บทวิเคราะห์ : 4 พรรคใหญ่ชิงธงลุยตรุษจีนเยาวราช

การเมือง
24 ม.ค. 66
12:05
107
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : 4 พรรคใหญ่ชิงธงลุยตรุษจีนเยาวราช
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

เทศกาลตรุษจีนที่เยาวราชปีนี้ จัดใหญ่หลังเจอผลกระทบจากโควิด 19 มา 3 ปีต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นช่วงเวลาใกล้เลือกตั้ง จึงเป็นหมุดหมายสำคัญของพรรคการเมืองและนักการเมือง ต้องลงพื้นที่เยาวราช ทั้งพรรคเก่าพรรคใหม่ โดยเฉพาะกรรคการเมืองใหญ่ ต่างลงพื้นที่ช่วงตรุษจีน จนแทบจะเดินชนกันก็ว่าได้

พรรคเพื่อไทย ทั้ง “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นำนายเศรษฐา ทวีสิน บอสใหญ่ค่ายแสนสิริกรุ๊ป ที่เปิดตัวลงพื้นที่หาเสียงครั้งแรกที่เยาวราช หลังจากที่ชื่อเป็นหนึ่งในแคนดิเดทนายกฯ ในบัญชีของพรรคเพื่อไทย โดยมี น.ส.กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ ส.ส.เขต 1 เจ้าของพื้นที่จากเดิมพรรคพลังประชารัฐ แต่ย้ายค่ายมาพรรคเพื่อไทย ร่วมลงพื้นที่ด้วย

ขณะที่วันตรุษจีน อาทิตย์ที่ 22 ม.ค. 3 พรรคใหญ่ลงพื้นที่เยาวราชครบครัน ทั้งพรรคพลังประชารัฐ นำโดย “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ใส่กางเกงยีนส์ ร้องเท้าผ้าใบ ลงลุย โดยไม่มีกำหนดการล่วงหน้า มีผู้คนไปขอถ่ายเซลฟี่จำนวนหนึ่ง

ช่วงเย็น “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงพื้นที่เดินพบปะพูดคุย และขอสานต่อการทำงานที่ยังทำค้างไว้ ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ท่ามกลางแฟนคลับจำนวนมาก แม้จะมีสุ้มเสียงจากฝ่ายกองแช่งสอดแทรกบ้างประปรายก็ตาม

ไล่เรียงกัน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมทีมงาน และว่าที่ผู้สมัคร ลงไปที่เยาวราชเช่นกัน ท่ามกลางแฟนคลับจำนวนไม่น้อย มีเสนอแนวทางพัฒนาการเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ และขจัดทุนจีนสีเทาที่เข้ามาแข่งขันแย่งรายได้ไป ทั้งยังย้ำแนวทางขจัด 3 ป.ออกไปจากเวทีการเมือง

กล่าวสำหรับเยาวราช อยู่ในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ เป็นกรุงเทพฯ ชั้นใน และมักเป็นเลขเลือกตั้งที่ 1 ของกรุงเทพฯ แม้แต่ในช่วงเลือกตั้งแบบเขตใหญ่เรียงเบอร์ ปี 2550 เดิมเป็นฐานเสียงที่แน่นหนาของพรรคประชาธิปัตย์ต่อเนื่องยาวนาน อดีต ส.ส.เขต 1 ล่าสุดของค่ายสีฟ้าคือนางเจิมมาศ จึงเลิศศิริ อดีต ส.ส. 3 สมัย และอดีต ส.ก. 2 สมัย เป็นเลือดแท้ที่เข้มข้นของพรรคประชาธิปัตย์

แต่ในการเลือกตั้งปี 62 พรรคประชาธิปัตย์ ต้องสูญพันธุ์ ส.ส.ในกรุงเทพฯ ทั้งหมด รวมทั้งนางเจิมมาศ ที่แพ้ให้กับ น.ส.กันต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ ที่ได้คะแนน 23,000 คะแนน น.ส.กานต์กนิษฐ์ ก็มาจากตระกูลการเมืองท้องถิ่น กทม.ตั้งแต่ผู้เป็นพ่ออยู่พรรคพลังธรรม

ครั้งนี้จะเป็นการพิสูจน์คะแนนนิยมของคนกรุงเทพฯ ในเขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตดุสิตบางส่วน และเขตสัมพันธวงศ์ ซึ่งรวมเยาวราช และพื้นที่ใกล้เคียงด้วย ขณะเดียวกัน จะเป็นการลงมติตัดสินของคนกรุงเทพฯ ในเขตนี้ด้วย

ว่าจะยังเลือกคนจากพรรคพลังประชารัฐเหมือน เลือก น.ส.กานต์กนิษฐ์ เมื่อครั้งเลือกตั้งปี 62 หรือจะเลือกพรรครวมไทยสร้างชาติ เพื่อสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ให้เป็นนายกฯ ต่อบนเส้นทางทางการเมือง หรือจะหันไปเลือกพรรคก้าวไกล เป็นทางเลือกใหม่ หรือจะตามไปเลือก น.ส.กานต์กนิษฐ์ ส.ส.คนล่าสุด ที่ย้ายไปพรรคเพื่อไทย

เพราะในการเลือกสมาชิกสภากรุงเทพฯ หรือ ส.ก.ครั้งล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว ผลการเลือกตั้งพลิกผันไปอีกรอบ ผู้สมัคร ส.ก.พรรคพลังประชารัฐ แพ้ทั้งเขตสัมพันธวงศ์ และเขตพระนคร ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ปักธง ส.ก.ได้ ทั้งเขตป้อมปราบฯ และเขตสัมพันธวงศ์ พรรคก้าวไกล ได้ ส.ก.เขตพระนคร ส่วนเขตดุสิต เป็น ส.ก.จากพรรคเพื่อไทย

สลับไปสลับมา จนบรรดานักการเมืองและพรรคการเมืองในกรุงเทพฯ งุนงงไปตามๆ กัน ไม่รู้คนกรุงเทพฯ จะเลือก ส.ส.ครั้งหน้าอย่างไร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง