สิงคโปร์เพาะเลี้ยงยุงติดเชื้อเเบคทีเรียวูลบัคเคีย ลดแพร่เชื้อโรคไข้เลือดออก

Logo Thai PBS
สิงคโปร์เพาะเลี้ยงยุงติดเชื้อเเบคทีเรียวูลบัคเคีย ลดแพร่เชื้อโรคไข้เลือดออก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของสิงคโปร์ เพาะพันธุ์ยุงลายหลายสิบล้านตัวให้ติดเชื้อแบคทีเรีย "วูลบัคเคีย" เพื่อยับยั้งการแพร่พันธุ์ ป้องกันโรค "ไข้เลือดออก" ที่พรากชีวิตคนทั่วโลก

"ไข้เลือดออก" เป็นโรคที่เราได้ยินกันมายาวนาน โดยตามรายงานของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ในแต่ละปีจะมีผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกกว่า 400 ล้านคนทั่วโลก และพรากชีวิตผู้คนไปว่า 40,000 คน จากการเป็นโรคไข้เลือดออกขั้นรุนแรง จึงถือว่าไข้เลือดออกเป็นอีก 1 โรคที่น่ากลัว และต้องให้ความรู้ในการป้องกันโรคไข้เลือดออกอยู่เสมอ รวมถึงมีการอัปเดตวิธีการใหม่ ๆ ในการแก้ไขและป้องกันการเกิดโรคไข้เลือดออก

ยุงทุกตัวของสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสิงคโปร์ (NEA) ล้วนแต่เป็นยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่สามารถแพร่เชื้อไวรัสไปยังมนุษย์ ที่เป็นตัวการให้เกิดโรคไข้เลือดออกได้ แต่ยุงลายบ้านที่เพาะพันธุ์นี้ปราศจากโรค เนื่องจากเป็นการเพาะพันธุ์เพื่อหยุดการแพร่กระจายเชื้อไวรัส โดยการให้ยุงลายที่เพาะเลี้ยงนั้นสัมผัสกับแบคทีเรียที่เรียกว่า วูลบัคเคีย (Wolbachia) ซึ่งจะส่งต่อไปยังยุงรุ่นต่อไปเพื่อพยายามหยุดยั้งการติดเชื้อไวรัสร้ายแรง

วูลบัคเคีย เป็นแบคทีเรียที่มีอยู่ทั่วไปในธรรมชาติ พบในแมลงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของสายพันธุ์แมลงทุกชนิดทั่วโลก แต่ไม่พบแบคทีเรียชนิดนี้ในยุงลายบ้าน เมื่อนักวิทยาศาสตร์เลี้ยงยุงลายบ้านให้ติดเชื้อแบคทีเรียวูลบัคเคีย จะทำให้ยุงลายบ้านเหล่านี้ไม่สามารถแพร่เชื้อไวรัสที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกไปสู่มนุษย์ได้อีก รวมถึงแบคทีเรียชนิดนี้ยังสามารถป้องกันการแพร่พันธุ์ของยุงลายบ้านได้ โดยหากยุงตัวผู้ผสมพันธุ์กับยุงตัวเมียที่ไม่ติดเชื้อแบคทีเรียวูลบัคเคีย ยุงตัวเมียจะวางไข่ที่ไม่ฟักเป็นตัว ทำให้ยุงแพร่พันธุ์ได้น้อยลง

ทั้งนี้ ยุงลายบ้านอาจแพร่พันธุ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อทั้งตัวผู้และตัวเมียติดเชื้อแบคทีเรียวูลบัคเคีย เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้ นักวิจัยของสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสิงคโปร์ จึงใช้เครื่องคัดแยกเพศดักแด้ที่มีระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้แยกตัวเมียออกจากตัวผู้ก่อนที่ตัวผู้จะติดเชื้อ และปล่อยตัวผู้ออกไปสู่ธรรมชาติ

การทำให้ยุงติดเชื้อแบคทีเรียวูลบัคเคียนั้น ถูกนำมาใช้ทั่วโลกมานานกว่าทศวรรษ และสามารถลดการเกิดใหม่ของยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกได้จริง แต่ทั้งนี้ยังคงเป็นเรื่องยากที่จะผลิตยุงลายที่ติดเชื้อแบคทีเรียจำนวนมาก ถึงแม้ว่านักวิจัยของสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของสิงคโปร์จะปรับเปลี่ยนขั้นตอนบางอย่างให้เป็นระบบอัตโนมัติ แต่ก็ยังเป็นเรื่องยากที่ครอบคลุมผู้คนนับพันล้านคนที่อาศัยอยู่ในเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกได้

ที่มาข้อมูล: interestingengineering, undark
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง