AI Chatbot ของ Google และ Microsoft กำลังเร่งให้โลกร้อนขึ้นกว่าเดิม

Logo Thai PBS
AI Chatbot ของ Google และ Microsoft กำลังเร่งให้โลกร้อนขึ้นกว่าเดิม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผู้เชี่ยวชาญกังวล AI ของ Google และ Microsoft จะทำให้สถานการณ์ "ภาวะโลกร้อน" เลวร้ายลงกว่าเดิม เหตุเพราะต้องใช้พลังงานในการประมวลผลที่เพิ่มขึ้น 4-5 เท่าตัว

กระแสความนิยมของ "ChatGPT" แชตบอตชื่อดังในโลกออนไลน์เมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านนั้น ได้ส่งผลให้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Google และ Microsoft เล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีแชตบอตรุ่นใหม่ที่สามารถ คิด วิเคราะห์ ได้ราวกับมนุษย์ขึ้นมา จนนำไปสู่การเปิดตัว AI ที่สามารถตอบโต้ข้อความของผู้ใช้งานในลักษณะคล้ายกับ ChatGPT ขึ้นมาในที่สุด

ในอนาคตทาง Microsoft มีแผนการนำ AI ของตนมาประยุกต์ใช้กับ "Bing" โปรแกรมค้นหา (Search Engine) ที่มีอยู่เดิม ขณะที่ทาง Google กำลังพัฒนาทักษะการตอบคำถามของแชตบอตตัวใหม่ที่มีชื่อว่า "Bard" อยู่ ซึ่งเปิดให้กับผู้ใช้งานเฉพาะกลุ่มที่ได้รับเลือกเท่านั้น

แต่ทว่าเบื้องหลังศึก AI ระหว่างบริษัททั้งสองนี้ ก็กลับมาพร้อมกับการติดตั้งระบบต่าง ๆ ในศูนย์ข้อมูล (Data Center) ไม่ว่าจะเป็นหน่วยประมวลผลและหน่วยกักเก็บข้อมูล สำหรับใช้ฝึกฝน AI เป็นจำนวนมาก ซึ่งนำไปสู่การใช้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้นตามไปอีกด้วย โดยในปัจจุบันระบบโครงสร้างสาธารณูปโภคที่ทำให้อินเทอร์เน็ตใช้งานได้นั้น ก่อให้เกิดแก๊สเรือนกระจกสูงถึง 1,600 ล้านตัน หรือราวร้อยละ 4 จากภาคอุตสาหกรรมอื่นทั้งหมดในแต่ละปี

Martin Bouchard ผู้เชี่ยวชาญด้าน Machine learning กล่าวว่า การประยุกต์นำ AI มาใช้กับโปรแกรมค้นหาบนเบราว์เซอร์จะใช้พลังงานไฟฟ้าในการประมวลผลเพิ่มขึ้นประมาณ 4-5 เท่า ซึ่งระบบทำความเย็นให้กับคอมพิวเตอร์นั้นเป็นส่วนที่ก่อให้เกิดแก๊สเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญ

ก่อนที่ต่อมา Jane Park โฆษกประจำบริษัท Google ได้ออกมาแถลงต่อสื่อมวลชนว่าในช่วงแรก Google จะปล่อยตัว AI Bard ที่ใช้พลังงานในการประมวลผลน้อยลงกว่าตัวต้นแบบ และใช้พลังงานสะอาดในการผลิตไฟฟ้าป้อนให้กับศูนย์เก็บข้อมูลแทน ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกได้มากกว่าเดิมถึง 1,000 เท่า

อย่างไรก็ตาม นอกจากที่ AI ของทั้งสองบริษัทตกเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็ยังมีเรื่องของทักษะการโต้ตอบที่นำข้อมูลเท็จ (Misinformation) มาสู่ผู้ใช้งาน หรือมีแนวคิดไปในทางตรรกะวิบัติอีกด้วย เรียกได้ว่ากว่าที่ AI จะเข้ามาพูดคุยโต้ตอบกับเราได้ในชีวิตประจำวันนั้น ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยเวลาฝึกฝนพอสมควร เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อมและความเป็นมนุษย์

ที่มาข้อมูล: INSIDER
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง