จับตา! รัฐบาลลักไก่ ส่งร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมสื่อฯ ให้รัฐสภาพิจารณาแบบเร่งด่วน

สังคม
3 ก.พ. 66
12:03
228
Logo Thai PBS
จับตา! รัฐบาลลักไก่ ส่งร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมสื่อฯ ให้รัฐสภาพิจารณาแบบเร่งด่วน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ตามที่มีข่าวกระจายไปในสื่อโซเชียลว่ารัฐบาลลักไก่ เตรียมส่งร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน การประชุมของ 2 สภาในวันที่ 7 ก.พ.2566 ที่จะถึงนี้ เป็นวาระแรกของการประชุม

ล่าสุดวันนี้ (3 ก.พ.2566) นายสุปัน รักเชื้อ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้เปิดเผยกับทาง ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า เรื่องดังกล่าวดูรัฐบาลลุกลี้ลุกลนมาก ถึงขนาดที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ทำหนังสือถึงประธานรัฐสภา ลงวันที่ 6 ก.ย. 2565 ขอให้นำร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .… ขณะที่ พล.อ.ประวิตร อยู่ในตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี ให้นำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาแบบเร่งด่วน

โดยอ้างถึงร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .…เป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ในหมวดที่ 16 ซึ่งจากการศึกษาร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวของคณะอนุกรรมการฝ่ายกฎหมายและสิทธิของสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ร่วมกับกรรมการฝ่ายวิชาการของสมาคมผู้สื่อข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

มีความเห็นร่วมกันว่ากฎหมายดังกล่าวเขียนขึ้นทับซ้อนกับกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 35 ซึ่งบัญญัติไว้แล้ว ในการรับรองสิทธิและเสรีภาพในการเสนอข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ และร่าง พ.ร.บ.ยังมีข้อบกพร่องหลายประการและอาจจะเป็นอุปสรรคในการทำงานของสื่อเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของการนำเสนอข่าวในอนาคต

เช่น ความย้อนแย้งในเหตุผลของการยกร่างที่ระบุว่า ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมีสิทธิปฏิเสธการปฏิบัติตามคำสั่งใด ที่จะมีผลให้เป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมสื่อมวลชนโดยมิให้ถือว่าเป็นการขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา แต่การใช้สิทธิดังกล่าวต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์และภารกิจของหน่วยงานที่ตนสังกัดอยู่ด้วย ตามข้อเท็จจริงแล้วสื่อ ที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการโดยหน่วยงานของรัฐ จะทำงานเสนอข่าวยังไง

และที่สำคัญสาระหลักของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้คือการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อ ถ้าศึกษาตามรายละเอียดในร่าง พ.ร.บ. จะเห็นว่าเป็นการทำงานที่ทับซ้อน กับองค์กรวิชาชีพสื่อและ กสทช. ที่ทำหน้าที่อยู่แล้ว รวมไปถึงงบประมาณที่รัฐจะสนับสนุนโดยให้เอาเงินจาก กสทช. และกองทุนสื่อปลอดภัย ซึ่งจริงๆ 2 หน่วยงานนี้ก็ให้เงินสนับสนุนสื่อที่ยื่นขอรับการสนับสนุนและมีคุณสมบัติกับโครงการที่ผ่านเกณฑ์อยู่แล้ว

นายสุปัน กล่าวว่าโดยส่วนตัว ไม่เห็นความจำเป็นในการที่จะมีร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .…ฉบับนี้ ให้สิ้นเปลืองงบประมาณและทำหน้าที่ทับซ้อนกับองค์กรวิชาชีพสื่อและองค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลสื่อของภาครัฐ

ถ้ารัฐเห็นความสำคัญในการส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนตามที่ระบุไว้ในหลักการและเหตุผล รัฐควรส่งเสริมกลไกในใช้สิทธิ์ของประชาชนในการตรวจสอบสื่อทั้งในภาคจริยธรรมและกฎหมาย รวมไปจนถึงให้เสรีภาพในนำเสนอข้อมูลตรวจสอบการทำงานของรัฐอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อคนในวิชาชีพสื่อทั้งของภาคเอกชนและภาครัฐ และประชาชนผู้บริโภคสื่อ

นอกจากรัฐมีวัตถุประสงค์อื่น เช่นต้องการควบคุมสื่อผ่านกลไกงบประมาณสนับสนุนสภาวิชาชีพสื่อที่จะตั้งขึ้น อย่างไรก็ตามขณะนี้ทางคณะกรรมการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กับ กรรมการสมาคมคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยกำลังหารือถึงมาตรการคัดค้านร่าง พ.ร.บ. นี้ต่อไป

ได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าคณะอนุกรรมการปฏิรูปสื่อที่มีนักวิชาการและตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อ อยู่ในคณะนี้ได้มีมติไม่เห็นด้วยกับการมีกฎหมายปฏิรูปสื่อ แต่ไม่รู้ว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้โผล่เข้าไปที่รัฐสภาได้อย่างไร ถ้าไม่รับฟังกันแล้วตั้งขึ้นมาทำไม?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง