บทวิเคราะห์ : 6 ปี “บัตรสวัสดิการ” งบทะลุ 3.3 แสนล้าน ช่วย “คนจน” จริงไหม?

เศรษฐกิจ
14 มี.ค. 66
17:33
2,167
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : 6 ปี “บัตรสวัสดิการ” งบทะลุ 3.3 แสนล้าน ช่วย “คนจน” จริงไหม?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หนึ่งในโครงการที่ถูกใจประชาชนคงปฏิเสธไม่ได้ว่า “โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” น่าจะเป็นโครงการที่ได้ใจประชาชนมากที่สุดโครงการหนึ่งเลยก็ว่าได้ สะท้อนจากทุกๆ ปีที่รัฐบาลประกาศเปิดลงทะเบียน คนไทยจำนวนหลักสิบล้านคนตอบรับเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นทุกปี

อย่างปี 2566 ทันทีรัฐบาลประกาศเปิดโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ มีผู้สนใจเข้าโครงการเกือบ 20 ล้านคน ทำให้ต้องตั้งคำถามว่า โครงการนี้เป็นสร้างให้ “คนอยากจน” เพิ่มขึ้นในระบบ และคนจนจริงๆ ได้เข้าถึงสวัสดิการแห่งรัฐจริงหรือไม่

หากย้อนดูตัวเลขผู้มีรายได้น้อยและเม็ดเงินภาษีที่นำใช้ในโครงการนี้ ตั้งแต่ปี 2561 – 2566

  • ปีงบประมาณ 2561 ใช้งบประมาณ 43,614.5 ล้านบาท ผู้ได้รับสิทธิ์ 14.2 ล้านคน
  • ปีงบประมาณ 2562 ใช้งบประมาณ 93,155.4 ล้านบาท ผู้ได้รับสิทธิ์ 14.6 ล้านคน
  • ปีงบประมาณ 2563 ใช้งบประมาณ 47,843.5 ล้านบาท ผู้ได้รับสิทธิ์ 13.9 ล้านคน
  • ปีงบประมาณ 2564 ใช้งบประมาณ 48,216.0 ล้านบาท ผู้ได้รับสิทธิ์ 13.5 ล้านคน
  • ปีงบประมาณ 2565 ใช้งบประมาณ 34,986.4 ล้านบาท ผู้ได้รับสิทธิ์ 13.2 ล้านคน
  • ปีงบประมาณ 2566 ใช้งบประมาณ 65,413.80 ล้านบาท ผู้ได้รับสิทธิ์ 14.6 ล้านคน

รวมแล้ว 6 ปี รัฐใช้งบประมาณรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 3.3 แสนล้านบาท ขณะที่ตัวเลขผู้ได้รับสิทธิ์แต่ละปีเฉลี่ย 13-14 ล้านคน เรียกได้ว่า จำนวนผู้มีรายได้ไม่ลดลงและผู้ที่ได้รับสิทธิ์นี้เป็นคนจนจริงหรือไม่?

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้ความเห็นว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าโครงการนี้ช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนได้จริง แม้จะเป็นการช่วยระยะสั้นและเป็นประโยชน์ต่อผู้มีรายได้จริง แต่ก็ยังมีช่องโหว่เพราะคนที่ได้รับบัตรสวัสดิการ เป็นคนจนจริงหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาระบบการคัดกรองของรัฐยังมีช่องโหว่ แรงงานส่วนใหญ่อยู่นอกระบบประกันสังคม เป็นเรื่องยากที่จะคัดกรองได้ว่าจนจริงหรือไม่ ทำให้ยังมีผู้มีรายได้น้อย ตกหล่นและหลุดออกระบบสวัสดิการของรัฐ ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังมีจุดอ่อนในเรื่องการช่วยด้านการสร้างรายได้ สร้างอาชีพ แม้รัฐบาลจะมีแผนไว้อยู่แล้ว แต่ไม่เคยเดินหน้าอย่างจริงจัง

ดังนั้นการคัดกรองบัตรสวัสดิการรอบใหม่ที่เปลี่ยนเกณฑ์การคัดกรองใหม่ ต้องรอประเมินผลว่าจะเป็นผู้ที่จนจริงหรือไม่ แต่ก็คาดหวังว่า เมื่อรัฐบาลประกาศผู้ที่ได้รับสิทธิ์จำเป็นต้องหาทางเพิ่มรายได้ให้ประชาชนด้วย เพราะมองว่า การช่วยเหลือให้คนหลุดพ้นจากความยากจน หรือ หลุดพ้นจากการระบบสวัสดิการ จำเป็นต้องเพิ่มรายได้จากการสร้างงาน และสร้างอาชีพ โดยเฉพาะการลดจำนวนผู้ที่ได้รับสิทธิ์ซึ่งจะเป็นตัวสะท้อนว่า โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว

ต่อยอดนโยบายบัตรสวัสดิการหลังเลือกตั้ง?

ขณะเดียวกัน รัฐบาลชุดใหม่ หากจะสานต่อนโยบายนี้ ไม่ใช่เพียงแค่แข่งกันเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการเท่านั้น แต่ควรทำ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐครบวงจร” ที่ต้องสร้างฐานข้อมูลจากรายได้และเชื่อมกับระบบฐานภาษี เพื่อตรวจสอบรายได้ของคนที่ขอเข้าโครงการต่อไปว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับบัตรสวัสดิการหรือไม่ ควบคู่กับการเดินหน้าสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อเพิ่มรายได้ให้คนเหล่านี้หลุดพ้นจากความยากจน และสามารถนำเม็ดเงินจากภาษี มาใช้ให้ตรงจุดมากขึ้น

กระทรวงคลัง ยืนยัน จำนวนคนจนลดลง

แต่เรื่องนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า การคัดกรองครั้งนี้มีความเข้มข้นในการตรวจคุณสมบัติ ทั้งรายได้ของผู้ยื่นเข้าโครงการ รายได้ครอบครัว จำนวนเงินฝากที่พิจารณาลึกถึงระยะเวลาการมีเงินฝากเพื่อป้องกันการโยกย้ายเงิน ข้อห้ามมีบัตรเครดิต/บัตรกดเงินสด

ขณะที่จำนวนผู้ที่ผ่านเกณฑ์ 14.59 ล้านคน แม้จะเพิ่มขึ้นรอบก่อนที่มี 13.16 ล้านคน เพราะปัญหาวิกฤตโควิด-19
แต่หากดูจากผู้ที่ลงทะเบียนกลุ่มที่ถือบัตรสวัสดิการเดิมที่ลงทะเบียนรอบนี้ มีจำนวนลดลงเหลือเพียง 8 ล้านคน และมีบางกลุ่มที่คืนบัตรสวัสดิการเพราะมีรายได้ที่ดีขึ้น

สำหรับโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐปี 2566 กระทรวงคลังเปิดให้ผู้ผ่านเกณฑ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 14.6 ล้านคน ตรวจสอบรายชื่อผ่านเว็บไซต์ พร้อมกับยืนยันตัวตนรับสิทธิ์ที่ธนาคารกรุงไทย ออมสิน และ ธ.ก.ส.

โดยจะเริ่มใช้สิทธิ์ตั้งแต่ 1 เม.ย. เป็นต้นไป ส่วนผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์อีก 5.54 ล้านคน เรากำลังเปิดให้ยื่นอุทธรณ์ได้ตั้งแต่ 1 มี.ค. ถึง 1 พ.ค.2566 และจะประกาศผลอุทธรณ์ 20 มิ.ย.2566

กรมบัญชีกลาง เรียกคืนเครื่อง EDC

ส่วนการใช้บัตรสวัสดิการตามร้านค้าที่เข้าร่วม ผู้ได้รับสิทธิ์ คงต้องตรวจสอบหรือสอบถามจากร้านค้าก่อนว่า มีเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EDC หรือ เพราะล่าสุด กรมบัญชีกลาง เรียกคืนเครื่อง EDC หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการรับประกันการใช้งาน 5 ปี แล้ว

น.ส.วารี แว่นแก้ว รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ระบุว่า หากร้านค้าต้องการใช้เครื่องต่อ จำเป็นต้องเสียค่าธรรมเนียมจากการใช้บริการที่ธนาคารกรุงไทย เรียกเก็บ 2,100 บาทต่อปี

โดยธนาคารกรุงไทยจะให้ร้านค้าที่ประสงค์ใช้งานเครื่อง EDC ต่อ ทำข้อตกลง ซึ่งจะเริ่มเก็บค่าบริการตั้งแต่ 1 เมษายน 2566 และปีถัดไปจะต้องชำระภายในมีนาคมของทุกปี

ทีมข่าวไทยพีบีเอส สอบถามจากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการของรัฐ ต่างบอกว่า อาจจะปรับเปลี่ยนมาใช้แอปพลิเคชันถุงเงิน ไม่มีต้นทุนค่าเครื่อง แต่ยังกังวลว่าอาจจะไม่สะดวกเหมือนกับเครื่องรับชำระด้วยเครื่อง EDC และสัญญาณอาจจะไม่เสถียร และหากร้านค้าต้องการคืนเครื่อง EDC ควรจะคืนที่สาขาของธนาคารกรุงไทยเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ร้านค้า

วิเคราะห์โดย :

สิรีภัคกมณ ตรัยตรึงตรีคูณ
ลักขณา หมานระเด่น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง