ไทยพีบีเอสคว้า 4 รางวัลสื่อเพื่อสิทธิมนุษยชน 2565 จากแอมเนสตี้ฯ

สังคม
15 ก.พ. 66
15:23
625
Logo Thai PBS
ไทยพีบีเอสคว้า 4 รางวัลสื่อเพื่อสิทธิมนุษยชน 2565 จากแอมเนสตี้ฯ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ไทยพีบีเอสคว้า 4 รางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2565 ซึ่งจัดโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

14 ก.พ.2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดงานประกาศผลและพิธีมอบรางวัล “สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2565” (Media Awards 2022) ไทยพีบีเอสคว้า 4 รางวัล ดังนี้

ผลงานชุด “ทวงยุติธรรมคืนผืนป่า” ของ The EXIT ได้รับรางวัลชมเชยข่าวหรือสารคดีเชิงข่าว ประเภทสื่อโทรทัศน์ความยาวรวมไม่เกิน 20 นาที

The Exit ชุดทวงยุติธรรมคืนผืนป่า เป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์ “เหลื่อมล้ำอยุติธรรม” ออกอากาศในช่วงข่าวค่ำไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 26-28 สิงหาคม 2565 เปิดเผยเรื่องราวความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นจากนโยบายทวงคืนผืนป่าซึ่งทำให้มีการดำเนินคดีกว่า 57,000 คดี มีผู้ต้องหากว่า 17,000 คน บางคนแม้ไม่ถูกดำเนินคดีแต่ก็ต้องสูญเสียที่ดินทำกินนำไปสู่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับครอบครัวและสังคมโดยรวม เช่นที่บ้านยางเปาใต้ ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ที่พบว่ามีเด็กอย่างน้อย 16 คนในครอบครัวที่ได้รับกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าต้องหลุดจากระบบการศึกษา

 

ผลงาน “ผันน้ำแม่ยวม (ไม่) แก้แล้ง” รายการรู้สู้ภัย ได้รับรางวัลดีเด่นสารคดีหรือสารคดีเชิงข่าว ประเภทรายการโทรทัศน์ (ความยาวรวมไม่เกิน 60 นาที)

ผลงานเรื่อง "กาก...เศษซากจากอุตสาหกรรม” รายการรู้สู้ภัย ได้รับรางวัลชมเชยสารคดีหรือสารคดีเชิงข่าว ประเภทรายการโทรทัศน์ (ความยาวรวมไม่เกิน 60 นาที)

ผลงานชุด “ทวงคืนความยุติธรรม วาฤทธิ์ สมน้อย ต้องไม่ตายฟรี” สำนักข่าวออนไลน์ Decode ได้รับรางวัลชมเชยข่าวหรือสารคดีข่าว ประเภทสื่อออนไลน์

 

ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวในงานว่า สื่อมวลชนเปรียบเสมือนแสงเทียนที่ฉายแสงส่องให้คนในสังคมให้ตระหนักถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน และเชิญชวนให้เราต่างบ่มเพาะความเคารพซึ่งกันและกันมากขึ้น จึงเล็งเห็นความสำคัญในการสร้างกำลังใจให้กับสื่อมวลชนที่ทำงานอย่างหนักในการนำเสนอข่าวสารในแง่มุมที่คำนึงถึงการเคารพ ส่งเสริม และปกป้องสิทธิมนุษยชน ด้วยการจัดมอบรางวัลผลงานสื่อมวลชนดีเด่นด้านสิทธิมนุษยชนขึ้น

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนเคารพการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ต้องได้รับการคุ้มครอง ไม่ให้ถูกข่มขู่และคุกคาม

ในช่วงท้ายของงาน  แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนและผู้เข้าร่วมงานแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อไว้อาลัยและเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ วาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชน อายุ 15 ปี ที่เสียชีวิตจากกระสุนปืนขณะร่วมชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจนครบาลดินแดงเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 โดยระบุว่าหากเขายังมีชีวิตอยู่วันที่ 14 ก.พ.2566 จะเป็นวันครบรอบวันเกิด 17 ปี ของวาฤทธิ์ สมน้อย

 

สำหรับคณะกรรมการตัดสินผลงาน รางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2565 ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากสายสื่อมวลชนและสายสิทธิมนุษยชน

ปีนี้มีผลงานจากสื่อมวลชนเข้าชิงทั้งหมด 26 ผลงาน จาก 5 ประเภทรางวัล ได้แก่ ข่าวหรือสารคดีข่าว ประเภทสื่อออนไลน์   ข่าวหรือสารคดีเชิงข่าว ประเภทสื่อโทรทัศน์ (ความยาวรวมไม่เกิน 20 นาที)   สารคดีหรือสารคดีเชิงข่าว ประเภทรายการโทรทัศน์ (ความยาวรวมไม่เกิน 60 นาที)   ข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวที่นำเสนอในรูปแบบคลิปวิดีโอออนไลน์ และภาพถ่ายในหัวข้อ “Protect the Protest” ประเภทสื่อมวลชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง