บริษัทกังหันลมในเดนมาร์ก ค้นพบวิธีรีไซเคิลใบพัดกังหันลมเก่า

Logo Thai PBS
บริษัทกังหันลมในเดนมาร์ก ค้นพบวิธีรีไซเคิลใบพัดกังหันลมเก่า
รักษ์โลกไปอีกขั้นด้วยการรีไซเคิลใบพัดกังหันลมเก่า บริษัทกังหันลมเดนมาร์กคิดค้นวิธีรีไซเคิลใบพัดกังหันลม ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่รีไซเคิลได้ยากที่สุดให้สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้

ในปัจจุบันกังหันลมเป็นเครื่องมือผลิตพลังงานที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อสิ้นสุดอายุการใช้งาน กังหันลมจะถูกทำลายด้วยวิธีการฝังกลบ ไม่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อได้อีก โดยเฉพาะส่วนของใบพัด หรือใบมีด เพราะมีการใช้ Epoxy Resin เป็นส่วนประกอบสำคัญ ซึ่งเป็นสารที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีปัญหาในการแตกตัว จึงยากที่นำกลับมาใช้ได้ใหม่

บริษัทกังหันลมยักษ์ใหญ่จากประเทศเดนมาร์กคิดค้นวิธีนำใบพัดของกังหันลมให้กลับมาใช้ได้ใหม่อีกครั้ง โดยใช้วิธีการแก้ไขที่ต้นเหตุ คือ ปรับกระบวนการทางเคมีใหม่ที่สามารถสลาย Epoxy Resin ให้เป็นวัสดุเกรดบริสุทธิ์ โดยกระบวนการนี้ไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงการออกแบบหรือองค์ประกอบต่าง ๆ ของวัสดุ อีกทั้งกระบวนการทางเคมีใหม่ที่คิดค้นนั้น ยังมีศักยภาพในการปรับขนาดได้อย่างง่ายดายอีกด้วย

ในการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ บริษัทกังหันลมเดนมาร์กได้ทำงานร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเดนมาร์ก และผู้ผลิตสารเคมี Epoxy ซึ่งเป็นพันธมิตรทั้งหมดของโครงการกลุ่มความร่วมมือใหม่ของอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษา เพื่อทำโซลูชันเชิงพาณิชย์สำหรับการรีไซเคิลใบพัดกังหันลมอย่างเต็มรูปแบบ (CETEC) โดยมีเป้าหมายเพื่อการผลิตใบพัดกังหันลมใหม่ที่ทำจากวัสดุใบพัดกังหันลมเดิมที่สิ้นสุดอายุการใช้งานแล้ว

การให้ความสำคัญกับการรีไซเคิลใบพัด หรือใบมีดกังหันลมได้รับแรงผลักดันในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยผู้ผลิตพลังงานลมรายอื่น ๆ ได้เพิ่มความพยายามในการรีไซเคิลมากขึ้น แต่ก็ยังจำเป็นต้องมีสิ่งกระตุ้นเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเฉพาะกลุ่มนี้ ด้วยเหตุนี้สมาคมพลังงานลมของทวีปยุโรป (WindEurope) จึงเรียกร้องให้ออกกฎหมายห้ามทิ้งใบพัดกังหันลมโดยเด็ดขาด

หากเทคโนโลยีนี้ประสบความสำเร็จ จะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมกังหันลมในอนาคตให้มีความยั่งยืนมากขึ้นได้ โดยใบพัดกังหันลมจะถูกรีไซเคิลกลับมาใช้งานอีกครั้งแทนการฝังกลบ มีการคาดการณ์ว่าใบมีดราว 25,000 ตัน จะสิ้นสุดอายุการใช้งานภายในปี 2025 และมีปริมาณ 52,000 ตัน ภายในปี 2030 หากสามารถรีไซเคิลได้ก็จะสร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่อย่างน่าประทับใจ โดยเป็นการหมุนเวียนภายในอุตสาหกรรมด้วยการช่วยลดขยะ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

 

ที่มาข้อมูล: thenextweb, electrek
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง