ศึกสายน้ำผึ้งวัดฝีมือสนามกรุงเทพฯ 3 กปปส."พุทธิพงษ์-สกลธี-เอกนัฎ"

การเมือง
26 ม.ค. 66
13:04
338
Logo Thai PBS
ศึกสายน้ำผึ้งวัดฝีมือสนามกรุงเทพฯ 3 กปปส."พุทธิพงษ์-สกลธี-เอกนัฎ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

น้ำแยกสาย ไผ่แยกกอ เมื่ออดีตแกนนำกปปส. หรือชื่อเต็ม คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มีบทบาทชุมนุมขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในอดีต

ประกอบด้วย นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ นายสกลธี ภัททิยกุล และนายเอกนัฎ พร้อมพันธุ์ สายเลือดเก่า อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีใครย้อนกลับเส้นทางเดิม แม้ทุกคนคืนกลับสังเวียนเลือกตั้ง แต่ต่างสังกัด คนละพรรค คนละฝ่าย

การสู้ศึกเลือกตั้งในเมืองหลวงครั้งนี้ ไม่ใช่แค่ศึกสายเลือด แต่กลายเป็นศึกสายน้ำผึ้ง ชิงฐานเสียงคนเคยรัก ทำให้ผู้สนับสนุนเดิมยากตัดใจจะเลือกสนับสนุนใครดี เมื่อแต่ละคนต่างผูกพันเป็นเพื่อนพ้องน้องพี่กันทั้งสิ้น

นายพุทธิพงษ์ อดีต รมว.กระทรวงดิจิทัล เลือกอยู่กับนายอนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นแม่ทัพในเขตพื้นที่เมืองหลวง ดูแลพื้นที่ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม.และอดีต ส.ส.ที่โบกมือลาจากเดิม พรรคพลังประชารัฐมาลงในนาม ว่าที่ผู้สมัครพรรคภูมิใจไทย

นายสกลธี อดีต รองผู้ว่าฯ กทม. ลาขาดมาซบอก ”เพื่อนพ่อ” พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ รับหน้าที่หัวหน้าทีมดูแลการเลือกตั้ง ส.ส.กทม ร่วมกับนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค สายตรง พล.อ.ประวิตร

ขณะที่นายเอกนัฎ เลือกไปอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายพีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ทำหน้าที่ตำแหน่งเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ

นายวันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต วิเคราะห์ว่า ข้อดีคือเป็นการสร้างโอกาส และทางเลือกทางการเมืองของแต่ละคน เพราะการเมืองยุคใหม่จะมีลักษณะ Political reference อยู่ในเฉดโหมดเดียวกัน แต่ไม่ได้ทรยศต่ออุดมการณ์และฐานมวลชนตัวเอง

และการที่ทั้ง 3 คน แยกย้ายออกไปอยู่ในสังกัดพรรคต่างๆ ล้วนเป็นฝั่งกึ่งอนุรักษ์นิยม หรือปีกอนุรักษ์นิยม อาจมองได้ว่า เป็นเรื่องผลประโยชน์ มีการต่อรองหรือการสร้างโอกาสที่จะมีพื้นที่ทางการเมืองในระดับ "มีแสง" หรือมีพื้นที่ระดับแนวหน้าแตกต่างกันไป

นายวันวิชิต กล่าวว่า เดิมการรวมอยู่ถือเป็นจุดแข็ง แต่เมื่อกระจายตัวออกไปจะเป็นจุดอ่อน ขณะที่พรรคเพื่อไทย จะได้ประโยชน์จากการแตกตัวของทั้ง 3 คนนี้แน่นอน เพราะฐานเสียงจะลดความแข็งแกร่งลงมาก

แต่ต้องดูว่าพรรคการเมือง ที่แต่ละคนเลือกเข้าไปสังกัด จะเพิ่มฐานเสียงให้กับพรรคทางเลือกใหม่อย่างพรรคภูมิใจไทย ที่ไม่มีฐานเสียงในกทม.เลยได้หรือไม่ และฐานเสียงที่เพิ่มขึ้นในกทม.จะสามารถปักธงแจ้งเกิด ส.ส.สู้กับพรรคเพื่อไทย หรือพรรคก้าวไกลได้หรือไม่

อาจารย์ ม.รังสิต กล่าวว่า การรับตำแหน่งแม่ทัพเมืองหลวง สู้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ จะชี้ว่าใครคือผู้อยู่รอด ใครแข็งแกร่งกว่า เมื่อแยกออกไป จะมีการจัดลำดับว่า ใครมีฐานเสียง มีภาพลักษณ์ มีความน่าเชื่อถือกว่ากัน

เหมือนเดิมพันอนาคตทางการเมืองของแต่ละคนว่า ใครมีโอกาสไปต่อทางการเมือง หรือใครดับแล้ว ก็ดับอยู่สม่ำเสมอ หรือสอบตกทางการเมืองซ้ำซาก สอบตกในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า ไม่ได้เป็น ส.ส. แต่หมายถึงคะแนนต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ของดีกลายเป็นของเสียในทางการเมือง

ขณะนี้ฐานเสียงของพรรคภูมิใจไทยในกรุงเทพฯยังเป็นรองพรรคอื่นๆ จะต้องพิสูจน์ว่า นายพุทธิพงษ์ เป็นของจริงหรือไม่ หรือได้ เพราะห้อยโหนกระแส พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในขณะนั้น และใช้ฐานเสียงของ กปปส.ในเวทีการเมือง

ส่วนนายสกลธี ต้องย้ายค่ายไปอยู่พลังประชารัฐ นายวันวิชิตกล่าวว่า ต้องเข้าใจว่า พล.อ.วินัย ภัทรทิยกุล ผู้เป็นพ่อ และ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นเดียวกัน และการลง ส.ส.เขต รอบนี้

นายนิธิ ลูกชายพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้าคณะรัฐประหาร ปี 2549 ลงสมัครด้วย คนเป็นพ่อก็เพื่อนกัน จึงจะเห็นได้ว่า พล.อ.ประวิตร เลือกใช้ทรัพยากรคือคนใกล้ตัวทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม หากครั้งนี้นายสกลธี หันหลังให้ พล.อ.ประวิตร จะหมายความว่า คนคนนี้คบไม่ได้ ที่สำคัญอาจทำให้พ่อ-แม่มองหน้ากันไม่ติด

นายวันวิชิต กล่าวว่า ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตรให้โอกาสนายสกลธีพอสมควร คือ ยอมให้ลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ แล้วกลับเข้ามาใหม่ ถือว่าเป็นการซื้อใจกัน มีพื้นที่ให้ และยังมอบหมายให้นายสกลธีเป็นแม่ทัพใหญ่ของ กทม.ในนามพรรคพลังประชารัฐ

ขณะที่การอยู่กับ พล.อ.ประวิตร อย่างน้อยก็อยู่ในสถานะ "หลาน" กับ "ลุงป้อม" อาจทำให้สบายใจมากกว่า

หากไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติกับ พล.อ.ประยุทธ์ นายสกลธี เป็นได้แค่ฟันเฟืองระดับมือสองมือสาม ที่จะไปช่วยดูแลสนามเลือกตั้ง กทม. ดังนั้นการเป็นหัวหมา ดีกว่าเป็นหางราชสีห์แน่นอน

สำหรับนายเอกนัฎ การเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นการสะท้อนความผูกพันส่วนตัว กับนายพีระพันธ์ หัวหน้าพรรค และถ้ามองหัวขบวนในระดับคนรุ่นใหม่ของ กปปส. จะเห็นว่านายสกลธี มีศักยภาพแข็งแกร่งที่สุด และมีลักษณะประนีประนอมกับคนที่คิดต่างได้พอสมควร

ในระยะยาวน่าสนใจว่า ระหว่าง 3 คนนี้ ใครจะสามารถปักธง ส.ส.ในกรุงเทพฯ ได้มากกว่า แม้จะมีแนวโน้มว่า โอกาสจะฝ่าด่าน ส.ส.เข้าไปได้ มีน้อยมาก โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบและต้องต่อสู้กับพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล รวมทั้งพรรคไทยสร้างไทย

จึงเป็นศึกสายเลือด กปปส.ด้วยกันเองที่จะกลายเป็นศึกสายน้ำผึ้ง ใครจะเข้าวิน นำชัยชิงชัยให้พรรคต้นสังกัดได้บ้าง แม้อาจจะน้อยคนก็ตามที

ข่าวที่เกี่ยวข้อง