ผู้อพยพชาวโรฮิงญายังวิกฤตภายใต้การรัฐประหาร 2 ปีในเมียนมา

สังคม
1 ก.พ. 66
12:55
2,108
Logo Thai PBS
ผู้อพยพชาวโรฮิงญายังวิกฤตภายใต้การรัฐประหาร 2 ปีในเมียนมา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ตั้งแต่ปลายปี 2565 เป็นต้นมา พบเรือผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาอย่างน้อย 13 ลำ อพยพไปประเทศที่สาม เช่น ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย พวกเขายอมฝากชีวิตไว้กับขบวนการค้ามนุษย์ เพราะมองไม่เห็นว่าจะได้รับความเป็นธรรมหากเมียนมายังอยู่ในมือคณะรัฐประหาร

“ไทยพีบีเอส” พูดคุยกับชายชาวโรฮิงญาวัย 22 ปีที่ใช้ชีวิตในค่ายผู้ลี้ภัยมาทั้งชีวิต “ลำบาก อยุติธรรม และไร้ความหวัง” คือ 3 คำที่เขาบรรยายชีวิตผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ

ภาพค่ายผู้ลี้ภัยกุตาปาลอง ประเทศบังกลาเทศ ภาพจาก © UNHCR/Roger Arnold

ภาพค่ายผู้ลี้ภัยกุตาปาลอง ประเทศบังกลาเทศ ภาพจาก © UNHCR/Roger Arnold

ภาพค่ายผู้ลี้ภัยกุตาปาลอง ประเทศบังกลาเทศ ภาพจาก © UNHCR/Roger Arnold

22 ปีในค่ายผู้ลี้ภัย ความลำบากในบังกลาเทศ

ความทรงจำในวัยเด็กของอาลี (นามสมมติ) ชายชาวโรฮิงญาวัย 22 ปีนั้นรางเลือน เขาจำได้เพียงว่าเกิดและโตในค่ายผู้อพยพเมืองค็อกบาร์ซา ประเทศบังกลาเทศ พ่อแม่เล่าให้อาลีฟังว่าพ่อเป็นนักธุรกิจมีบริษัทเล็กๆ อยู่ในเมืองมองดอ รัฐยะไข่ และเมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ต่อมาในปี 2535 รัฐบาลทหารเมียนมาเริ่มปฏิบัติการกวาดล้างชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่อย่างลับๆ ที่ดินของครอบครัวอาลีถูกยึด บ้านถูกเผา พ่อแม่ของเขาจึงขึ้นเรือข้ามฝั่งมายังประเทศบังกลาเทศ และอาศัยค่ายผู้ลี้ภัยเป็นที่พำนักนับตั้งแต่นั้น จนกระทั่งคลอดอาลีในปี 2544 ครอบครัวของอาลีจึงเป็นผู้อพยพรุ่นแรกๆ ที่แสวงหาความปลอดภัยในบังกลาเทศ

ตลอดชีวีตของอาลี ไม่มีสิทธิเลือกว่าวันนี้จะกินอะไร ไม่มีพื้นที่ส่วนตัวเพราะต้องอยู่รวมกันอย่างแออัดภายใต้กระท่อมชั่วคราวที่กันฝนได้บ้างไม่ได้บ้าง หนาวเย็นในเวลากลางคืน และร้อนจัดในเวลากลางวัน อาลีไม่ได้รับการศึกษาเพราะในค่ายผู้ลี้ภัยไม่มีโรงเรียน แต่โชคดีที่ได้เรียนภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์เบื้องต้นจากพ่อแม่ เพราะทั้งคู่ได้รับการศึกษามาก่อน

อาลีมองว่า พ่อแม่ของเขาต้องหนีออกจากบ้านเกิดเมืองนอนในรัฐยะไข่เพราะปัญหาความเกลียดชังชาวมุสลิม ซึ่งเป็นความขัดแย้งสะสมระหว่างกลุ่มคนพุทธสุดโต่งและชาวโรฮิงญา จนทำให้พ่อของเขาต้องทิ้งทุกอย่างไว้ที่เมียนมาแลกกับความปลอดภัยของครอบครัว

ข้อมูลจากแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า ชาวโรฮิงญาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมในรัฐยะไข่ทางภาคตะวันตกของประเทศเมียนมาติดกับชายแดนบังกลาเทศ เคยมีประชากรมากกว่า 1 ล้านคน ต่อมารัฐบาลเมียนมาปฏิเสธการมีอยู่ของกลุ่มชนชาติพันธุ์ชาวโรฮิงญา โดยอ้างว่าพวกเขาเป็น “ผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ” ชาวโรฮิงญาจึงถูกเพิกถอนสัญชาติและสิทธิพลเมืองเมียนมา จนกลายเป็นผู้ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ

ทางการเมียนมาควบคุมและจำกัดการเดินทางของชาวโรฮิงญาอย่างเข้มงวด กีดกันพวกเขาออกจากประชากรส่วนอื่น ๆ ของสังคม ไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ การศึกษา และไม่มีงานทำ การเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบเช่นนี้ ถือว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติตามกฎหมายระหว่างประเทศ

ข้อมูลล่าสุดจากข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ระบุว่า จำนวนผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในค่ายผู้ลี้ภัยประเทศบังกลาเทศมีจำนวนกว่า 1.1 ล้านคน

ความอยุติธรรมในค่ายผู้ลี้ภัย

อาลีเล่าว่า พวกเขาไม่มีหนังสือเดินทาง ทำให้เดินทางและหางานทำไม่ได้ เพราะจะถูกตำรวจบังกลาเทศจับในฐานะผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย อาหารและปัจจัยสี่ต้องอาศัยการสนับสนนุนจาก UNHCR องค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอ รัฐบาลบังกลาเทศ และผู้บริจาคอิสระจากแหล่งอื่นๆ เป็นหลัก ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้อพยพจำนวนกว่า 1.1 ล้านคน

ผู้หญิงและเด็กในค่ายผู้ลี้ภัยแทบไม่มีความปลอดภัย พวกเขาถูกล่วงละเมิดโดยชายชาวโรฮิงญาภายในค่ายหรือนักการเมืองท้องถิ่นชาวบังกลาเทศที่ถูกตาต้องใจเด็กและหญิงสาวเหล่านั้น แม้ครอบครัวชาวโรฮิงญาทราบว่าพวกเธอถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่ก็แจ้งตำรวจไม่ได้ เพราะอาจถูกยัดข้อหา ยัดยาเสพติด หรือแม้แต่ยัดอาวุธ หากพยายามแจ้งความดำเนินคดีกับผู้มีอิทธิพลในค่ายผู้ลี้ภัย

ปัญหาล่วงละเมิดทางเพศจึงสร้างความทุกข์ให้กับครอบครัวชาวโรฮิงญาที่ไม่สามารถเรียกร้องความยุติธรรมให้กับคนที่เขารักได้ ท่ามกลางสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบากซึ่งพวกเขาต้องเผชิญในทุกวัน

ไร้ความหวัง เมื่อความยุติธรรมอาจไม่มีวันเกิดขึ้น

“กลับบ้านอย่างมีศักดิ์ศรี คืนสิทธิพลเมืองเต็มขั้น” (Return home dignity with full citizenship) คือแคมเปญรณรงค์ที่เกิดขึ้นในค่ายผู้อพยพกุตาปาลอง เมืองค็อกซ์บาซาร์ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2565 อาลีเล่าว่าผู้อพยพภายในค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ต่างตอบรับแคมเปญนี้ด้วยความหวัง เพราะต้องการชีวิตที่ปกติสุข ไม่ต้องทนทุกข์อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยอีกต่อไป

ภาพชาวโรฮิงญาในค่ายกุตาปาลองออกมารณรงค์แคมเปญ “กลับบ้านอย่างมีศักดิ์ศรี คืนสิทธิพลเมืองเต็มขั้น” วันที่ 31 ธ.ค. 2565

ภาพชาวโรฮิงญาในค่ายกุตาปาลองออกมารณรงค์แคมเปญ “กลับบ้านอย่างมีศักดิ์ศรี คืนสิทธิพลเมืองเต็มขั้น” วันที่ 31 ธ.ค. 2565

ภาพชาวโรฮิงญาในค่ายกุตาปาลองออกมารณรงค์แคมเปญ “กลับบ้านอย่างมีศักดิ์ศรี คืนสิทธิพลเมืองเต็มขั้น” วันที่ 31 ธ.ค. 2565


สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้นำการรณรงค์ “กลับบ้านอย่างมีศักดิ์ศรี คืนสิทธิพลเมืองเต็มขั้น” ในคืนวันนั้น คือ ถูกเจ้าหน้าที่บังกลาเทศบุกค้นบ้านพักในค่ายผู้อพยพ และพบยาเสพติดรวมถึงอาวุธภายในค่าย ทั้งที่ผู้ถูกจับกุมไม่เคยมีประวัติอาชญากรรมเช่นนี้มาก่อน

ผู้นำการรณรงค์ถูกดำเนินคดีในข้อหาก่อการร้าย และถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ แคมเปญดังกล่าวหายไปกับสายลมราวกับไม่เคยเกิดขึ้น ผู้คนต่างหวาดกลัวที่จะออกมาส่งเสียงเรียกร้องสิทธิของตนเอง

อาลีบอกว่าพวกเขารอคอยความยุติธรรมอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม นับตั้งแต่ปี 2559-2560 ที่กองทัพเมียนมา เริ่มปฏิบัติการกวาดล้างชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยหนีตายมายังบังกลาเทศกว่า 8 แสนคน แต่กลับไม่มีนายทหารคนใดได้รับโทษแม้แต่คนเดียว ตรงกันข้าม นายพลมินอ่องหล่าย ผู้นำกองทัพกลับได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีประเทศเมียนมา หลังทำรัฐประหารรัฐบาลพลเรือนสำเร็จในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปี 2564

แม้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ICJ รับพิจารณาคดีที่ประเทศแกมเบียยื่นฟ้องศาลเกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา และออกคำสั่งชั่วคราวให้รัฐบาลเมียนมาใช้อำนาจทั้งหมดที่มี ป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาระหว่างที่ศาลพิจารณาคดี แต่ไม่ได้รับความร่วมมือใดๆ จากรัฐบาล ตรงกันข้ามนายพลมินอ่องหล่ายพยายามให้ผู้เเทนคณะใหม่ของเมียนมาโต้แย้งคำร้องคัดค้านเบื้องต้นในชั้นศาล หลังจากตนเองขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

บรรยากาศไร้ความหวังเช่นนี้ ทำให้ชาวโรฮิงญาที่มีครอบครัวหรือคนรู้จักอยู่ในประเทศที่สาม เริ่มติดต่อเพื่อหาลู่ทางออกจากค่ายผู้ลี้ภัยอีกครั้ง แม้ต้องฝากชีวิตไว้กับขบวนการค้ามนุษย์ก็ตาม

ฝากชีวิตไว้กับมหาสมุทร หรือจ้างกลุ่มติดอาวุธนำพาไปสู่ประเทศที่สาม

อาลีบอกว่าไม่พบนายหน้าชาวไทย มาเลเซีย หรืออินโดนีเซียเข้ามาติดต่อกับชาวโรฮิงญาในค่ายผู้อพยพ ขบวนการค้ามนุษย์ที่คอยนำพาชาวโรฮิงญาไปยังประเทศที่สามส่วนใหญ่เป็นนายหน้าชาวโรฮิงญา ชาวบังกลาเทศ และชาวเมียนมา โดยมี 2 เส้นทาง คือ ทางบกและทางทะเล ค่าใช้จ่ายการเดินทางอยู่ที่ 500,000 ธากา หรือ ประมาณ 150,000 บาทต่อคน โดยครอบครัวหรือญาติผู้ลี้ภัยในต่างประเทศเป็นผู้รับผิดชอบ

ภาพชาวโรฮิงญากว่า 70 คนที่ถูกจับกุมได้ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ในข้อหาลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย วันที่ 7 ม.ค. 2566

ภาพชาวโรฮิงญากว่า 70 คนที่ถูกจับกุมได้ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ในข้อหาลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย วันที่ 7 ม.ค. 2566

ภาพชาวโรฮิงญากว่า 70 คนที่ถูกจับกุมได้ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ในข้อหาลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย วันที่ 7 ม.ค. 2566

เส้นทางบกเริ่มต้นขึ้นที่รัฐยะไข่ ผู้นำพาหลักคือกลุ่มติดอาวุธกองทัพอาระกัน หรือ Arakan Army ชาวโรฮิงญาจะถูกพาไปยังเมืองย่างกุ้ง จากนั้นจึงหาลู่ทางให้กลุ่มผู้อพยพเดินทางเข้าประเทศไทย โดยติดต่อกับกลุ่มผู้นำพาท้องถิ่นอีกทอดหนึ่ง เพื่อส่งต่อไปยังประเทศมาเลเซีย

ภาพผู้อพยพบเรือที่ออกเดินทางจากบังกลาเทศในวันที่ 29 ธ.ค. 2565 เพื่อเดินทางไปประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย บนเรือมีผู้อพยพจำนวน 140 คนจาก 34 แคมป์ในค็อกซ์บาซาร์ ภาพจาก ทวิตเตอร์ @MediaRohingya

ภาพผู้อพยพบเรือที่ออกเดินทางจากบังกลาเทศในวันที่ 29 ธ.ค. 2565 เพื่อเดินทางไปประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย บนเรือมีผู้อพยพจำนวน 140 คนจาก 34 แคมป์ในค็อกซ์บาซาร์ ภาพจาก ทวิตเตอร์ @MediaRohingya

ภาพผู้อพยพบเรือที่ออกเดินทางจากบังกลาเทศในวันที่ 29 ธ.ค. 2565 เพื่อเดินทางไปประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย บนเรือมีผู้อพยพจำนวน 140 คนจาก 34 แคมป์ในค็อกซ์บาซาร์ ภาพจาก ทวิตเตอร์ @MediaRohingya

ขณะที่เส้นทางทะเล นายหน้าจะรวบรวมคนจากแคมป์ต่างๆ ครั้งละ 80-150 คน ลงเรือบดลำเล็กๆ จากชายหาดทางตอนใต้ของบังกลาเทศ แล้วไปขึ้นเรือประมงขนาดใหญ่ที่บริเวณพรมแดนเมียนมา-บังกลาเทศ เรือแต่ละลำจะมีโทรศัพท์ดาวเทียมไว้สื่อสาร พร้อมกับน้ำและอาหารที่คาดว่าจะเพียงพอต่อการเดินทางไปยังประเทศมาเลเซียหรืออินโดนีเซีย แต่ด้วยสภาพเรือที่ไม่เหมาะสมกับการเดินทางไกล เรืออพยพบางลำจึงเสียระหว่างทาง เมื่อเจอกับคลื่นลมแรงในมหาสมุทร ชาวโรฮิงญาจำนวนหนึ่งจึงเสียชีวิตหรือสูญหายกลางทะเล

อาลีมองว่าด้วยสภาพที่บีบคั้นภายในค่ายผู้ลี้ภัย ทำให้ชาวโรฮิงญาจำนวนหนึ่งที่มีญาติหรือครอบครัวอยู่ต่างประเทศพยายามหาความหวังใหม่ในประเทศอื่น และเลือกที่จะฝากชีวิตไว้ในมือขบวนการค้ามนุษย์ ถึงแม้ว่าพวกเขาอาจไปไม่ถึงที่หมายและจบชีวิตลงระหว่างเดินทางก็ตาม

กลุ่มนักสิทธิฯ-ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ยื่นฟ้องรัฐบาลเมียนมาต่อศาลเยอรมัน

วันที่ 20 มกราคม 2566 องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนชื่อ ฟอร์ทิฟาย ไรทส์ (Fortify Rights) ร่วมกับกลุ่มโจทก์ 16 คนที่อาศัยอยู่ในหลายประเทศรวมทั้งเมียนมาและตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในเมียนมา ยื่นฟ้องต่อสำนักงานอัยการกลางของเยอรมนี ขอให้อัยการเยอรมนีเปิดการสอบสวนเจ้าหน้าที่เมียนมารายบุคคล โดยอ้างถึงปฏิบัติการของกองทัพเมียนมาที่ใช้กำลังกวาดล้างชาวโรฮิงญาในปี 2560 รวมถึงอาชญากรรมที่เกิดขึ้นช่วงหลังการรัฐประหารปี 2564 ที่มีการสังหาร ข่มขืน ทรมาน คุมขัง อุ้มหาย ข่มเหง และกระทำการอื่น ๆ อันเทียบเท่ากับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

 

จิราภรณ์ ศรีแจ่ม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง