สัมภาษณ์พิเศษ : ผู้อำนวยความสะดวกพูดคุยสันติสุข “เราเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้ว”

การเมือง
3 มี.ค. 66
20:27
326
Logo Thai PBS
สัมภาษณ์พิเศษ : ผู้อำนวยความสะดวกพูดคุยสันติสุข “เราเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้ว”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

พล.อ.ซุลกิฟลี ไซนัล อบิดิน ผู้อำนวยความสะดวกพูดคุยของมาเลเซีย มั่นใจการพูดคุยสันติสุข กำลังปูทางไปสู่การยุติความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ของไทย แต่เรียกร้องให้ทุกฝ่ายเปิดใจและพร้อมรับความเห็นที่แตกต่างในกระบวนการเจรจา

“ประชาชนที่ผมพูดคุยด้วยเชื่อว่าเราเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้ว” พล.อ.ซุลกิฟลีกล่าว ระหว่างการให้สัมภาษณ์พิเศษกับ Thai PBS World ซึ่งเป็นบริการข่าวภาคภาษาอังกฤษ ของไทยพีบีเอส ระหว่างการเยือนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา

พล.อ.ซุลกิฟลีมั่นใจว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะทางกลุ่มบีอาร์เอ็น ได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะร่วมกันแสวงหาทางออกอย่างสันติ ให้กับความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนของไทย ตามข้อตกลงที่บรรลุในระหว่างการพูดคุยสันติสุข ที่มาเลเซียเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา

โดยมี พล.อ.ซุลกิฟลี เป็นผู้อำนวยความสะดวก และมีตัวแทนของรัฐบาลไทยนำโดย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เป็นหัวหน้าคณะและตัวแทนจากบีอาร์เอ็นเข้าร่วม

แต่ พล.อ.ซุลกิฟลีเรียกร้องให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรง เปิดใจรับฟังความเห็นต่าง และเปิดรับการมีส่วนร่วมของกลุ่มคนในพื้นที่โดยคำนึงถึงความแตกต่างและความหลากหลายทางศาสนา วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์

“ทุกคนต้องใจกว้าง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า คุณสามารถโต้แย้งในสิ่งที่คุณไม่เห็นด้วย ในบางเรื่องได้ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์แบบ “วิน-วิน” ที่ทุกคนได้ ไม่ใช่มีผู้ชนะแต่ผู้เดียว นั่นคือสิ่งที่ทุกคนต้องตระหนัก และมันต้องมาจากหัวใจเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย นั่นคือสันติภาพ ซึ่งหมายความว่าต้องพร้อมที่จะได้และพร้อมที่จะเสียด้วย” พล.อ.ซุลกิฟลี กล่าว

หลังจากได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติสุข โดยนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม พล.อ.ซุลกิฟลี ได้พบกับตัวแทนกลุ่มแยกดินแดน ไม่ว่าจะเป็นพูโล มารา ปาตานี หรือบีอาร์เอ็นที่พำนักอยู่ในมาเลเซีย

เพราะฉะนั้นจึงควรเดินทางมาพื้นที่ชายแดนไทยเพื่อฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากกลุ่มต่าง ๆ เพื่อสร้างมั่นใจต่อกระบวนการเจรจา

พล.อ.ซุลกิฟลี พูดถึงเหตุผลที่เดินทางมาเยือนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

เทพชัย หย่อง จาก Thai PBS World สัมภาษณ์พิเศษ คำต่อคำ พล.อ.ซุลกิฟลี ไซนัล อบิดิน ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติสุขของมาเลเซีย

ไทยพีบีเอส: อะไรคือเป้าหมายของท่านในการมาเยือนพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทย

พล.อ ซุลกิฟลี : ก่อนหน้าผู้คนไม่ค่อยมีความมั่นใจต่อกระบวนการพูดคุยและบทบาทของมาเลเซียในการอำนวยความสะดวก สิ่งแรกที่ผมทำหลังจากรับบทบาทนี้คือการทำความเข้าใจกับสถานการณ์

ผมได้ไปพบกับกลุ่มต่าง ๆ ที่มีตัวแทนอยู่ในมาเลเซีย ไม่ว่าจะเป็นบีอาร์เอ็น พูโล หรือกลุ่มมารา ปาตานี เพราะฉะนั้นผมจึงควรที่จะมาพบกับคนในภาคใต้ประเทศไทยเพื่อฟังความเห็นด้วย เป้าหมายคือการสร้างความมั่นใจต่อกระบวนการพูดคุย

ผมได้เห็นท่าทีที่เป็นบวกจากทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ ผู้คนตามท้องถนน เช้าวันนี้ผมไปกินโรตีในตลาดแห่งหนึ่ง ทุกคนดูเหมือนจะรู้จักผม และแสดงความยินดีที่ผมมาเยือน ผมพูดได้ว่า ผู้คนกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่ามีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้ว และคนที่เชื่อแบบนี้ก็มีมากขึ้นทุกทุกที

ไทยพีบีเอส: ในเวลาสามวันท่านได้พบกับผู้คนหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นชุมชนมุสลิม ชาวพุทธ เจ้าหน้าที่ เอ็นจีโอ และนักวิชาการ อะไรเป็นข้อเสนอแนะที่สำคัญที่สุดที่ท่านได้รับ และจะมีประโยชน์อย่างไรต่อกระบวนการพูดคุย

พล.อ ซุลกิฟลี : มีประโยชน์อย่างมาก ทุกคนพร้อมจะให้ข้อเสนอแนะ พวกเขาอยากส่งเสียงและมีส่วนร่วมในกระบวนการ ผมคิดว่าควรต้องมีกลไกให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมและมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ มันไม่ควรเป็นบทบาทของผู้อำนวยความสะดวกอย่างเดียว ทุกคนควรมีส่วนร่วม

ไทยพีบีเอส: ท่านคิดว่าจะต้องเดินหน้าอย่างไรต่อไปเพื่อสิ่งที่ตกลงกันบนโต๊ะพูดคุยล่าสุดที่กัวลาลัมเปอร์มีการสานต่อ

พล.อ.ซุลกิฟลี : มีสามประเด็นหลักใน “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติภาพแบบองค์รวม” (Joint Comprehensive Plan towards Peace) อันดับแรก คือการหยุดความรุนแรงที่ทั้งสองฝ่ายต้องมีข้อตกลงร่วมกัน ต้องเคารพในหลักกฎหมายและมีกลไกติดตาม และทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องรับรู้ในข้อตกลงนี้ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องเกิดขึ้นในการหารือเฉพาะ เพราะมีเรื่องของกฎหมายและความลับของบีอาร์เอ็นที่เกี่ยวข้อง

ถ้าหากบรรลุข้อตกลงเรื่องการหยุดความรุนแรงได้ อันดับต่อไปคือการหารือกับสาธารณะ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาและความพยายามที่เจ้าหน้าที่และประชาชนท้องถิ่นต้องเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อแสดงเจตนารมณ์ในสิ่งที่ต้องการ

ที่สำคัญคือคำถามที่ควรถามคืออะไร ถ้าเป็นคำถามผิด เราก็จะได้คำตอบที่ผิด และนั่นจะเป็นปัญหา เราคงต้องใช้เวลาในการกำหนดประเด็นและยุทธศาสตร์สำหรับกระบวนการนี้ อาจจะเร็วไปที่จะให้ความเห็นเรื่องนี้ แต่ก็ได้เห็นหลายประเด็นที่มีการพูดคุยกันก่อนหน้านี้ เช่นเรื่องการศึกษา เรื่องเอกลักษณ์ เรื่องศาสนา เรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ไทยพีบีเอส : คิดว่าทั้งหมดนี้สามารถทำให้สำเร็จได้ในกรอบเวลาสองปีตาม “โรดแม็พ” หรือไม่

พล.อ ซุลกิฟลี : สองปีเป็นกรอบเวลาที่ดีแล้ว แต่หมายความทุกคนต้องใจกว้าง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า คุณสามารถโต้แย้งในสิ่งที่คุณไม่เห็นด้วย ในบางเรื่องได้ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์แบบ “วิน-วิน”

ที่ทุกคนได้ ไม่ใช่มีผู้ชนะแต่ผู้เดียว นั่นคือสิ่งที่ทุกคนต้องตระหนัก และมันต้องมาจากหัวใจ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย นั่นคือสันติภาพ ซึ่งหมายความว่าต้องพร้อมที่จะได้และพร้อมที่จะเสียด้วย

ไทยพีบีเอส: ท่านมั่นใจว่าได้เห็นความมุ่งมั่นจากทั้งสองฝ่าย?

พล.อ.ซุลกิฟลี : ใช่แล้ว ผมถึงได้บอกว่าผมได้เห็นสัญญาณบวกในทุกการสนทนา ในทุกการแสดงออก มันไม่ใช่เป็นดรามา แต่เป็นสิ่งที่สัมผัสได้ ผมมีความมั่นใจว่าเราสักวันหนึ่งเราจะได้ข้อยุติ

ไทยพีบีเอส : แต่ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดคือการยุติความรุนแรง เดือนรอมฎรดอนที่กำลังจะมาถึงน่าจะเป็นบททดสอบที่ดี

พล.อ.ซุลกิฟลี : มันขึ้นอยู่กับทั้งรัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็น ทั้งสองฝ่ายเข้าใจดีถึงความอ่อนไหวของเรื่องนี้ และต้องพยายามหาทางประนีประนอม และมีความอดทนทั้งในพื้นที่และในความคิด นั่นคือเหตุผลที่ผมบอกว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องใจกว้าง ทั้งหมดขึ้นอยู่กับต้องสองฝ่าย ส่วนผมมีหน้าที่เพียงอำนวยความสะดวก ไม่มีบทบาทอะไรมากไปกว่านั้น

ไทยพีบีเอส: ในเจรจาที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ตัวแทนบีอาร์เห็นชอบให้มีตัวแทนจากกลุ่มก่อความไม่สงบอื่นๆ เข้าร่วมการเจรจาในอนาคต กลุ่มอื่น ๆ ที่ว่านี้เป็นกลุ่มไหนบ้างและจะมีการจัดการให้เข้ามาร่วมได้อย่างไร

พล.อ ซุลกิฟลี : นายกรัฐมนตรีอันวาร์ได้ย้ำว่า การสร้างการมีส่วนร่วมเป็นวาระสำคัญของการเจรจา ตัวแทนบีอาร์เอ็นบอกผมว่า พร้อมให้ตัวแทนกลุ่มอื่นเข้ามาร่วมด้วย แต่จะร่วมด้วยกี่คนหรือในรูปแบบไหนเป็นรายละเอียดที่ต้องหารือกัน

ภารกิจแรกของผมคือ การทำให้ทั้งสองฝ่ายเห็นด้วยกับ “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติภาพแบบองค์รวม” นั่นคือกุญแจสำคัญ และเป็น “โรดแม็พ” เพื่อเดินไปข้างหน้า จากนี้ไปคงจะมีการหารือว่าจะมีการเปิดให้ฝ่ายอื่น ๆ เข้ามาร่วมอย่างไร ซึ่งผมเชื่อว่าจะมีข้อตกลงได้

ไทยพีบีเอส : มีคำถามว่าตัวแทนบีอาร์เอ็นที่ร่วมโต๊ะเจรจา สามารถควบคุมฝ่ายปฏิบัติการในภาคพื้นดินของกลุ่มก่อความไม่สงบได้แค่ไหน เพราะสุดท้ายแล้วสถานการณ์ในพื้นที่จะเป็นตัวทดสอบสิ่งที่ตกลงกันบนโต๊ะว่ามีผลแค่ไหน

พล.อ.ซุลกิฟลี : บทเรียนจากกระบวนการเจรจาสันติภาพในมินดาเนา (ฟิลิปปินส์) และอาเจะห์ (อินโดนิเซีย) บอกเราว่า ทุกอย่างมันไม่ง่าย มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะควบคุมฝ่ายปฏิบัติการภาคพื้นดิน บางครั้งเกิดความผิดพลาดในการสื่อสาร บางครั้งเกิดความเข้าใจผิด และบางครั้งอารมณ์ก็เหนืออยู่คำสั่ง

ผมได้บอกกับบีอาร์เอ็น ให้ทำความเข้าใจกับฝ่ายปฏิบัติการต่อเป้าหมายของการเจรจา และถ้าพวกเขาเข้าใจใน “โรดแม็พ” และสิ่งที่รออยู่ข้างหน้า ผมเชื่อเราสามารถหยุดยั้งความรุนแรงได้ ผมได้สื่อสารกับ พล.อ. วัลลภ รักเสนาะ (หัวหน้าพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย) ว่า ทั้งสองฝ่ายต้องปฏิบัติในแนวเดียวกันเพื่อให้เกิดความมั่นใจ

ไทยพีบีเอส : มีข้อเสนอจากคนบางกลุ่มในพื้นที่ให้มาเลเซียยกระดับจากการเป็นผู้อำนวยความสะดวกขึ้นเป็นผู้ไกล่เกลี่ยในกระบวนการเจรจา เป็นไปได้แค่ไหน

พล.อ.ซุลกิฟลี : มันขึ้นอยู่กับประเทศไทย บทบาทของมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกเกิดจากข้อเสนอของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระหว่างที่เยือนมาเลเซียในปี 2013 แต่คำถามผมคือถ้าบทบาทผู้อำนวยความสะดวกได้ผล มันมีความจำเป็นอย่างไรที่ต้องปรับเปลี่ยนบทบาท ถ้าเราบรรลุเป้าหมายได้ เราก็น่าจะเดินหน้าไปกับสิ่งที่มีอยู่

ไทยพีบีเอส: ถ้ามันได้ผลก็น่าเดินหน้าในแบบนั้นต่อไป?

พล.อ.ซุลกิฟลี : ถูกแล้ว ถ้าเครื่องไม่เสียก็ไม่จำเป็นต้องซ่อม

ไทยพีบีเอส: นายกรัฐมนตรีอันวาร์คาดหวังอะไรจากท่านตอนที่ทาบทามท่านให้มาเป็นผู้อำนวยความสะดวก

พล.อ.ซุลกิฟลี : ท่านบอกให้ผมมาทำหน้าที่อำนวยความสะดวก อันดับแรกย้ำว่า มันเป็นเรื่องภายใน (ของประเทศไทย) และสองต้องสร้างความมั่นใจต่อบทบาทของมาเลเซียในการอำนวยความสะดวกการเจรจา สร้างการมีส่วนร่วม มีความโปร่งใส และเราต้องไม่มีวาระซ่อนเร้น

ท่านบอกให้ผมทำทุกอย่างเพื่อให้มีความคืบหน้า เพราะยังไง ๆ ประเทศไทยก็เป็นเพื่อนที่ใกล้ชิดที่สุดของเรา มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกัน จึงต้องร่วมมือกันเพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้นและมีสันติภาพที่นิรันดร์

สัมภาษณ์โดย เทพชัย หย่อง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง