"Seatscape & Beyond" เก้าอี้สาธารณะ ฝีมือคนรุ่นใหม่ เพื่อเมืองที่ดีขึ้น

ไลฟ์สไตล์
9 ก.พ. 66
14:59
1,544
Logo Thai PBS
"Seatscape & Beyond" เก้าอี้สาธารณะ ฝีมือคนรุ่นใหม่ เพื่อเมืองที่ดีขึ้น
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
คนกรุงอาจคุ้นชินกับเก้าอี้สาธารณะที่ไม่กล้านั่ง แต่จะดีสักแค่ไหนถ้าคนรุ่นใหม่หันมาออกแบบเก้าอี้สาธารณะที่ดีไซน์สวยและเหมาะกับการใช้งาน เทศกาล Bangkok Design Week ปีนี้ มี 10 โมเดลฝีมือคนรุ่นใหม่มาตั้งโชว์ในป็อปสโตร์หน้า CEA ให้ได้ชมกัน

เก้าอี้-โต๊ะทรงแปลกตา ชิงช้าดีไซน์เก๋ ตั้งจัดโชว์เป็นตัวอย่างเฟอร์นิเจอร์สาธารณะอยู่หน้าสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) (CEA) หรืออาคารไปรษณีย์กลาง ย่านเจริญกรุง เป็นอีกกิมมิกสำคัญสำหรับงาน “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566” หรือ Bangkok Design Week 2023 ซึ่งในปีนี้มาในธีม “urban‘NICE’zation เมือง - มิตร - ดี” มีโจทย์หลัก คือ การออกแบบ "ทำเมืองให้ดีขึ้น" อย่างไร พร้อมทั้งสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้ทุกคนมาร่วมกันพัฒนาให้กรุงเทพฯ​ ดีขึ้น

 

 

เมื่อก้าวเข้าไปในป็อปสโตร์ด้านในจะพบกับ 10 โมเดลผลงานเฟอร์นิเจอร์ที่ได้รับคัดเลือกจากโครงการประกวดแนวคิดเชิงทดลอง One Bangkok Urban Furniture Competition 2022 "Seatscape & Beyond" ที่เปิดพื้นที่นิสิต-นักศึกษาให้ได้ออกแบบที่นั่งสาธารณะ เพื่อยกระดับบริบทแวดล้อมของพื้นที่สาธารณะ

 

กว่าจะเดินทางมาถึงวันนี้นิสิตและนักศึกษาทั้ง 10 ทีม ได้เข้ารับการเวิร์กช็อปจาก THINKK Studio นักออกแบบเฟอร์นิเจอมืออาชีพมานานกว่า 5 เดือน เพื่อเรียนรู้เครื่องมือ อุปกรณ์ วัสดุ ความรู้พื้นฐาน และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญ ให้ได้สร้างสรรค์ผลงานที่สมบูรณ์ออกมาในที่สุด

ทีม B3X 3 สาวจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ร่วมออกแบบเฟอร์นิเจอร์ในโครงการนี้บอกแนวคิดการออกแบบที่นั่งสาธารณะว่า มีการนำเส้นสายการดำเนินชีวิตของวัยรุ่น และออกแบบตัวลวดลายเก้าอี้ด้วยการทำแคมเปญผ่าน Story IG เพื่อเก็บข้อมูล แล้วนำมาแปลเป็นลวดลายบนตัวเฟอร์นิเจอร์ กลายเป็นผลงานสุดล้ำที่นำมาประกวดและโชว์ในวันนี้

ตอนแรกค่อนข้างมองข้ามที่นั่งสาธารณะ แต่พอทำโครงการนี้ก็สังเกตขึ้นว่า ทำไมเขาทำที่นั่งรอรถเมล์แบบนี้ และเริ่มวิเคราะห์ได้ว่าการทำที่นั่งแต่ละประเภทเหมาะสำหรับการใช้งานที่แตกต่างกัน

ขณะที่ "วิภพ มโนปัญจสิริ - กฤตธี วงศ์มณีโรจน์" ทีม For The Friend We Haven’t Met Yet นิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 5 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ได้รับรางวัล 1st Best Performance Award ระบุว่า มีโอกาสเข้าร่วมโครงการในช่วงปิดเทอม ทำให้เข้าใจว่าการพัฒนาเฟอร์นิเจอร์สาธารณะ อาจไม่ใช่แค่ดีไซน์ แต่หมายถึงสเปซ จึงนำแนวคิดการนั่งล้อมวงของคนไทยมาประยุกต์ใช้กับผลงานที่ออกแบบ

เราขมวดปัญหาม้านั่งสาธารณะ คุณลักษณะไม่ค่อยเป็นมิตรเท่าไหร่ เราพูดถึง 3 อย่าง คือ การใช้งานที่ไม่รองรับ 2.โลเคชั่น ที่ลับตาคน จนคนไม่กล้านั่ง 3.สุนทรียภาพที่ไม่เชื้อเชิญคนมาใช้ เราจึงออกแบบให้มันเปิดรับและต้อนรับ

 

สำหรับโมเดลผลงานของนิสิตและนักศึกษาทั้ง 10 ทีมที่ได้รับคัดเลือกจากโครงการจะจัดแสดงที่ป็อปสโตร์อาคารไปรษณีย์กลางตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 12 ก.พ.2566 ในช่วงเทศกาล Bangkok Design Week 2023 และหลังจากนี้ผลงานของทุกทีมจะถูกนำไปสร้างเป็นเฟอร์นิเจอร์สาธารณะเพื่อใช้งานจริงโดยจะนำไปตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าใหม่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เร็ว ๆ นี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง