ยาบ้า 1 เม็ด เสพหรือค้า ?

อาชญากรรม
3 มี.ค. 66
16:13
8,532
Logo Thai PBS
ยาบ้า 1 เม็ด เสพหรือค้า ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การใช้ยาบ้า 1 เม็ด ใช้เป็นเกณฑ์แบ่งความผิดระหว่างครอบครองเพื่อเสพกับค้า เป้าหมายเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย จะทำให้คดีเกี่ยวกับยาเสพติดลดลงได้หรือไม่ ยังเป็นข้อถกเถียงอยู่ในขณะนี้

ยาบ้า 1 เม็ด เกณฑ์แบ่งความผิดเสพหรือค้า

เมื่อการคุมขังผู้ต้องหาคดียาเสพติดไม่ใช่ทางออกอีกต่อไป เป้าหมายสำคัญในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ณ วันนี้ จึงอยู่ที่การเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย

ปี 2564 มีการรวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดที่กระจัดกระจายอยู่กว่า 21 ฉบับ เป็นพระราชบัญญัติ 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2564

และเพื่อให้สอดรับกับประมวลกฎหมายยาเสพติด จึงกำหนดให้กระทรวงสาธารณสุขออกร่างกฎกระทรวง เพื่อกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. ... ที่ยังมีข้อถกเถียงกันโดยเฉพาะประเด็นยาบ้า 1 เม็ด หรือปริมาณสารบริสุทธิ์ไม่เกิน 0.1 กรัม

หากร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ประกาศใช้ ผู้ต้องหาที่ครอบครองยาบ้า 1 เม็ด จะเน้นให้เข้าระบบสมัครใจบำบัดแทนการดำเนินคดี แต่หากครอบครองยาบ้า 1 เม็ดขึ้นไป จะถูกตั้งข้อหามียาเสพติดในครอบครอง ส่วนจะเป็นการครอบครองเพื่อเสพหรือเพื่อค้าขึ้นอยู่กับเจตนา หลักฐาน และพฤติการณ์ของผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนต้องมีหลักฐานพิจารณาได้ว่าเป็นการครอบครองเพื่อค้าหรือไม่ ขณะที่ผู้ต้องหาสามารถนำพยานหลักฐานต่อสู้ในชั้นศาลได้เช่นกัน

 

นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) บอกว่า ในร่างกฎกระทรวงฯ ระบุให้มีคำว่า “สันนิษฐาน” เอาไว้ เพื่อให้เจ้าพนักงานสามารถแยกพฤติกรรมของผู้เสพ ผู้ครอบครอง หรือผู้ค้าได้ ไม่ได้ดำเนินคดีกับผู้เสพหมดทุกกรณี

เพื่อให้มีเส้นเขตหรือเป็นมาตรฐานให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นคนกำหนด มีแนวคิดว่า มี 1 เม็ดคือมีไว้ในครอบครอง ถามว่าก่อนว่าสมัครใจบำบัดไหม ถ้าเขาสมัครใจบำบัดก็เอาเข้าไปที่ศูนย์คัดกรองของสาธารณสุข แต่ถ้ามีเกิน 1 เม็ด ต้องถูกดำเนินคดีทุกคน ไม่ให้สิทธิเลือกว่าจะบำบัดหรือไม่

แม้อาจทำให้จำนวนคดีเพิ่มขึ้น เพราะการกำหนดเกณฑ์จำนวนเม็ดยาบ้าจำนวนเพียง 1 เม็ดขึ้นไปต้องดำเนินคดีทุกคน แต่เลขาธิการ ป.ป.ส. ระบุว่า เป็นการให้อำนาจศาลมากขึ้นเพื่อใช้ดุลยพินิจพิจารณาว่าการกระทำแบบใดจัดเป็นการครอบครองยาเสพติดไว้เพื่อเสพหรือจำหน่าย ไม่ได้ตัดสินโทษจากปริมาณครอบครองเท่านั้น จากกฎหมายเดิมก่อนปี 2564 ที่แบ่งเกณฑ์ข้อหาครอบครองเพื่อจำหน่ายจากปริมาณการครอบครองจำนวน 15 เม็ดหรือปริมาณสารเมทแอมเฟตามีน 375 มิลลิกรัมขึ้นไป

ต้องการแยกระหว่างผู้เสพกับผู้ค้า ผู้เสพถือเป็นผู้ป่วยจะต้องเข้าระบบบำบัด ตัดสินจากพฤติการณ์เป็นหลัก บางคนครอบครอง 10 เม็ดอาจเพราะมีเงินซื้อตุนไว้เสพไม่ได้ไปขาย ถือว่าเป็นผู้เสพ แต่หากเขามีพฤติกรรมเป็นคนค้า ไม่ทำอาชีพอะไรเลย ขายยาบ้าให้เด็กในชุมชน แม้ขณะถูกจับจะมีของกลางยาบ้าเพียงเม็ดเดียว อย่างนี้เป็นผู้ค้าไม่ใช่ผู้เสพ

มองต่างมุมจำนวนเม็ดยาบ้า

สถิติกรมราชทัณฑ์รายงานจำนวนนักโทษเด็ดขาด วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 มีนักโทษที่เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติดมากกว่าร้อยละ 80 จากนักโทษความผิดทุกคดีจำนวนกว่า 210,000 คน และเกินครึ่งรับโทษความผิด ‘ครอบครองเพื่อจำหน่าย’

ผศ.ดร.นพ. อภินันท์ อร่ามรัตน์ ผอ.ศูนย์วิชาการยาเสพติดภาคเหนือ ม.เชียงใหม่ บอกว่า ที่ผ่านมากฎหมายไม่สามารถแยกผู้ค้ารายย่อยกับผู้ค้ารายใหญ่ออกจากกัน ไม่สามารถแยกผู้เสพออกจากผู้ค้า การลงโทษจึงกวาดทุกคนไปรวมไว้ด้วยกันหมด การใช้ยาบ้า 1 เม็ดเป็นเกณฑ์แบ่งความผิด อาจทำให้มีคดีเกี่ยวกับยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการพิจารณาเพิ่มขึ้น ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ต้องการลดจำนวนคดี และลดความเป็นอาญา

การมีจำนวนเม็ดมาเป็นองค์ประกอบอาจทำให้มีน้ำหนักมากขึ้น เปิดช่องให้ศาลใช้ดุลพินิจได้ แต่ในวงวิชาการไม่สนับสนุนให้ระบุจำนวนเม็ด เพราะไม่มีมาตรฐาน ลดลงมาจากเกณฑ์กฎหมายเดิม 15 เท่า เหลือ 0.1 กรัม ผมไม่แน่ใจว่าการครอบครองมากกว่าจำนวนนี้ จะมีโทษทางอาญาเลยหรือ เดือดร้อนสังคมมากขนาดนั้นหรือ 


ขณะนี้ ร่างกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อเตรียมเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

คุม “โซเดียมไซยาไนด์” สารตั้งต้นยาเสพติด

สารโซเดียมไซยาไนด์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำ เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ภายใต้ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย 2535 เป็นสารเคมีใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำ แต่กลับพบการนำไปใช้เป็นสารตั้งต้น ผลิตยาบ้าและไอซ์

ข้อมูลจาก ป.ป.ส. ระบุว่า โซเดียมไซยาไนด์ 1 กิโลกรัม ราคา 100 บาท ผลิตยาบ้าได้ 22,000 เม็ด และผลิตไอซ์ได้ 0.44 กิโลกรัม ปี 2565 มีการขออนุญาตนำเข้า 1,150 ตัน ปริมาณส่งออกไปเมียนมา 810 ตัน ขออนุญาตใช้ภายในประเทศกว่า 300 ตัน ในจำนวนนี้ ป.ป.ส. ตรวจสอบพบว่าปริมาณการใช้จริงไม่ตรงกับที่ปริมาณที่ขออนุญาตนำเข้า

 

นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. เปิดเผยว่า โซเดียมไซยาไนด์ถูกใช้เป็นสารตั้งต้นผลิตยาเสพติด นอกจากนี้ การตรวจค้นโรงงานผลิตยาเสพติดของเมียนมา พบโซเดียมไซยาไนด์ในแหล่งผลิตสามเหลี่ยมทองคำปริมาณหลายตัน จึงเป็นเหตุให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้ระงับการนำเข้า-ส่งออก ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565

20 มกราคม 2566 กรมโรงงานอุตสาหกรรมประกาศหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตให้นำเข้าสารโซเดียมไซยาไนด์ สารเบนชิลไซยาไนด์ และสารเบนชิลคลอไรด์ เข้ามาหรือจำหน่ายเพื่อใช้ภายในประเทศ หลังจากกระทรวงยุติธรรมพบพฤติการณ์ของกลุ่มผู้ผลิตยาเสพติดพยายามนำเข้าสารเคมีดังกล่าวจากประเทศต่างๆ ไปยังแหล่งผลิตยาเสพติดสามเหลี่ยมทองคำ

เลขาธิการ ป.ป.ส.ให้ข้อมูลว่า ในการประชุมทวิภาคี ไทย-เมียนมา เรื่องความร่วมมือด้านการป้องกันและปรับปรามยาเสพติด เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 เมียนมามีรายงานจับผู้ต้องหา พร้อมยึดสารโซเดียมไซยาไนด์ และเบนซิลไซยาไนด์ ปริมาณมากจากแหล่งผลิตยาเสพติดสามเหลี่ยมทองคำ

เบนซิลไซยาไนด์เกิดจากสูตรทางเคมีที่ผสมกันระหว่างโซเดียมไซยาไนด์กับเบลซิลคลอไรด์ เป็นเหตุให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้ระงับการนำเข้า-ส่งออก สารเคมี 3 ชนิด คือ โซเดียมไซยาไนด์ เบลซิลคลอไรด์ และ เบนซิลไซยาไนด์ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งเป็นการสกัดกั้นเคมีภัณฑ์ตั้งต้นยาเสพติดที่ได้ผล หลังจากไทยไม่อนุญาตให้นำผ่าน

ในการประชุมทวิภาคีแก้ไขปัญหายาเสพติด ผู้แทนของสำนักงานปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลกลางสหรัฐ หรือ DEA แสดงความชื่นชมและขอบคุณประเทศไทยที่มีความพยายามสกัดกั้นสารตั้งต้นผลิตยาบ้า แม้มีข้อมูลว่าโซเดียมไซยาไนด์ยังถูกส่งเข้าพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำจากประเทศข้างเคียงอื่น

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง