บทวิเคราะห์ : จากกรมอุทยานแห่งชาติฯ ถึง 191-ดีเอสไอ บทสะท้อนความล้มเหลวรัฐปราบโกง

สังคม
19 ม.ค. 66
15:40
147
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : จากกรมอุทยานแห่งชาติฯ ถึง 191-ดีเอสไอ บทสะท้อนความล้มเหลวรัฐปราบโกง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ด้วยรู้ว่าเป็นเรื่องใหญ่ คนไทยให้ความสนใจมาก นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม จึงลงนามในคำสั่งโยกย้าย นพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ไปรักษาราชการ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ สลับกับ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล ที่ไปรักษาราชการ อธิบดีดีเอสไอ

ผลพวงจากเรื่องฉาว เจ้าหน้าที่ตำรวจ กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ หรือ 191 พร้อมเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ และทหารจากศูนย์รักษาความปลอดภัย หรือ ศรภ. สังกัดกองบัญชาการกองทัพไทย

เข้าตรวจค้นจับกุมกลุ่มคนจีนสีเทา ที่ใช้บ้านเช้าที่พักเดิมของกงสุลประเทศนาอูรู ประจำประเทศไทย ใช้พำนัก ซ่องสุมทำเรื่องผิดกฎหมาย ก่อนจบลงด้วยการตบทรัพย์เรียกเงินแลกกับการปล่อยตัว ด้วยวงเงินประมาณ 10 ล้านบาท

เสียงวิพากษ์โจมตีของผู้คนทั่วไป สั่นสะเทือนไปทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และทำเนียบรัฐบาล ต่อเนื่องจากก่อนหน้านี้ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพิ่งถูกรวบตัวพร้อมของกลางเงินสด ที่ถูกระบุว่า เป็นเงินสินบนซื้อและรักษาตำแหน่งของผู้ใต้บังคับบัญชา

ทั้งยังมีคำสั่งโยกย้ายอธิบดี ไปช่วยราชการที่ทำเนียบรัฐบาล ตัดหน้าต้นสังกัด คือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สร้างความฮือฮา เพราะยังไม่มีคำอธิบายให้ชัดเจนใด ๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น

ทั้งที่นโยบายปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น ฉ้อราษฎร์ บังหลวง โกงกิน ใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตนและพวกพ้อง เป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลประกาศมาตั้งแต่เป็นรัฐบาล คสช. ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ระบุไว้ชัดเจนเรื่องจริยธรรม ของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง

ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นกลไกที่โดดเด่น และเห็นผลเป็นรูปธรรมจาก ส.ส.หลายคนแล้วที่โดนเรื่องผิดวินัยร้ายแรง จนศาลสั่งยุติการทำหน้าที่ ส.ส.หลายคน

ความจริงต้องตระหนัก คือตำรวจ 191 ในสังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล คือที่พึ่งแรกของประชาชน ตามที่มีข้อความปรากฏเด่นชัดในหน้าแรกของเว็บไซต์ เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ที่พร้อมช่วยเหลือประชาชน ทำดี ทำได้ ทำทันที

ขณะที่ศรภ.หรือศูนย์รักษาความปลอดภัย เป็นหน่วยหลักด้านข่าวกรองทางทหาร มีพันธกิจสำคัญ อาทิ ประสานความร่วมมือด้านการข่าวกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาบุคลากรด้านการข่าวให้มีมาตรฐาน

กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เป็นกรมใหม่ที่เพิ่งครบรอบ 20 ปี เมื่อเดือนตุลาคม 2565 เมื่อครั้งที่ผลักดันและก่อตั้งได้สำเร็จ เป็นที่ฮือฮาและคาดหวังของผู้คนอย่างยิ่ง เพราะถูกเปรียบเทียบเป็นเอฟบีไอของไทย มีความเป็นอิสระจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับทำคดีพิเศษที่มีเรื่องอิทธิพลทางการเมืองเข้าไปแทรกแซงเกี่ยวข้อง

ดีเอสไอไม่ขึ้นกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ขึ้นกับกระทรวงยุติธรรม เป็นหนึ่งในไม่กี่องค์กรที่มีงบประมาณจัดซื้ออาวุธปืนเป็นของตนเอง มีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนคดีสำคัญๆ แต่จนแล้วจนรอด ก็ถูกมองว่าถูกฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซงจนได้

แม้ในบางช่วงเวลา จะมีบทบาทเป็นที่ยอมรับของผู้คน และเชื่อมั่นว่าจะผดุงความยุติธรรมให้คนได้ เช่น เมื่อครั้ง พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร เจ้าของฉายามือปราบรถหรู และมีบทบาทในคดีนายพอลละจี หรือบิลลี่ กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ที่ถูกอุ้มหายจนถึงทุกวันนี้

นพ.ไตรยฤทธิ์ ได้รับการเสนอชื่อให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบ โดยนายสมศักดิ์ รมว.ยุติธรรม เมื่อปี 2564 เดิมทีเคยถูกวางตัวให้นั่งเก้าอี้ใหญ่ในดีเอสไอมาตั้งแต่ต้น แต่ติดขัดบางประการ ต้องหลีกทางให้ พ.ต.ท.กรวัชร์ เป็นก่อน ข้อด้อยของ นพ.ไตรยฤทธิ์ คือไม่ใช่ลูกหม้อดีเอสไอ และไม่ใช่คนที่มีภาพพจน์เป็นมือปราบเหมือนอธิบดีคนอื่น ๆ

สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือทั้งกองบัญชาการกองทัพไทย ต้นสังกัดของทหารศรภ.นอกคอก แม้จะเพียงแค่คนเดียว ก็ฉุดให้ชื่อ ศรภ.มัวหมองไปด้วย กับตำรวจ 191 ที่ขึ้นกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ล้วนอยู่ภายใต้การดูแลโดยตรงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเป็น รมว.กลาโหม

ประกอบกับใกล้ช่วงเลือกตั้ง เรื่องฉาวที่เกิดจากเจ้าหน้าที่ 3 หน่วยงานของรัฐ จึงมีผลสั่นสะเทือนต่อผลลัพธ์ของนโยบายรัฐบาล เรื่องปราบทุจริตคอร์รัปชั่น แต่คนของรัฐกลับเป็นเสียเอง เปรียบเสมือนฝีหนองที่บวมเป่ง ทั้งที่แตกแล้วและรอวันแตกแบบไม่จบไม่สิ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง