วิกฤตเกษตรกรโคนม ลุ้นปรับราคาน้ำนมดิบ-แก้อาหารวัวแพง

เศรษฐกิจ
4 มี.ค. 66
20:52
2,752
Logo Thai PBS
วิกฤตเกษตรกรโคนม ลุ้นปรับราคาน้ำนมดิบ-แก้อาหารวัวแพง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แม้ว่าปลายปีที่ผ่านมา มีการปรับเพิ่มราคาน้ำนมดิบ แต่เกษตรกรโคนมก็บอกว่าแทบไม่มีผล เพราะราคาอาหารสัตว์ก็แพงขึ้นเช่นกัน ล่าสุดปีนี้ ได้เรียกร้องให้มีการปรับราคาเพิ่มอีกครั้ง และคาดว่าจะมีการนำเข้าที่ประชุมมิลค์บอร์ดในวันที่ 14 มี.ค. นี้

แม้ว่าวันที่ 1 ต.ค. 2565 จะมีการปรับเพิ่มราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบหน้าโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม กิโลกรัมละ 1.50 บาท ซึ่งเป็นการปรับราคาในรอบ 8 ปี ตามมติคณะรัฐมนตรี

แต่ผ่านมา 5 เดือน เกษตรกรโคนมก็ออกมาบอกว่าแทบไม่มีผล เพราะต้นทุนอย่างอาหารสัตว์ก็ปรับแพงขึ้นเช่นกัน

ล่าสุด พวกเขาเรียกร้องให้มีการปรับราคาเพิ่มอีกครั้ง และคาดว่าจะมีการนำข้อเรียกร้องนี้ เข้าที่ประชุมมิลค์บอร์ดในวันที่ 14 มี.ค.2566 พร้อมขอให้ภาครัฐเร่งแก้ปัญหาอาหารสัตว์ที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง หลังเกษตรกรแบกรับปัญหาขาดทุน ทยอยเลิกเลี้ยง ค้างจ่ายหนี้สหกรณ์

เป็นหนี้สหกรณ์โคนมขอนแก่น เฉพาะค่าอาหารสัตว์ 5 หมื่นกว่าบาท หนี้อย่างอื่นก็มีรวมๆก็ 4 แสนกว่าบาท ที่เลี้ยงต่อก็เพราะอยากหาเงินใช้หนี้ เพราะถ้าเลิกเลี้ยง ถึงขายวัวหมดคอก ก็ไม่มีเงินพอใช้หนี้สหกรณ์อยู่ดี เพราะวัวราคาถูก จากตัวละ 3 หมื่นบาท เหลือหมื่นต้นๆ

บุญช่วย บาอุ้ย เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม จ.ขอนแก่น กล่าว

เขายังยืนยันว่า ภาระหนี้สิน เป็นเหตุผลสำคัญที่เกษตรกรยังทำอาชีพนี้ เพราะหวังว่า ภาครัฐจะปรับราคารับซื้อน้ำนมดิบให้สูงขึ้น และแก้ปัญหาราคาอาหารสัตว์ ไม่ให้แพงไปมากกว่านี้

ที่ผ่านมาเกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น แต่รายได้ขาดทุน ผลผลิตน้ำนมดิบมีปริมาณน้อยลง และคุณภาพต่ำขายไม่ได้ เพราะวัวป่วยด้วยโรคระบาด

ทั้งปากเท้าเปื่อย และลัมปีสกิน เกษตรกรหลายคนจึงทยอยเลิกเลี้ยงโคนม และค้างจ่ายหนี้สหกรณ์โคนมขอนแก่น รวมกว่า 10 ล้านบาท

คำพันธ์ ไชยหัด ประธานกรรมการสหกรณ์โคนมขอนแก่น จำกัด เปิดเผยว่า มีสมาชิกสหกรณ์กว่า 20 คนที่เลิกเลี้ยงวัว ทำให้สหกรณ์ต้องแบกรับหนี้สินและดอกเบี้ยรวมกว่า 10 ล้านกว่าบาท ซึ่งเงินกู้ที่ให้กับเกษตรกร ทางสหกรณ์ก็ไปกู้มาจาก ธกส. และกรมส่งเสริมสหกรณ์ สาเหตุที่เกษตรกรเป็นหนี้ เพราะต้องพัฒนาฟาร์มให้ได้มาตรฐานของกรมปศุสัตว์ จึงจะสามารถขายน้ำนมดิบให้กับโครงการนมโรงเรียนได้

ในปีนี้ชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย ได้เรียกร้องขอปรับราคาน้ำนมดิบเพิ่มอีก ส่วนเกษตรกรก็ขอให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคาอาหารสัตว์ รวมทั้งให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อพัฒนาฟาร์ม

แม้ว่าเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา มีการปรับเพิ่มราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบหน้าโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม กิโลกรัมละ 1.50 บาท จากเดิม 19 บาท เป็น 20.50 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ปรับราคาน้ำนมเพิ่มก็ไม่มีผลใดๆ เพราะราคาอาหารสัตว์ก็เพิ่มสูงต่อเนื่องเช่นกัน

ส่วนสหกรณ์โคนมที่รับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรไปผลิตนมโรงเรียน ก็อ้างว่า ต้องเพิ่มต้นทุนการรับซื้อแต่ขายขาดทุนถึง 3 เดือน เพราะแม้จะปรับราคาน้ำนมดิบแล้วก็จริง แต่เพิ่งมีการปรับราคานมโรงเรียนเมื่อต้นเดือนมกราคม ที่ผ่านมา

ไม่ใช่แค่สหกรณ์โคนมขอนแก่นที่เผชิญปัญหานี้ แต่สหกรณ์โคนมอีกหลายแห่งก็มีสภาพไม่ต่างกัน และบางแห่งต้องปิดกิจการ ขายทรัพย์สินเพื่อใช้หนี้สินทั้งหมด เพราะไม่มีเกษตรกรเลี้ยงโคนมแล้ว

ล่าสุดมีข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการจากเครือข่ายผู้เลี้ยงโคนม ว่า ในปี 2565 มีฟาร์มโคนมเกือบ 6,000 แห่งต้องปิดกิจการ และขายโคนมแม่รีดเข้าโรงเชือด ส่วนใหญ่เป็นฟาร์มขนาดเล็ก หรือเกษตรกรรายย่อยที่ขาดเงินทุนที่จะพัฒนาฟาร์ม หรือฟื้นฟูกิจการต่อ

พวกเขามองว่า หากภาครัฐไม่ช่วยเหลือ อาชีพเลี้ยงโคนมจะเป็นอาชีพสำหรับผู้ที่มีเงินทุน หรือสามารถทำฟาร์มขนาดใหญ่เท่านั้น เกษตรกรรายย่อยต้องปรับไปทำอาชีพอื่น เพื่อหาเงินใช้หนี้สินจากการเลี้ยงโคนม

ย้อนไปเมื่อวันที่ 23 ก.พ.ที่ผ่านมา นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมรับฟังและหารือการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมกว่า 60 คน จากชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย ทั้ง 5 ภาค ในประเด็นการแก้ไขปัญหาราคาต้นทุนอาหารสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้น

และการขอปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบชั่วคราว เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้รับข้อมูลเบื้องต้นจากชุมนุมสหกรณ์ฯ เพื่อเร่งรัดกระบวนการดำเนินงานและจะพิจารณา

ต่อมามีรายงานอย่างไม่เป็นทางการว่า ในวันที่ 28 ก.พ. มีการประชุมคณะทำงานจัดทำต้นทุนการผลิตน้ำนมโค เพื่อคำนวณต้นทุนการผลิตน้ำนม คาดว่าจะมีการนำเสนอตัวเลขต้นทุนการผลิตน้ำนมโค ต่อคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือ มิลค์บอร์ด ในวันที่ 14 มี.ค.นี้ ซึ่งกลุ่มเกษตรกรโคนมคาดหวังว่าจะมีมติเห็นชอบการปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบ และเสนอเข้า ครม.พิจารณาต่อไป

ส่วนอีกประเด็นที่เครือข่ายเกษตรกรโคนมให้ข้อมูลว่า พวกเขาต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ กระบวนการคัดเลือกผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2566

หลังนายสมชวน รัฒนมังคลานนนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะประธานอนุกรรมการบริหารกลางโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ได้ลงนามประกาศ ณ วันที่ 3 มี.ค. 2566 เรื่อง ขยายระยะเวลารับแบบแสดงคุณสมบัติผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2566

ซึ่งตามที่ได้มีประกาศคณะอนุกรรมการเดิมได้กำหนดให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2566 สามารถยื่นแบบแสดงคุณสมบัติเพื่อเข้าร่วมโครงการได้ ระหว่างวันที่ 24 ก.พ.-3 มี.ค.2566 (5 วัน) เวลา 08.00-16.30 น. ณ สำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ ศูนย์ราชการกรมปศุสัตว์ จ.ปทุมธานีนั้น

เพื่อให้การดำเนินการรับแบบแสดงคุณสมบัติผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงใด้ขยายระยะเวลาในการรับแบบแสดงคุณสมบัติผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการอาหารเสริม(นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2566 ออกไปจนถึงวันที่ 7 มี.ค.2566 รวมวันหยุดราชการ (เวลา 08.00-16.30 น.)

ซึ่งหากมีการปรับราคาน้ำนมดิบขึ้นอีก ก็จะส่งผลต่องบประมาณที่จะใช้จัดซื้อนมโรงเรียน กลุ่มเกษตรกรโคนมจึงเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นระบบ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง