หรือ การฝึกหายใจ

โดยจะมีการจำลองสภาพแวดล้อมเช่น ป่า ทะเล เพื่อช่วยให้เกิดความผ่อนคลาย ซึ่งจะเป็นทางเลือกในการรักษาโดยไม่มีผู้บำบัด โดยหากมีกล้อง VR ที่บ้านก็สามารถดาวน์โหลดโปรแกรมไปใช้งานได้

เทคโนโลยี VR ปัจจุบันราคาไม่ได้สูงมากนัก แว่น VR ราคาก็ถูกลงอยู่ที่ 1-2 หมื่นบาท และตัวโปรแกรม ซึ่งถ้าเป็นโปรแกรมของสถาบันฯ ภาครัฐก็สามารถใช้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และสามารถช่วยกันพัฒนาได้


ทั้งนี้ คาดว่าจะเขียนโปรแกรมเสร็จสมบูรณ์ และเปิดให้บริการได้ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ขณะนี้เตรียมกระบวนการและเตรียมนักจิตวิทยาไว้พร้อมแล้ว เมื่อโปรแกรมเสร็จสิ้นทั้งหมดก็จะเริ่มทดลองใช้ที่สถาบันฯ ผ่านระบบการรักษาจริง และเก็บข้อมูลเพื่อวิจัยควบคู่กันไป

 

ก่อนที่จะอบรมและถ่ายทอดให้กับผู้ใช้งานสหวิชาชีพทั้ง จิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช หรือ นักจิตวิทยา หรือกลุ่มงานสุขภาพจิตและจิตเวชชุมชน ที่ขณะนี้มีอยู่เกือบทุกอำเภอ จากนั้นจะกระจายไปยังโรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต และ โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ต่อไป

เล็งใช้ Metaverse ช่วยรักษากลุ่มติดสารเสพติด 

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ยังกล่าวว่า นอกเหนือจากระบบ VR Therapy ยังเตรียมทำระบบ Metaverse ที่สามารถจัดทำในรูปแบบบำบัดกลุ่มได้

หลังจากก่อนหน้านี้ได้ทดลองในรูปแบบการ (Counselling) ให้คำปรึกษาในเรื่องต่าง ๆ ในรูปแบบกลุ่มประมาณ 20 คน ซึ่งมีผลตอบรับค่อนข้างดี จากนี้จะเตรียมเพิ่มการบำบัดในเรื่องของการติดยาเสพติด ที่ถือว่าเป็นกลุ่มโรคที่มีผู้ป่วยค่อนข้างสูงอันดับต้น ๆ ของไทย

เอามาตรฐานเป็นตัวตั้ง เอาจุดนี้เป็นตัวช่วย ให้คนไข้เข้ากลุ่มผ่านอวตาร ในระบบ Metaverse ช่วงแรกจะเริ่มที่สถาบันฯ จากนั้นอาจจะอยู่ที่บ้านและอวตารเข้ามา หรือเป้าหมายขั้นสูงถ้าเป็นไปได้ก็ต้องการให้ผู้ที่อยากเข้ากลุ่มสามารถเข้ามาได้โดยใช้อวตารโดยไม่ต้องเปิดเผยชื่อหรือรายละเอียดส่วนตัว

ขณะที่ปัจจุบันแม้ว่าจะมีการบำบัดผ่านระบบวิดีโออยู่แล้ว แต่อาจจะดียิ่งขึ้นหากสามารถอวตารมาในลักษณะของบุคคลที่ทำกิจกรรมร่วมกันได้ ทั้งนี้รูปแบบการใช้ Metaverse ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ก็คาดว่าจะแล้วเสร็จและทดลองใช้ได้

ในการรักษาปัญหาสุขภาพจิตบางอย่าง เจ้าตัวไม่อยากเปิดเผยว่าเป็นใคร เช่นหากมีชื่อเสียงในจังหวัดก็จะมารักษาที่จังหวัดอื่น หรือ มารักษาที่กรุงเทพฯ แม้ว่าปัจจุบันสังคมจะเข้าใจมากขึ้นแล้ว ซึ่งประสบการณ์จากสายด่วน 1323 ที่ไม่ต้องบอกว่าเป็นใคร มีการโทรมาปรึกษาทั้งปีหลายแสนคน แต่สายให้คำปรึกษาที่ให้บอกชื่อนามสกุลนั้นจะน้อยกว่า 

นพ.ศรุตพันธุ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากโปรแกรมเสร็จสิ้นจะเริ่มเปิดการรักษา โดยค่าใช้จ่ายจะไม่สูงมากซึ่งจะอยู่ในอัตราการใช้บริการของโรงพยาบาลและสถานพยาบาลของรัฐ โดยคนไข้สามารถเลือกได้ว่าจะยังรักษาแบบปกติหรือจะใช้ระบบ VR Therapy เป็นอีกทางเลือกในการรักษาหรือไม่ 

 

รวมถึงในอนาคตหากมีการใช้แพร่หลายสามารถเปิดให้ประชาชนดาวน์โหลด ระบบ VR Therapy เช่นการผ่อนคลายและลดความเครียด ไปใช้ที่บ้านได้ 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง