บั้นปลายชีวิตช้างชรา “พังไพลิน” คาดทำงานหนัก-สันหลังยุบ

สิ่งแวดล้อม
13 มี.ค. 66
18:08
649
Logo Thai PBS
บั้นปลายชีวิตช้างชรา “พังไพลิน” คาดทำงานหนัก-สันหลังยุบ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า โพสต์ภาพช้างเลี้ยงตัวเมียชื่อ พังไพลิน เป็นช้างแก่ที่รับเลี้ยงมา อ้างว่า ลักษณะทางกายภาพที่หลังแอ่นลง มาจากการทำงานหนักรับแบกรับน้ำหนักนักท่องเที่ยวมาตลอดหลายสิบปี

พังไพลิน อยู่ในการดูแลของมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ปัจจุบันอายุ 71 ปี ถือเป็นช้างชราในช่วงบั้นปลายของชีวิต เพราะส่วนใหญ่ช้างบ้าน หรือช้างเลี้ยง จะมีอายุขัยประมาณ 70-80 ปี

พังไพลิน มีลักษณะพิการ กระดูกสันหลัง ใกล้กระดูกเชิงกรานแอ่นลง แต่ยังพอเดินได้ปกติ นายเอ็กวิน วิค ผู้ก่อตั้งและเลขาธิการมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า บอกว่า เป็นช้างเชือกแรกที่มูลนิธิฯ ใช้เงินไถ่ชีวิต มาจากปางช้างแห่งหนึ่งใน จ.สุรินทร์ ปี 2548 เพราะเจ้าของช้างติดต่อมา เนื่องจากหมดสภาพการใช้งาน

พังไพลิน ทำงานชักลากไม้ ก่อนจะเป็นช้างรองรับนักท่องเที่ยวในปางช้าง โดยวันที่นายเอ็ดวินไปพบ ก็มีสภาพแบบนี้แล้ว การทำงานหนักของช้างหนึ่งเชือกมาตลอดหลายสิบปี อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ร่างกายผิดรูป

เอ็ดวิน วิค เลขาธิการมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า ระบุว่า ผมเห็นช้างแบบนี้มาหลายเชือกแล้วเหมือนกัน บางตัวอาจจะอยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ธุรกิจขี่ช้าง บางตัวอาจจะลากไม้ แล้วตัวที่เราเห็นมันทำงานอยู่กับนักท่องเที่ยว มันก็เป็นไปได้แต่ก่อนนั้นอาจจะลากไม้ไปแล้ว สรุปแล้วร่างกายของ พังไพลิน น่าจะมาจาก 2 เรื่องนั้น

การโพสต์ภาพ พังไพลิน มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า ยืนยันว่า ไม่ได้ต้องการคัดค้านการนำช้างมาทำงาน แบกรับนักท่องเที่ยว หรือการโพสต์เพื่อเรียกรับเงินบริจาคตามกระแสวันช้างไทย 13 มีนาคม เพราะผู้โพสต์คือสัตวแพทย์ชาวต่างชาติของมูลนิธิฯ เขียนบรรยายตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ.

เอ็ดวิน บอกว่า เป็นห่วงเรื่องช่วงเวลาทำงานของช้าง และการคำนวณน้ำหนัก เพราะชาวต่างชาติฝั่งอาหรับและตะวันตกมีน้ำหนักมาก สองคน น้ำหนักรวมกว่า 200 กิโลกรัม ภาครัฐควรออกระเบียบและบังคับใช้ ดูแลสวัสดิภาพช้างให้จริงจังขึ้น

ปัจจุบันมูลนิธิฯ ต้องดูแลช้างเลี้ยงที่เจ้าของขายให้ เพราะหมดสภาพใช้งานหรือดูแลไม่ไหวรวม 24 เชือก ซึ่งราคาช้างหนึ่งตัว 360,000 บาท และยังมีเจ้าของช้างติดต่อขายอยู่ต่อเนื่อง มูลนิธิฯ ไม่มีกำลังดูแลมากขนาดนั้น

"มีปางช้างหลายที่ที่ทำงานได้ดี ได้มาตรฐานอยู่แล้ว แต่สำหรับปางช้างขนาดเล็ก หรือปางช้างที่เพิ่งเริ่มยังไม่มีประสบการณ์เท่าไหร่ ควรให้ช้างมีที่หลบฝนหลบแดด มีน้ำกินทั้งวันทั้งคืน อาหารต้องให้เป็นช่วง ไม่เหมือนสุนัขให้แค่มื้อเดียว หรือคนที่ต้องกิน 3 มื้อ แต่ช้างต้องกินตลอดทั้งวันทั้งคืน การทำงานของช้างก็ต้องให้ลดลง 6-7 ชั่วโมงต่อวัน แล้วน้ำหนักที่อยู่บนหลังช้างก็ต้องมีการคำนวณและจำกัดให้ชัดเจน"

สัตวแพทย์หญิง ภัคนุช บันสิทธิ์ รองผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์ถึงประเด็นช้างพังไพลิน ว่า การขี่ช้าง ควาญจะเอาวัสดุรองหลัง เช่น แผ่นเปลือกต้นปุย กระสอบ แผ่นฟองน้ำ วางบนหลังช้างให้หนาพอควร จากนั้นเอาเก้าอี้ที่เรียกว่า แหย่ง วางลงไป

เอาสายรัดแหย่งให้ติดกับตัวช้างโดยคล้องกับคอ อก และหาง พอแต่งตัวเรียบร้อยควาญจะนั่งบนคอช้างแล้วขี่ไปรับนักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวขึ้นนั่งบนแหย่งขนาดพื้นที่สำหรับ 1-2 คน ควาญควบคุมช้างให้ออกเดินไปตามเส้นทางธรรมชาติ แต่ละรอบใช้เวลา 15-30 นาที ระยะทาง 500 เมตรถึง 1 กิโลเมตร เมื่อเดินถึงจุดหมายก็ให้นักท่องเที่ยวลงจากแหย่ง ช้างพักและรอบรรทุกนักท่องเที่ยวท่านต่อไป

ประเด็นที่มีผลการศึกษาวิจัยรองรับ
1.การให้ช้างบรรทุกน้ำหนักร้อยละ 15 ของน้ำหนักตัวช้าง ไม่ทำให้พบรูปแบบการเดินที่ผิดปกติ
2.การสำรวจช้างในโปรแกรมขี่แบบใส่แหย่ง 200 ตัวอย่าง เมื่อปี 2018 พบว่ามีช้าง 5 ตัวอย่างมีแผลที่หลังที่อาจเกิดจากการใส่แหย่ง และมีช้าง 4 ตัวอย่างมีแผลที่อกที่อาจเกิดจากสายรัดแหย่ง

โดยระบุว่ายังไม่มีผลการศึกษาวิจัยรองรับการขี่ช้างทำให้กระดูกสันหลังช้างงอ ซึ่งการเกิดอาจมาจากอุบัติเหตุ การกระแทก ความผิดปกติมาแต่กำเนิด  หรือภาวะขาดแคลเซียม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง