ผู้นำสหรัฐฯ เล็งหารือผู้นำจีน กรณียิงบอลลูน

ต่างประเทศ
17 ก.พ. 66
07:46
322
Logo Thai PBS
ผู้นำสหรัฐฯ เล็งหารือผู้นำจีน กรณียิงบอลลูน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
บอลลูนจีนและวัตถุไม่ทราบชนิดอีก 3 ชิ้น ที่สหรัฐฯ ยิงทำลายไปก่อนหน้านี้ ยังคงอยู่ระหว่างการตรวจสอบ และล่าสุด ผู้นำสหรัฐฯ ระบุ จะหารือผู้นำจีนกรณีนี้ แต่ย้ำว่าจะไม่กล่าวคำขอโทษที่ตัดสินใจยิงทำลาย หรือหากได้ตัดสินใจอีกครั้งก็ยังจะเลือกทำเช่นเดิม

วันนี้ (17 ก.พ.2566) โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุว่า สหรัฐฯ ไม่ได้ต้องการจะก่อสงครามเย็น และจะหารือกับสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน กรณีบอลลูนจีนที่สหรัฐฯ เชื่อว่าเป็นบอลลูนสอดแนม รวมทั้งวัตถุไม่ทราบชนิดอีก 3 ชิ้น ที่สหรัฐฯ ยิงตกไปในช่วงต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา

ผู้นำสหรัฐฯ ยังไม่ได้ระบุว่า มีแผนจะพูดคุยหารือกับผู้นำจีนเมื่อใด แต่ย้ำว่าจะไม่กล่าวคำขอโทษที่ตัดสินใจยิงทำลายบอลลูนจีนไปก่อนหน้านี้ หรือหากให้โอกาสได้ตัดสินใจอีกครั้งก็ยังจะเลือกทำเช่นเดิม รวมทั้งยังให้คำมั่นว่า หากพบวัตถุทางอากาศใด ๆ ที่เป็นภัยคุกคามต่อประเทศจะจัดการทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่า เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ยังคงอยู่ระหว่างสืบสวน โดยตอนนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า วัตถุไม่ทราบชนิดทั้ง 3 ชิ้น คืออะไร และยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า เกี่ยวข้องกับโครงการบอลลูนสอดแนมจีน หรือเป็นยานสอดแนมจากประเทศอื่นหรือไม่ แต่เบื้องต้นเจ้าหน้าที่เชื่อว่า น่าจะเป็นบอลลูนที่เชื่อมโยงกับการสันทนาการ หรือสถาบันวิจัยต่าง ๆ ซึ่งไบเดนได้รับข้อมูลอัปเดตทุกวันและจะส่งต่อไปยังสภาคองเกรสต่อไป

ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นขณะที่มีรายงานว่าเป้าหมายของบอลลูน ซึ่งหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ชี้ว่า ถูกปล่อยจากมณฑลไห่หนานเมื่อช่วงปลายเดือน ม.ค. คือ การสอดแนมความเคลื่อนไหวทางการทหารที่เกาะกวม และฮาวาย ในมหาสมุทรแปซิฟิก แต่กระแสลมพัดบอลลูนออกนอกเส้นทางเข้าไปในแผ่นดินสหรัฐฯ ก่อนที่จะถูกยิงตกเหนือรัฐเซาท์ แคโรไลนา เมื่อวันที่ 4 ก.พ.

โดยทั้ง 2 เกาะดังกล่าวถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของสหรัฐฯ และทำหน้าที่เป็นเสมือนปราการในการคุ้มกันความมั่นคงในภูมิภาค และสหรัฐฯ สามารถใช้เกาะกวมเป็นฐานในการเข้าถึงจุดยุทธศาสตร์ในเอเชีย ตั้งแต่คาบสมุทรเกาหลี ช่องแคบไต้หวันมาจนถึงทะเลจีนใต้

จีนชี้สหรัฐฯ ควรร่วมมือไกล่เกลี่ยปมขัดแย้ง

นายหวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน ไม่ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับกรณีนี้ แต่ย้ำจุดยืนของจีน ว่า เรือเหาะพลเรือนของจีนที่ลอยเข้าไปในน่านฟ้าสหรัฐฯ เป็นเหตุสุดวิสัยโดยสิ้นเชิง และสหรัฐฯ ไม่ควรทำอะไรเกินกว่าเหตุ พร้อมทั้งระบุด้วยว่า สหรัฐฯ ควรทำงานร่วมกับจีนเพื่อจะได้จัดการยุติความขัดแย้งในกรณีนี้ได้อย่างเหมาะสม

ขณะที่ ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ของวัตถุทั้ง 3 ชนิด โดยนักฟิสิกส์บรรยากาศและศาสตราจารย์จาก Michigan Technological University ระบุว่า ปกติทั่วโลกปล่อยบอลลูนหลายร้อยลูก หรืออาจเกือบถึง 1,000 ลูกต่อวัน สำหรับการสังเกตการณ์ทางอุตุนิยมวิทยาสำหรับประเทศต่าง ๆ เพราะ เป็นวิธีที่ดีในการตรวจวัดบรรยากาศ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งหากไม่ใช่บอลลูนเพื่อการวิจัย อีกกรณีหนึ่งที่อาจเป็นไปได้ คือ วัตถุปริศนา 3 ชิ้นนี้อาจจะเป็นโดรนที่ใช้งานทั่วไปหรือโดรนเพื่อการพาณิชย์ ที่ในบางกรณีอาจบินได้สูงถึง 40,000 ฟุต แม้ว่าองค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐฯ จะห้ามไม่ให้โดรนทั่วไปบินได้สูงกว่า 400 ฟุตก็ตาม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง