เปิดภารกิจเครือข่ายเฝ้าระวัง "ช้างป่าสลักพระ" ลดขัดแย้งคนกับช้าง

สิ่งแวดล้อม
13 มี.ค. 66
16:15
357
Logo Thai PBS
เปิดภารกิจเครือข่ายเฝ้าระวัง "ช้างป่าสลักพระ" ลดขัดแย้งคนกับช้าง
เปิดภารกิจเครือข่ายเฝ้าระวัง "ช้างป่าสลักพระ" รักษาความปลอดภัยคนในชุมชน ร้องขอแผนแก้ปัญหาระยะยาว ทำรั้วถาวร-เพิ่มพืชอาหารดึงช้างอยู่ป่า ขณะที่กรมอุทยานฯ เตรียมอบรมเพิ่มทักษะเครือข่าย หนุนงบฯ ค่าน้ำมัน-อุปกรณ์ ปีละ 50,000 บาท

ทุก ๆ เย็น เครือข่ายเฝ้าระวังช้างป่าในพื้นที่ ต.ช่องสะเดา อ.เมือง จ.กาญจนบุรี นัดรวมพลหมู่บ้านละ 35 คน ก่อนออกปฏิบัติภารกิจ กระจายกำลังไปยังหมู่บ้านต่าง ๆ ชุดละ 5-15 คน นั่งรถกระบะ ซ้อนรถจักรยานยนต์ ขับผ่านเส้นทางถนนมืด ดินลูกรัง และพื้นที่การเกษตร เฝ้าระวังความปลอดภัยให้ชาวบ้านจนถึงเวลา 24.00 น. หรือจนกว่าช้างป่าจะหันหน้าออกจากหมู่บ้าน

แยกเป็นกลุ่มละ 5-6 คน ไปอยู่ในจุดเฝ้าระวังช้าง บางครั้งการเดินตามหาช้างก็ไม่เจอ ชาวบ้านจะโทรศัพท์มาแจ้งเมื่อเจอช้าง

วสันต์ สุนจิรัตน์ กำนัน ต.ช่องสะเดา อ.เมือง จ.กาญจนบุรี บอกว่า ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ ทั้งปลูกไม้ยืนต้น เช่น มะม่วง มะพร้าว อ้อย ขนุน มันสำปะหลัง จึงได้รับผลกระทบจากช้างป่าบ่อยครั้ง เพราะ "สลักพระ" เป็นเมืองล้อมป่า ช้างขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น ขณะที่ชาวบ้านได้แต่เฝ้าระวัง "กลางวันดับไฟป่า กลางคืนไล่ช้าง"

เครือข่ายฯ เริ่มทำงานมาตั้งแต่ปี 2551 กำนันวสันต์ เล่าว่า เริ่มแรกช้างป่าจะออกมายังพื้นที่หมู่ 3 และหมู่ 5 ค่อนข้างมาก เพราะพื้นที่เป็นหุบเขา และมีช่องเขามาทางหมู่บ้าน แต่เดิมเคยมีนักเรียนพักค้างคืนที่โรงเรียน แต่ช่วงหลังได้สั่งงดค้างคืนเพื่อความปลอดภัย เพราะช้างป่าลงมาในพื้นที่ สร้างความเสียหายทั้งกำแพง ประตู ท่อน้ำ ขณะนี้พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากสุด คือ หมู่ 6 โดยเฉพาะช่วงผลผลิตมะม่วงออก เดือน เม.ย.

ช่องสะเดามี 7 หมู่บ้าน เป็นพื้นที่เกษตรทั้งตำบล ช้างลงมากินกล้วยยกแปลง บางคนปลูกมันสำปะหลัง 20 ไร่ ไม่ทันได้ขุดสักแปลง

ทุก ๆ วัน ช้างป่าอย่ามาอย่างน้อย 2-3 ตัว หรือมากที่สุด 47 ตัว แวะเวียนมากินพืชผลทางการเกษตร มะม่วง อ้อย มันสำปะหลัง ซึ่งการผลักดันมีหลากหลายรูปแบบ หนักสุดใช้วิธีจุดประทัด

ช้างที่ค่อนข้างน่ารักแวะเวียนมากินพืชผล แต่ไม่ดุร้าย จะใช้วิธีส่งเสียงไล่ หรือพูดคุยดัง ๆ โดยเฉพาะตัวที่ตั้งชื่อ ทั้งเจ้ารถถัง นิสัยค่อนข้างดื้อ เมื่อก่อนเข้าพื้นที่ไหนก็พังเสียหายหนัก แต่เมื่อเรียกบ่อย ๆ ก็คุ้นเคย นิสัยดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีเจ้างอแง งาเล็ก งาสั้น

ส่วนช้างป่า "เถื่อน" นิสัยดุร้ายตามชื่อ เคยทำลายบ้านพังเสียหาย จนตนเองต้องไปนั่งเฝ้าบนต้นไม้ และเปลี่ยนชื่อมาเป็น "ทองดี" ส่งเสียงจนคุ้นเคยกัน พบว่าค่อย ๆ ปรับนิสัยลดความดุร้ายลงไป

เราดูแค่ว่าช้างอยู่ในที่ปลอดภัย คนปลอดภัยหรือไม่ ดันกลับป่านี่อันตราย แค่ไม่ให้ล้ำมาทางบ้านคน

ขณะที่พิมพ์พิชชา สุนจิรัตน์ หรือครูตู่ ครูโรงเรียนไทรโยคน้อยวิทยา ใช้เวลาว่างหลังเลิกงานช่วงเย็นวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ พกอุปกรณ์ไฟฉาย ประทัด ร่วมปฏิบัติภารกิจจิตอาสาเฝ้าระวังช้างป่าในชุมชน เธอบอกว่า ทำงานนี้มาเกือบ 20 ปี แต่เริ่มลาดตระเวนในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ทุกครั้งที่ออกปฏิบัติภารกิจมักพบช้าง หรือร่องรอยหักกิ่งไผ่ มูลช้าง รวมทั้งได้ยินเสียงร้องของช้าง

เมื่อใจรัก เราจะไม่กลัวในสิ่งที่ทำ

ครูตู่ บอกว่า ช้างที่คุ้นเคย คือ เจ้ารถถัง แม้นิสัยค่อนข้างดุ แต่เมื่อถูกเรียกชื่อก็จะหยุดและเดินออกจากพื้นที่ ส่วนใหญ่จะใช้เสียงดัง หรือเสียงพูดคุยขณะลาดตระเวนให้ช้างป่ารู้ตัว แต่พฤติกรรมช้างก็เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อก่อนได้ยินเสียงดัง เสียงปะทัด จะไม่เข้าหาคน และวิ่งหนีไป แต่ตอนนี้คุ้นเคยเสียงขึ้น ทำให้ไม่กลัวและอาจเดินเข้าหา เจ้าหน้าที่ก็จะใช้ไฟส่องให้ช้างถอยร่น

เคยเจอช้างวิ่งเข้าหา เมื่อส่งเสียงดังช้างก็จะถอยไป แต่ยังไม่เคยพบเคสพุ่งทำร้าย ส่วนในชุมชนหมู่ 4 มีชาวบ้านถูกช้างทำร้ายเสียชีวิตในช่วงเช้ามืด เพราะเจอในระยะประชิดและช้างตกใจ

ครูตู่ บอกว่า เธอทำงานนี้ด้วยใจรักและให้เกิดความปลอดภัยของคนและช้าง แต่บางครั้งก็ขาดแคลนงบฯ ค่าน้ำมัน เสื้อ ไฟฉาย อาหารว่าง เครื่องดื่มชูกำลัง ให้กับชาวบ้านจิตอาสา พร้อมเสนอให้ทำรั้วปูนถาวร 10-20 กิโลเมตร เพื่อป้องกันช้างใน ต.ช่องสะเดา ประกอบกับเพิ่มพืชอาหารสัตว์ในป่า ดึงช้างไม่ให้ออกนอกพื้นที่ เชื่อว่าจะแก้ปัญหาระยะยาวได้

พยายามทำทุกอย่างให้ปลอดภัย ช้างอยู่ได้ คนอยู่ได้

ด้านนายเผด็จ ลายทอง ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยืนยันว่า ทางกรมอุทยานแห่งชาติ ฯ พยายามแก้ปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ และร่วมมือกับเครือข่ายภาคประชาชน โดยรักษาการอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ ฯ จะเซ็นชื่อบนบัตรเครือข่ายอาสาฯ กว่า 2,000 ใบ พร้อมขอบคุณทุกคนที่ทุ่มเททำงานเฝ้าระวังช้าง และเตรียมอบรมเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้เครือข่ายฯ

สิ่งสำคัญที่สุด คือ ความปลอดภัยในชีวิต เพราะพืชผลการเกษตรหาใหม่ได้ แต่คนที่ออกมาทำงานนี้ เป็นทั่งผู้นำครอบครัว ผู้นำหมู่บ้าน หากเกิดความสูญเสียแล้วกลับคืนมาไม่ได้ อีกทั้งต้องเรียนรู้พฤติกรรมช้างให้มาก และเมื่อช้างค่อย ๆ รับรู้ว่าจุดไหนมีคนอยู่ แม้จะทำลายต้นไม้ หรือพืชผลเกษตรบ้าง แต่จะถอยออกโดยสงบ ไม่ทำลายทรัพย์สิน หรือคน หากไม่ตื่นกลัว หรือตกใจ

เมื่อรู้พฤติกรรมช้างจะช่วยลดความสูญเสีย ปกติช้างเข้าทางไหนจะออกทางนั้น แต่ต้องไม่ให้เขาตื่นกลัว ตื่นตระหนก ถ้าเขาวิ่งไม่รู้ทิศทาง อะไรก็ควบคุมไม่ได้

นายไพฑูรย์ อินทรบุตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า พื้นที่สลักพระ มีช้างป่าประมาณ 250 ตัว ซึ่งเครือข่ายเฝ้าระวังช้างป่า ต.ช่องสะเดา จะออกปฏิบัติภารกิจเป็นประจำ ส่วนความเสียหายจากช้างป่านั้น แม้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ จะไม่มีงบฯ เยียวยาโดยตรง แต่ก็พยายามดึงงบประมาณปกติ ไปใช้ซ่อมแซมทรัพย์สินให้ชาวบ้าน ทั้งท่อน้ำ กำแพง เพราะในระดับพื้นที่ยังมีข้อจำกัดของระเบียบเรื่อง "เงินเยียวยาผลกระทบที่เกิดจากช้างป่า" ไม่ครอบคลุมพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ และความเสียหายของการทำลายโดยช้าง ไม่ถูกตีความเป็นความเสียหายโดยสิ้นเชิง ในลักษณะเดียวกับผลกระทบจากวาตภัย จึงไม่สามารถจ่ายเงินเยียวยาได้

อย่างไรก็ตาม ทางกรมฯ มองเห็นปัญหาของการเยียวยาเบื้องต้น จึงสนับสนุนงบฯ ให้เครือข่ายละ 50,000 บาทต่อปี ให้ชาวบ้านบริหารจัดการเงินในการเฝ้าระวังช้างป่า ลดความขัดแย้งส่วนหนึ่ง เพราะก่อนหน้านี้ชาวบ้านจิตอาสาที่ทำงานจะต้องจ่ายเงินเองทั้งหมด ทั้งค่าน้ำมัน เครื่องดื่ม และอาหาร

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

กางแผนจ้าง 15 ชุดเฝ้าช้างป่า-ใช้โดรนจับความร้อน 

ป่าตะวันออกช้างเพิ่ม 8% เตรียมพึ่งยาคุมฮอร์โมน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง