โชว์ฝีมือคนไทยถ่าย "ดาวหาง ZTF" จากดอยอินทนนท์

Logo Thai PBS
โชว์ฝีมือคนไทยถ่าย "ดาวหาง ZTF" จากดอยอินทนนท์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สดร.โชว์ภาพดาวหาง C/2022 E3 ในช่วงใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด จนปรากฏให้เห็น 3 หาง ฝือมือคนไทยถ่ายที่ยอดดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ รอลุ้นช่วง 1-2 ก.พ.นี้ โชคดีอาจมองเห็นด้วยตา ไม่ต้องผ่านกล้องโทรทรรศน์

วันนี้ (24 ม.ค.2566) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT เผยภาพภาพถ่ายดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) ซึ่งเป็นภาพถ่ายฝีมือคนไทย ถ่ายจากยอดดอยอินทนนท์ จ. เชียงใหม่ ในวันที่ 22 ม.ค.2566 ช่วงเช้ามืด เวลาประมาณ 04.00-05.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่ดาวหางดังกล่าวผ่านจุดที่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวงโคจร (ตำแหน่ง Perihelion) มาแล้ว และเริ่มปรากฏหางที่ยาวขึ้นเรื่อยๆ 

จากภาพมีหางปรากฏจำนวน 3 หาง ได้แก่ “หางไอออน” มีลักษณะยาวที่สุด ชี้ตรงไปยังมุมซ้ายบน “หางฝุ่น” มีลักษณะฟุ้งๆ ไปทางซ้าย แม้ตอนนี้จะยังดูไม่ยาวมากนัก แต่มีโอกาสที่จะสังเกตเห็นหางฝุ่นยาวขึ้นในอีกไม่กี่วันนี้ และสุดท้ายคือหางชนิดพิเศษ เรียกว่า “Antitail” เป็นอนุภาคฝุ่นขนาดใหญ่ ที่ไม่ถูกรังสีของดวงอาทิตย์พัดออกไป

มุมมองของผู้สังเกตบนโลก จึงมองเห็นในลักษณะเป็นเส้นแหลมชี้เข้าหาดวงอาทิตย์ และมักชี้ไปยังทิศทางตรงข้ามกับหางอื่น ปราฎเห็นได้ในช่วงเวลาสั้นๆ เฉพาะช่วงที่ดาวหางโคจรอยู่ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ และโลกของเราโคจรผ่านหรือเข้าไปใกล้กับระนาบวงโคจรของดาวหาง เมื่อนั้นโลกของเราจะอยู่ในมุมมองด้านข้างของแนวฝุ่นเหล่านี้พอดี เราจึงมองเห็นเป็นหางที่ 3 ของดาวหางเพิ่มขึ้นมานั่นเอง

ดาวหาง เป็นวัตถุหนึ่งในระบบสุริยะ ประกอบด้วย น้ำแข็ง คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน แอมโมเนีย ซึ่งเป็นสารประกอบระเหิดง่าย รวมถึงฝุ่นและหินปะปนกันอยู่ มีแหล่งกำเนิดอยู่บริเวณนอกระบบสุริยะ และใช้เวลาหลายปีในการโคจรรอบดวงอาทิตย์ เมื่อโคจรเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน จะปรากฏเป็นวัตถุสว่างที่มีหางพาดผ่านท้องฟ้าในยามค่ำคืน แต่ละหางคือสสารต่าง ๆ ที่ดาวหางปล่อยออกมาแล้วสะท้อนแสงจากดวงอาทิตย์

สำหรับผู้ที่สนใจติดตามชมดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) ในช่วงนี้ ยังไม่สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า จะสังเกตได้ผ่านกล้องสองตา หรือกล้อง โทรทรรศน์กำลังขยายตั้งแต่ 10 เท่าขึ้นไป ปรากฏบนท้องฟ้า บริเวณกลุ่มดาวมังกร ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่เวลาประมาณ 01.30 น.

ทั้งนี้ ช่วงปลายเดือนม.ค.-ก.พ.นี้ เป็นช่วงที่ดาวหางดวงนี้เข้าใกล้โลกมากที่สุด ระหว่างวันที่ 1-2 ก.พ.นี้) จะปรากฏบนท้องฟ้าบริเวณกลุ่มดาวยีราฟ ทางทิศเหนือ ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าจนกระทั่งรุ่งสางก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นของวันถัดไป คาดว่าจะมีความสว่างเพิ่มมากขึ้น และอาจมีลุ้นที่จะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในพื้นที่มืดสนิท


ข่าวที่เกี่ยวข้อง