มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฟ้องศาลฯ เพิกถอนมติ กสทช. กรณีควบรวม "ทรู - ดีแทค"

เศรษฐกิจ
8 มี.ค. 66
17:32
681
Logo Thai PBS
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฟ้องศาลฯ เพิกถอนมติ กสทช. กรณีควบรวม "ทรู - ดีแทค"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฟ้องศาลปกครองกลาง ให้เพิกถอนมติ กสทช. กรณีควบรวมทรูดีแทค เหตุไม่มีอำนาจ และไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือเกี่ยวเนื่องกับมติทั้งหมด

วันนี้ (8 มี.ค.2566 ) นายเฉลิมพงษ์ กลับดี และ น.ส.ณัฐวดี เต็งพานิชกุล ได้รับมอบอำนาจจาก คณะกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 คือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.)

โดยยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้เพิกถอนมติ กสทช.กรณี อนุมัติควบรวมบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ชี้เหตุเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจและไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการประชุมนัดพิเศษ ของ กสทช. ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565 ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้เอกชน โดยมีมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 อนุมัติ การรวมธุรกิจระหว่าง ทรู-ดีแทค โดยไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้-เสีย และประชาชนทั่วไป, ไม่นำรายงานฉบับสมบูรณ์ของที่ปรึกษาต่างประเทศมาพิจารณาประกอบ และรับฟังความคิดเห็นของบริษัทที่ปรึกษาอิสระ (บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด) เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืน ต่อกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ กฎ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง

การฟ้องคดีเพื่อเพิกถอนมติของ กสทช. เป็นมติจากที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2566 ยื่นฟ้อง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 คือ กสทช. และ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 คือ สำนักงาน กสทช.

ในฐานะที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รับการจัดตั้ง โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ ตามบทบัญญัติของกฎหมายและบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 46 แต่ ณ ปัจจุบัน ผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิอันพึงมีพึงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ที่คณะกรรมการ กสทช.มติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 อนุมัติ การรวม ทรู-ดีแทค

น.ส.กชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้ว่า จากเหตุนี้ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ เพราะเมื่อประเทศไทย เหลือผู้ให้บริการรายใหญ่เพียง 2 เจ้า อย่างเป็นทางการ และบริษัทใหม่กลายเป็นผู้ให้บริการอันดับ 1 ทันที มีส่วนแบ่งการตลาดเกินกว่าร้อยละ 50 ก่อให้เกิดการผูกขาดธุรกิจโทรคมนาคม โดยไม่ได้เกิดการพัฒนาด้านคุณภาพ สุ่มเสี่ยงต่อการฮั้วราคา ส่งผลต่อค่าโทรศัพท์ที่จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ถึง 200 รวมทั้งตลาดมือถือจะอยู่ในภาวะ การแข่งขันตกต่ำ ยากเกินจะฟื้นฟูให้อยู่ในสภาพเดิม

น.ส.กชนุช กล่าวว่า จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ คณะกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคลงมติ ยื่นฟ้อง คณะกรรมการ กสทช.และ สำนักงาน กสทช. เป็น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภค ส่งเสริมและประสานงานให้ผู้บริโภคและองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคมีส่วนในการคุ้มครองผู้บริโภค และดำเนินการเพื่อสาธารณะประโยชน์ การที่ผู้ฟ้องคดี ฟ้องว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ ที่ 2 เป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจและ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

การฟ้องคดีนี้จึงเกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ และถือได้ว่าเป็นการดำเนินการภายในขอบวัตถุประสงค์ ของผู้ฟ้องคดี ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ถือได้ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้จากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ ที่ 2

เนื่องจากมูลนิธิฯ เห็นว่า กสทช. ไม่มีอำนาจในการพิจารณารับรายงานของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ไว้พิจารณา ซึ่งบริษัททั้งสองไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขการรวมธุรกิจ ตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 ข้อ 3 (1 ) ที่ระบุว่า

การที่ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตรวมกับผู้รับใบอนุญาต รายอื่นหรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตรายอื่นอันส่งผลให้สถานะของผู้รับใบอนุญาตรายหนึ่ง คงอยู่และผู้รับใบอนุญาตอีกรายหนึ่งสิ้นสุดลง หรือเกิดเป็นนิติบุคคลใหม่ตามประมาลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์หรือตามสัญญาร่วมค้า 

แต่เป็นการรวมธุรกิจตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 ระหว่างบริษัทมหาชนจำกัดกับบริษัทมหาชนจำกัดโดยขอให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565 และเพิกถอน นิติกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือเกี่ยวเนื่องกับมติทั้งหมด และให้มีผลย้อนหลัง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทรู - ดีแทค ควบรวมสำเร็จ ตั้ง "มนัสส์" นั่งซีอีโอคนใหม่ของ "ทรู คอร์ปอเรชั่น"

ศาลปกครองกลางรับฟ้องคดีรวม "ทรู - ดีแทค"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง