เลือกตั้ง "สายมู " ใครจะอยู่ ใครจะไป?

การเมือง
14 มี.ค. 66
15:09
340
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง "สายมู " ใครจะอยู่ ใครจะไป?

"เพื่อไทย" เยือนโคราช กราบย่าโม ห่มสไบ-บวงสรวงชุดใหญ่ "อุ๊งอิ๊ง" ชักดาบประกาศชัยชนะ

ดาบหล่นจากแท่นใส่แขน "บิ๊กตู่" ขณะสักการะสมเด็จพระนเรศวรที่อยุธยา

นายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ตีกลองสะบัดชัย

บิ๊กป้อม เปิดปราศรัยนัดแรก เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เอาฤกษ์เอาชัย

ภาพเหล่านี้ปรากฎให้เห็นทุกครั้ง เมื่อผู้นำพรรคการเมืองลงพื้นที่หาเสียงเลือกตั้ง และไม่เฉพาะฤดูกาลเลือกตั้งเท่านั้น เมื่อผลการเลือกตั้งเสร็จสิ้น จัดตั้งรัฐบาลได้ และผู้นำบางคนได้รับจัดสรรตำแหน่งแล้ว มักต้องไปกราบไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงเจ้าที่เจ้าทางในกระทรวง

หากอธิบายในแง่มานุษยวิทยา การกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่เรื่องความไร้เหตุผล แต่เป็นโลกทัศน์ที่มนุษย์มองสิ่งธรรมชาติเป็น "บุคคล" ที่ให้โทษให้คุณ

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติจึงสะท้อนภาพของความรู้ที่สอนให้คนรู้จักระบบศีลธรรม ผ่านการเคารพบูชา การให้เกียรติ ความรับผิดชอบ การประมาณตนและไม่ใช่เจ้านายเหนือธรรมชาติ

หากอธิบายด้านจิตวิเคราะห์ การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ช่วยให้มนุษย์รู้สึกมั่นคงปลอดภัยในชีวิต

หากอธิบายด้านสัญลักษณ์ ความเชื่อจะถูกแสดงผ่านสัญลักษณ์ที่เป็นรูปธรรมและสามารถจับต้องได้

นายจักรพันธ์ ขัดชุ่มแสง อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อธิบายว่า ความเชื่อกับการเมืองเป็นสิ่งที่แยกไม่ออกจากสังคมไทยและคนไทย ความเชื่อเป็นวัฒนธรรมรูปแบบหนี่งที่จับต้องไม่ได้ มีทั้งสิ่งที่มองเห็นและไม่เห็น ความเชื่อถูกใช้ในการต่อรองกับอำนาจอะไรบางอย่าง จึงถูกสร้างขึ้นมาควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคม และสะท้อนออกมาเป็นพิธีกรรม

นักวิชาการด้านมานุษยวิทยา กล่าวว่า การถวายดาบแด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยยังมีความเชื่อเรื่องโชคลางและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งความเชื่อแบบนี้ ทำหน้าที่ที่ดี แต่เมื่อไหร่ก็ตาม หากความเชื่อถูกยัดเยียด หรือถูกใช้ดิสเครดิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

หรือกรณีที่ดาบหล่นใส่มือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีพรรครวมไทยสร้างชาติ แล้วทำให้มือบวม ทั้งๆที่มือมีอาการอักเสบอยู่แล้ว แต่นำไปเชื่อมโยงว่า คือ ลางร้าย หรือ ลางไม่ดี ไม่ได้วิเคราะห์ว่า การวางดาบไม่มั่นคงพอ มันก็ตกได้

ต้องไม่ลืมว่าการเลือกตั้งเป็นหลักสถิติ คือ ชนะและแพ้ แต่พอไม่ได้ก็อาจนำมาเชื่อมโยงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในภายหลัง แต่ถ้าผลออกมาชนะ ความเชื่อเหล่านี้ก็จะหายไป

ไม่ต่างจากกรณี น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เดินทางไปไหว้อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี หรือ ย่าโม เพราะในแง่สัญลักษณ์ ย่าโม เป็นตัว แทนของสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญของจ.นครราชสีมา แสดงให้เห็นว่าต้องการฝากตัวเป็นลูกหลานกับสิ่งที่ชาวโคราชให้ความเคารพนับถือ จึงต้องการให้พรรคเพื่อไทยเข้ามามีบทบาทในพื้นที่

นายจักรพันธ์ กล่าวอีกว่า พิธีกรรมและความเชื่อถูกนำมาใช้สร้างความชอบธรรม สร้างมั่นคงทางจิตใจ หรือการต่อรองกับอำนาจอะไรบางอย่าง และไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ความเชื่อในเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติ จะยังคงอยู่กับสังคมไทย

การใช้ความเชื่อเพื่อเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจจะเกิดขึ้นกับทุกคน และทุกสถาบันในสังคม แต่เราต้องไม่เชื่อจนงมงาย

ในมุมทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มองว่า ความเชื่อไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับนักการเมืองไทย ทหาร ตำรวจเท่านั้น แต่ความเชื่อลักษณะนี้ยังระบาดไปประเทศต่างๆทั่วโลก และเพื่อนบ้านใกล้เคียง เช่น ประเทศเมียนมา ผู้นำสำคัญทางการทหาร ไม่ว่าจะเป็นนายพลตานฉ่วย หรือนายพลเต็งเส่ง ต่างก็เปลี่ยนชื่อเพื่อเสริมอำนาจ บารมี ด้วยเช่นกัน

นายจักรพันธ์ กล่าวว่า การเมืองปัจจุบันไม่เปลี่ยนจากเดิม และพบว่าทุกพรรค การเมืองได้นำสัญลักษณ์มาใช้แข่งขันกันมากขึ้นอย่างชัดเจน เช่น พรรคเพื่อไทย ใช้สีแดง พรรคประชาธิปัตย์ ใช้สีฟ้า พรรคก้าวไกล ใช้สีส้ม เพื่อให้เห็นความแตกต่าง เช่นเดียวกับพรรคการเมืองในแคนาดาก็มีการนำสีมาใช้เพื่อให้คนจำง่าย

นอกจากนี้ ยังนำโซเชียลมีเดียหลายแพลตฟอร์ม มาใช้ในการหาเสียง โดยเฉพาะการหาเสียงในเขตเมือง รถขบวนแห่หาเสียงและการแจกแผ่นพับลดน้อยลง ส่วนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับผู้สมัคร ส.ส.เขต คือ คำนำหน้าว่าที่ผู้สมัคร ที่เคยใช้ชื่อ "ครู...." หรือ "ทนาย..."จะหายไป แต่คำนำหน้านามจะใช้ "ดร." มากขึ้น

นักวิชาการคนเดิม มองว่า ในทางการเมืองถือเป็นการต่อสู้ในเชิงความหมายและวัยวุฒิ โดยเจนเนอเรชันของ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.มีอายุน้อยลง ผู้เสนอตัวมีความหลากหลาย กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มหลากหลายทางเพศ เข้ามาใช้พื้นที่เพื่อขับเคลื่อนสังคม มีแบ็คกราวด์มากขึ้น มีคุณสมบัติทางศึกษามากขึ้น

แม้บริบททางสังคมจะเปลี่ยนไป แต่สังคมและจิตใจที่เปราะบาง มนุษย์จำเป็นต้องหาสิ่งยึดเหนี่ยว ไม่เว้นแม้แต่นักการเมืองที่กำลังขับเคี่ยวในสนามเลือกตั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง