เชียงใหม่ที่เปลี่ยนไปในจังหวะ "ต๊ะ ต่อน ยอน"

ภูมิภาค
7 ก.พ. 66
07:07
1,330
Logo Thai PBS
เชียงใหม่ที่เปลี่ยนไปในจังหวะ "ต๊ะ ต่อน ยอน"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หลายชีวิตเร่งรีบ วิ่งตามเวลาในเมืองใหญ่ แต่ที่ "เชียงใหม่" เวลาวิ่งตามคนที่นี่เสมอ มนต์เสน่ห์เมืองเหนือที่ทั้งคนพื้นถิ่น คนต่างถิ่นต่างหลงใหล อากาศเย็นสบาย วิถีชีวิตคนที่ค่อยดำเนินไป ล้วนต่างค่อยๆ เปลี่ยนไปตามกาลเวลาในสไตล์ล้านนา ช้าๆ แต่ก็ตามทัน
เจียงใหม่นี้ก่ออยู่บ่ะด๊าย บ่ะดายมาเจ็ดร้อยปี๋ป๋ายละ จะไปฟั่งมาเน้อ ก้อยๆมา มันบ่ะหนีไปไหน

คำพูดของแม่ค้าขายผ้าคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตในเมืองเชียงใหม่มาเกือบ 50 ปี แสดงให้เห็นถึง “ความต๊ะ ต่อน ยอน” หรือคำพูดเปรียบเทียบจากท่วงทำนองเพลงล้านนาของภาคเหนือ ที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนพื้นถิ่นที่ไม่เร่งรีบ คำพูดเรียบๆ ช้าๆ คนฟังสบายหู คนพูดสบายใจ

เชียงใหม่ เมืองแห่งชีวิต

“เชียงใหม่” เมืองที่ถูกสร้างและวางผังเมืองด้วยคอนเซปต์ “เมืองแห่งชีวิต” พ่อขุนมังราย หรือ พญามังราย ปฐมกษัตริย์แห่งล้านนา เลือกชัยภูมิแห่งนี้เป็นที่ตั้ง ตั้งใจสร้างเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจในอาณาจักรล้านนา ด้วยการสร้างกำแพงล้อมรอบเมืองเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตั้งสง่าเบื้องหน้าดอยสุเทพ ใช้เวลาเพียง 5 ปีก็เสร็จสิ้น

ในทุกๆ เช้าเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก แสงจะถูกส่องผ่านประตูท่าแพ ทอดยาวไปจนถึง วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร วัดๆ เดียวที่ตั้งอยู่ปลายทาง ถ.ท่าแพ กลางเมืองเชียงใหม่ เพื่อรับพลังจากธรรมชาติและแผ่กระจายไปทั่วทุกที่ ทำให้เชียงใหม่มีชีวิตขึ้นมา

“คนเมือง” หมายรวมถึง ชาวเชียงใหม่ที่เกิดและโตที่นี่ และนับรวมถึงคนต่างถิ่นที่เข้ามาอาศัยที่เชียงใหม่เป็นเวลานาน จะดำเนินชีวิตในทุกๆ เช้าด้วยการจ้างรถสามล้อถีบบ้าง หรือรถแดงบ้าง ในราคา 3-5 บาท/คน ไปจ่ายกาด ทั้งกาดหลวง กาดเมืองใหม่ กาดต้นพยอม กาดสมเพชร

กาด หรือ ตลาดเหล่านี้ ล้วนเป็นครัวของสดของคนเมืองเชียงใหม่ทั้งสิ้น

ส่วนภาคธุรกิจของเชียงใหม่ไปได้ดีกับย่านนิมมานเหมินทร์ ที่ครั้งหนึ่งเป็นทำเลทองของนักลงทุนทั้งในเชียงใหม่และต่างจังหวัด ห้องเช่าที่ติดประกาศให้เช่าที่ ทากาวยังไม่ทันแห้งดี ก็ต้องเอาป้ายให้เช่าออกแล้ว เพราะนักลงทุนที่เก่งย่อมไม่ปล่อยโอกาสทำเงินในทำเลทองของเชียงใหม่หลุดมือไป

ใดๆ ในโลกล้วนไม่จีรัง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความต๊ะ ต่อน ยอน คือเสน่ห์ของเชียงใหม่ ที่ไม่ใช่เฉพาะนักท่องเที่ยวที่เดินทางมา แต่รวมถึงนักลงทุนอีกมากมายเช่นกัน

เชียงใหม่ถูกพัฒนา เศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนทั้งภายในและภายนอกจังหวัด ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงของตลาดในเชียงใหม่ มีตลาดทางเลือกใหม่ๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ทั้ง กาดจริงใจ Market กาดต๋องตึง กาดโก้งโค้ง และอีกหลายตลาดมากมาย ตลาดเหล่านี้ไม่ได้เป็นครัวของสดเพียงอย่างเดียว แต่รวบรวมเอาทั้งอาหาร เสื้อผ้า ของตกแต่งบ้าน มีดนตรีเล่นสด มีร้านอาหารนานาชาติ

ทุกอย่างถูกปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการของทั้งคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว

ร้านอาหารเดิมๆ ขายของต้นตำรับแบบเดิมๆ ของเชียงใหม่ก็เริ่มถูกปรับเปลี่ยนเช่นกัน การส่งต่อสูตรอาหารจากรุ่นสู่รุ่น การส่งต่อภูมิปัญญาเครื่องแต่งกายท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ ล้วนถูกเปลี่ยนไปเพื่อให้เข้ากับ “เชียงใหม่ที่เปลี่ยนไป”

แม้กระทั่งชาวต่างชาติจากหลากหลายประเทศ ก็เลือกเชียงใหม่เป็นหมุดหมายปลายทางสุดท้ายที่จะใช้ชีวิตบั้นปลายที่นี่ บางคนเลือกเปิดร้านอาหารเล็กๆ ของตัวเองเลี้ยงชีพพอเพียงต่อเมืองที่ค่าครองชีพไม่สูงเท่าเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ บางคนเลือกเป็นนักดนตรีเปิดหมวก หารายได้ หาเช้ากินค่ำไปอย่างมีความสุขในแต่ละวัน

โลกคู่ขนานของเชียงใหม่

แม้เชียงใหม่ในปัจจุบันจะมีสิ่งใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ เข้ามามากเท่าไหร่ก็ตาม แต่โลกคู่ขนานที่เดินทางคู่กับเชียงใหม่มานานกว่า 727 ปี ก็คือ “ความเชื่อล้านนา”

ความเชื่อล้านนา ไม่ใช่เรื่องงมงาย แต่เป็นเรื่องของจิตวิญญาณที่ผสมเอาวิถีชีวิตของคนเข้าไว้กับเมือง

ความเชื่อล้านนาคืออีกสิ่งที่ทำให้เชียงใหม่มีชีวิต มีเสน่ห์ มีความน่าค้นหา ไม่ว่าโทรศัพท์สมาร์ตโฟนจะมีคนละกี่เครื่องในบ้าน ทีวีจะใหญ่โต จอแบนบางเฉียงกี่มิลลิเมตร แต่ทุกเช้า คนเชียงใหม่ยังต้องใส่บาตร ทั้งพระสงฆ์ และเจ้าที่พระภูมิที่บ้าน เมื่อเกิดเหตุร้าย หรือสิ่งที่ทำให้จิตใจคนเชียงใหม่ขวัญเสีย ต่างก็เข้าใจตรงกันว่า "เมืองกำลังป่วย" หรือแม้แต่โบราณสถานหลายที่ในเชียงใหม่ เมื่อมองไปตามซอกหลืบก็จะพบเจอ ตุ๊กตาเทียนปั้นมัดด้วยสายสิญจน์ พระพุทธรูปทำจากดินเผาแห้งๆชำรุด หักแตก

เรื่อยยาวไปจนถึงความพยายามทำนุบำรุงศาสนสถาน แหล่งโบราณสถานที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ตึกเก่าๆย่าน ถ.ท่าแพ ที่เรียงขนาบ 2 ข้างทางถนน ที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่ายๆ เพียงแค่เสนอแผนงานก็คงจบ แต่เมื่อเป็นเมืองเชียงใหม่แล้วนั้น นักวิชาการต้องใช้ “ผีคุยกับผี” หรือต้องเอาความเชื่อเก่าไปลบล้างความเชื่อที่เก่ากว่า

มองแล้วก็เป็นความแตกต่างของยุคสมัยที่อยู่บนความดั้งเดิมของความเชื่อล้านนา กว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนภูมิสถาปัตยกรรมล้านนาของเชียงใหม่ ให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ที่ยังคงความเป็นเมืองล้านนาอยู่ ซึ่งหลายๆ อย่างที่เปลี่ยนไปนั้น ทำให้เชียงใหม่มีชีวิตในรูปแบบใหม่ๆ เสมอ แต่ก็ยังอยู่บนพื้นฐาน “ความต๊ะ ต่อน ยอน” ไม่เสื่อมคลาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง