เช็กฝุ่น PM 2.5 กทม. -ปริมณฑล เช้านี้

สังคม
14 มี.ค. 66
07:54
412
Logo Thai PBS
เช็กฝุ่น PM 2.5 กทม. -ปริมณฑล เช้านี้
เช้านี้ ฝุ่น PM 2.5 กทม. -ปริมณฑล เกินมาตรฐาน 69 พื้นที่ คุณภาพเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ขณะที่ยอดผู้ป่วยคลินิกมลพิษทางอากาศใน กทม. 12 วัน (ตั้งแต่ 1 - 12 มี.ค. 66) พบผู้ป่วยแล้ว 148 คน ส่วนใหญ่มีอาการแน่นหน้าอก ไอ ผื่นแดง

วันนี้ (14 มี.ค.2566) เวลา 07.00 น. เว็บไซต์ Air4Thai รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศ พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า ฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ตรวจพบค่าระหว่าง 36 - 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อยู่ในระดับ คุณภาพดีถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 

สำหรับพื้นที่ที่มีฝุ่น PM2.5 มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่

- ริมถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 เขตหนองแขม 75 มคก.ต่อ ลบ.ม. อยู่ในระดับ เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

- ริมถนนคลองทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา 74 มคก.ต่อ ลบ.ม. อยู่ในระดับ เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

- ริมถนนพุทธมณฑล 1 เขตตลิ่งชัน  71 มคก.ต่อ ลบ.ม. อยู่ในระดับ เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

- สวนทวีวนารมย์ เขตทวีวัฒนา 69 มคก.ต่อ ลบ.ม. อยู่ในระดับ เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

-  ริมถนนเพชรเกษม เขตภาษีเจริญ 68 มคก.ต่อ ลบ.ม. อยู่ในระดับ เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

12 วัน พบผู้ป่วยที่คลินิกมลพิษทางอากาศใน กทม. กว่าร้อยคน 

นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทมหานคร เปิดเผยถึงสถานการณ์ผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษา ณ คลินิกมลพิษทางอากาศของกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 1-12 มี.ค. 2566 ว่า มีประชาชนเข้ามารับบริการ ณ คลินิกมลพิษทางอากาศซึ่งตั้งอยู่ในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร ทั้ง 6 แห่ง ประกอบด้วย

โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลสิรินธร โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และรพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ฯ รวมจำนวนทั้งสิ้น 148 คน โดยในวันที่ 10 มี.ค. มีผู้ป่วยมาเข้ารับการรักษามากที่สุด 48 คน อย่างไรก็ตามหลังจากวันที่ 10 มี.ค. จำนวนผู้ป่วยลดลงตามลำดับ โดยวานนี้มีผู้ป่วยเข้ารับบริการ 8 คน ส่วนยอดผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 - 12 มี.ค.2566 มีผู้ป่วยรวมแล้วกว่า 883 คน

ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า ผู้ป่วยที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจเป็นกลุ่มมาเข้ารับการรักษาสูงสุด รองลงมาคือ โรคหลอดเลือดสมอง ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ตาอักเสบ และหอบหืด ตามลำดับ

สำหรับผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจที่มีสาเหตุมาจากฝุ่น PM 2.5 ส่วนใหญ่จะมีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง หอบหืดเฉียบพลัน หรือหลายอาการร่วมกัน ซึ่งต้องได้รับคำแนะนำและการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์

คลินิกมลพิษทางอากาศ จะคัดกรองอาการให้คำแนะนำและให้การรักษา รวมถึงการซักประวัติเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุและให้ข้อแนะนำในการปรับพฤติกรรมต่าง ๆ ให้เหมาะสม ซึ่งประชาชนสามารถคัดกรองประเมินอาการตนเองในเบื้องต้น และหากมีอาการรุนแรงสามารถเข้าสู่ระบบการรักษาที่โรงพยาบาลได้ทันที ทั้งนี้เป็นไปตามสิทธิการรักษาพยาบาลที่แต่ละท่านมีตามกฎหมาย

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง