บทวิเคราะห์ : จม.”บิ๊กป้อม”ฉบับ 2 มาแรงเกินคาด

การเมือง
27 ม.ค. 66
16:08
451
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : จม.”บิ๊กป้อม”ฉบับ 2 มาแรงเกินคาด

การออกจดหมายเปิดใจฉบับที่ 2 ของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ผ่านสื่อออนไลน์ ประกาศชัดเจนทั้งเรื่องตัวตน และเจตนารมณ์ทางการเมือง เน้นความประนีประนอม ลดขัดแย้งทางการเมือง ไม่ต้องเก่งเรื่องพูด แต่คิดให้เป็น หาคนเก่งมาช่วยทำงานได้ ส่งผลให้ “บิ๊กป้อม” ดูดี มีเสน่ห์ได้อย่างน่าทึ่ง

ขณะเดียวกัน ยังสะท้อนให้เห็นว่า ไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ โดยเฉพาะการเปิดดีลกับพรรคสร้างอนาคตไทย ที่นำโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และกลุ่ม 4 กุมาร ซึ่งเป็นกลุ่มแรกเริ่มก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ

เท่ากับยืนยันข้อความใจจดหมาย เปิดใจฉบับที่ 2 ตอนหนึ่งที่ระบุว่า คนทำงานการเมืองไม่จำเป็นต้องพูดเก่ง แต่ต้องสามารถหาคนเก่งมาช่วยทำงานได้ ทั้งยังสอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่ระบุชัดด้วยว่า ต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศด้วย

เพราะนายสมคิด คืออดีตรองนายกฯ สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่ปี 44 ครั้งนั้น นโยบายด้านเศรษฐกิจที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มฐานรากและเป็นแนวทางนโยบายประชานิยมในเวลาต่อมา ล้วนมาจากนายสมคิดเป็นสำคัญ

หากดีลนี้ประสบความสำเร็จ จะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับนโยบายด้านเศรษฐกิจของพรรคพลังประชารัฐ และ ”บิ๊กป้อม” เป็นการเสริมทีมเศรษฐกิจของพรรค ที่มีนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ยืนพื้นอยู่ก่อนแล้ว

ขณะเดียวกัน ก็จะทำให้เป้าหมายการเดินหน้าบนเวทีการเมืองต่อไปของนายสมคิดและส่วนหนึ่งของ “กลุ่ม 4 กุมาร” ไม่เสียศูนย์

หลังจากที่ผ่านมา ต้องล้มลุกคลุกคลานจากการย้ายไปตั้งพรรคใหม่ คือสร้างอนาคตไทย แต่ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คาดหวัง เพราะต้องเจอกับกติกาใหม่ที่ไม่เอื้อประโยชน์ต่อพรรคเล็ก และปัจจัยด้านเงินทุน ซึ่งเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้

สาระในจดหมายฉบับที่ 2 ของ “บิ๊กป้อม” ที่ระบุว่าชัดว่า จะสื่อสารกับประชาชนผ่านโลกโซเชียลเป็นสำคัญนับจากนี้ไป ยังถูกนำไปเปรียบเทียบกับการสื่อสาร โดยใช้สื่อโซเชียลมีเดียของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และว่าที่แคนดิเดทนายกฯ ในบัญชีพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ยังไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ควรจะเป็น แม้จะผ่านพ้นเวลาใกล้ครบ 8 ปีแล้วก็ตาม

รศ.ธนพร ศรียากูล นายกสมาคมรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เคยคลุกคลีอยู่กับการเมืองไทยระยะหนึ่ง ก่อนผันตัวไปเป็นนักวิชาการในปัจจุบัน ระบุว่า ความแตกต่างที่ชัดเจนทั้งในด้านบุคลิกภาพและวิธีการสื่อสาร กับผู้คน คือ “บิ๊กป้อม” ใช้ความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นตัวนำ

จึงประสานได้ทุกกลุ่มทุกพรรค แต่ทีมงาน”บิ๊กตู่”ยังใช้ Paradigm (วิธีคิด) แบบเดิม ๆ คือเป็นผู้รู้มากกว่าใคร ๆ ทำให้การเข้าหากลุ่มการเมืองอื่น ๆ กลายเป็นเรื่องยาก

เป็นการบ้านโจทย์ใหญ่ที่ ”บิ๊กตู่” ต้องเร่งแก้ไข หากหวังจะเดินหน้าต่อให้ถึงฝั่งฝัน คือเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 ตรงข้ามกับ “บิ๊กป้อม” ที่พยายามออกตัวว่าเป็นมือใหม่ในโลกโซเชียล แต่ 8-9 วันนับตั้งแต่ออกจดหมายเปิดใจฉบับแรก กระทั่งถึงฉบับที่ 2 กลับได้ผลตอบรับเกินคาด

ยังไม่นับรวมความฮึกเหิมคึกคัก เสียงเชียร์และเสียงตอบรับจากประชาชน ซึ่งส่งผลให้เกิด “ใจบันดาลแรง” กระฉับกระเฉง ลงพื้นที่ได้อย่างต่อเนื่องชนิดที่ทีมงานเองยังต้องแปลกใจ

วิเคราะห์โดย : ประจักษ์ มะวงศ์สา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง