TB-CERT ชี้ พ.ร.ก.ป้องกันภัยไซเบอร์ ลดความเสียหายได้ระดับหนึ่ง

อาชญากรรม
26 ม.ค. 66
19:41
325
Logo Thai PBS
TB-CERT ชี้ พ.ร.ก.ป้องกันภัยไซเบอร์ ลดความเสียหายได้ระดับหนึ่ง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผู้ใช้บริการทางการเงินอาจคลายกังวล หลังรัฐบาลผลักดันร่าง พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งให้อำนาจสถาบันการเงิน อายัดบัญชีได้ทันที แต่ผู้เชี่ยวชาญภัยไซเบอร์การเงิน มองว่าอาจช่วยลดความเสียหายได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น

วันนี้ (26 ม.ค.2566) มีรายงานว่า เจ้าของร้านอาหารแห่งหนึ่งใน จ.สุรินทร์ ถูกมิจฉาชีพ หลอกให้โอนเงินเข้า "บัญชีม้า" หลังมิจฉาชีพ ส่งข้อความสั้น แนบลิงก์แอบอ้างเสนอโปรแกรมเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษโดยไม่มีค่าธรรมเนียมใดๆ แต่ขอให้ "เหยื่อ" โอนเงินเข้าบัญชีที่กำหนดให้ เพื่อสร้างหลักประกันและสัญญาว่าจะโอนเงินกู้พร้อมเงินของเหยื่อคืน

จนเหยื่อหลงเชื่อโอนเงินสร้างบัญชีหลักประกัน จำนวน 40,000 บาท แต่เมื่อไม่ได้รับเงินกู้จึงติดต่อไปยังเบอร์ดังกล่าว แต่กลับถูกหลอกให้โอนเงินอีกครั้ง จำนวน 200,000 บาท

เมื่อรู้ตัวว่าถูกหลอกจึงพยายามติดต่อ ให้สถาบันการเงินระงับธุรกรรม แต่เห็นว่ากระบวนการทำงานที่ล่าช้า ทำให้เกิดความเสียหาย

ที่ปรึกษาศูนย์ประสานงานการรักษาความมั่นคงปลอดภัย เทคโนโลยีสารสนเทศ ภาคการธนาคาร สมาคมธนาคารไทย หรือ TB-CERT กล่าวว่าปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถอายัดบัญชีม้าได้ทันที ต้องพิสูจน์หลักฐานข้อเท็จจริง ภายใต้ข้อจำกัดทางธุรกิจ และกฎหมายต่างๆ ก่อนตัดสินใจดำเนินการช่วยเหลืออย่างใดอย่างหนึ่ง

แต่ร่าง พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งกำหนดให้สถาบันการเงิน สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีลูกค้าผ่านระบบ เพื่อระงับธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยได้ทันทีเป็นการชั่วคราว และให้ผู้เสียหาย เข้าแจ้งความภายใน 48 ชม.

อาจช่วยบรรเทาความเสียหายได้ระดับหนึ่ง
หลังพบพฤติกรรมมิจฉาชีพ มักเปิดบัญชีม้าหลายชั้น
และโอนเงินออกจากบัญชีม้า ภายใน 5-10 นาทีเท่านั้น

ผู้เชี่ยวชาญ กล่าวอีกว่าแม้กฎหมายฉบับนี้ ไม่สามารถแก้ปัญหาบัญชีม้าได้ทั้งหมด แต่ถือเป็นเครื่องมือสำคัญ ควบคุมดูแล และต้องพิจารณารายละเอียดในกฎหมายลูก ระเบียบหลักเกณฑ์ สอดคล้องกับวิธีทำงานจริงหรือไม่

เช่น การกำหนดบทลงโทษรุนแรง กรณีรับจ้างเปิดบัญชีม้า หรือให้มิจฉาชีพยืมซิมโทรศัพท์ รวมทั้งจัดหา ให้บริการ หรือ โฆษณาเพื่อซื้อขายบัญชี อาจต้องพิจารณาความเหมาะสม หากผู้กระทำผิดเป็นเยาวชน หรือ ป้องกันกรณีการกลั่นแกล้ง

ทั้งนี้ การออกกฎหมายดังกล่าวซึ่งครอบคลุมช่องทางการเงิน ทั้งบัญชีธนาคาร บัตรอิเล็กทรอนิกส์ และกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาหลอกโอนเงินได้ดีขึ้น เพราะจะช่วยกระตุ้นผู้ให้บริการทางการเงิน ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในระบบ

ก่อนเสนอให้ รัฐบาลและสื่อมวลชน ใช้โมเดลในต่างประเทศ ผลิตสื่อประชาสัมพันธ์สั้นๆ เพื่อกระตุ้นเตือนประชาชน ให้เข้าใจ และระมัดระวังกลอุบายของมิจฉาชีพ ที่มักหาช่องทางหลบเลี่ยงระบบและกฎหมายเสมอ

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง