นักวิทย์คิดค้นหุ่นยนต์ "ชีวจักรกล" เคลื่อนไหวได้จากเซลล์กล้ามเนื้อของหนู

Logo Thai PBS
นักวิทย์คิดค้นหุ่นยนต์ "ชีวจักรกล" เคลื่อนไหวได้จากเซลล์กล้ามเนื้อของหนู
มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ พัฒนาหุ่น "ชีวจักรกล" หุ่นยนต์ลูกผสมระหว่างเซลล์กล้ามเนื้อของหนู กับโครงสร้างพลาสติกจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ สามารถเคลื่อนไหวไปมาได้

ทีมวิศวกรจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์ (University of Illinois Urbana-Champaign) ได้คิดค้นและออกแบบหุ่นยนต์ที่สามารถเดินได้ด้วยเซลล์กล้ามเนื้อของหนู ซึ่งงานวิจัยนี้ถือเป็นหนึ่งข้อพิสูจน์ของแนวคิดของการพัฒนา “ชีวจักรกล” (Biohybrid robot) หุ่นยนต์ที่มีทั้งส่วนประกอบจากโลหะและพลาสติกทั่วไป กับเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิตเข้ามาไว้ด้วยกัน

โดยหุ่นชีวจักรกลของทีมวิศวกรมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์ ประกอบไปด้วย 3 ชิ้นส่วนหลัก ๆ ได้แก่ เซลล์กล้ามเนื้อจากหนู , โครงสร้างหลักจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ และชิปหลอดไฟ LED แบบไร้สาย ซึ่งมีกระบวนการทำงานที่ค่อนข้างเรียบง่าย ผ่านการใช้แสงจากชิปหลอดไฟ LED กระตุ้นเซลล์กล้ามเนื้อให้ยืดหดตัวไปมา

ด้วยวิธีการนี้เอง ทำให้ตัวหุ่นชีวจักรกลสามารถเดินไปข้างหน้าได้ด้วยความเร็วประมาณ 0.83 มิลลิเมตรต่อวินาที ซึ่งถือเป็นสถิติความเร็วสูงสุดของหุ่นชีวจักรกลในปัจจุบัน โดยภายหลังจากประสบความสำเร็จในการทดสอบการเดินเรียบร้อยแล้ว ทีมนักวิจัยก็ได้พัฒนาอุปกรณ์พ่วงคล้ายตัวต่อเลโก้ที่สามารถถอดเปลี่ยนได้ เพื่อช่วยให้หุ่นชีวจักรกลทำหน้าที่ได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีการพัฒนาหุ่นแบบใช้ขาข้างเดียวในการเดินด้วย

กล่าวได้ว่าหุ่นชีวจักรกลนั้น มีข้อได้เปรียบกว่าหุ่นยนต์ทั่วไป เนื่องจากเซลล์ที่มีชีวิตในตัวหุ่นสามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ ได้อย่างดีเยี่ยม โดยที่ไม่จำเป็นต้องเขียนโปรแกรมลงไปเหมือนกับหุ่นยนต์ทั่วไป อีกทั้งภาพรวมของเทคโนโลยีหุ่นชีวจักรกลนี้มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าชีวจักรในปัจจุบันนั้นมักจะบอบบาง ไม่ค่อยคงทน และเสียหายได้ง่ายก็ตาม

โดยในอนาคตงานวิจัยด้านหุ่นชีวจักรกลอาจเริ่มจากจุดเริ่มต้นในการพัฒนาให้หุ่นสามารถเดินได้เร็วขึ้น พร้อมกับพัฒนาระบบควบคุมแบบไร้สายระยะไกล Mattia Gazzola หนึ่งในทีมวิศวกรผู้พัฒนาหุ่นชีวจักรกล กล่าวว่า ตนตั้งเป้าที่จะรวมระบบประสาทเข้ากับการทำงานของหุ่นยนต์ ทำให้หุ่นสามารถคำนวณเบื้องต้นได้ด้วยตัวเองในอนาคตอันใกล้นี้

 

ที่มาข้อมูล: Inverse
ที่มาภาพ: University of Illinois Urbana-Champaign
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง