"นักสืบฝุ่น" เผย DNA ต้นตอฝุ่นใน กทม.

สิ่งแวดล้อม
15 มี.ค. 66
13:34
6,847
Logo Thai PBS
"นักสืบฝุ่น" เผย DNA ต้นตอฝุ่นใน กทม.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักสืบฝุ่น เผย "ดีเอ็นเอ" ต้นตอฝุ่นในกรุงเทพฯ ชี้ผลทดสอบฉีดพ่นละอองน้ำบนอาคารไม่เห็นผลแตกต่าง ค่าฝุ่นลดลงเพียงแค่ 1-2 มคก./ลบ.ม. ซึ่งมีผลน้อยมาก ประสานประเทศเพื่อนบ้านลดการเผา คาดพรุ่งนี้แนวโน้มฝุ่น กทม. ลดลง

วันนี้ (15 มี.ค.2566) รายงานสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ของกรุงเทพฯ เฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ระหว่าง 40 - 70 มคก/ลบ.ม. มีแนวโน้มลดลงจากเมื่อวานนี้ (14 มี.ค.) ขณะที่ กทม.จึงได้มีการวิเคราะห์ต้นตอที่ทำให้ค่าฝุ่นที่สูงในช่วงที่ผ่านมา ร่วมกับนักวิชาการ ถึงที่มาของการเกิดฝุ่นใน กทม. 

แฟ้มภาพ

แฟ้มภาพ

แฟ้มภาพ

ตรวจ "ดีเอ็นเอ" หาที่มาฝุ่น 

ผศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันข้อมูลเกี่ยวกับการวิจัยที่บอกที่มาแหล่งกำเนิดของฝุ่นมีจำนวนมาก โดยมีการใช้เครื่องมือหลายตัว มีการทำบัญชีการระบายมลพิษเพื่อบอกว่าฝุ่นในพื้นที่มีแหล่งกำเนิดมาจากไหน รวมไปถึงการดูว่าในฝุ่นมีองค์ประกอบทางเคมีอะไรบ้างและใส่เข้าไปในโมเดล เพื่อหาว่าฝุ่นที่ลอยเข้ามาและฝุ่นที่มีอยู่ในพื้นที่มีต้นตอมาจากอะไร

การหาแหล่งกำเนิดของฝุ่นทาง กทม. ใช้คำว่า ดีเอ็นเอของฝุ่น ซึ่งดีเอ็นเอ หมายถึงตัวเรามีลักษณะเฉพาะของเรา ไม่ว่าไปที่ไหนสิ่งที่เป็นดีเอ็นเอของเราจะตกค้างอยู่เช่นเดียวกับฝุ่น 

ขณะนี้เหลือเพียงว่าจะนำข้อมูลที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยซึ่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติได้รวบรวมเครื่องมือและข้อมูลเหล่านี้มาสร้างเป็นแนวทางในการปฏิบัติซึ่งจะเป็นการวิจัยต่อไป

การเผาไหม้ชีวมวลในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน

ผศ.ดร.เอกบดินทร์ วินิจกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) กล่าวว่า ฝุ่นในช่วงนี้จะมาจากการเผาไหม้ชีวมวลจากภายนอกและลอยเข้ามาใน กทม. เพราะในช่วงเวลานี้อากาศไม่นิ่ง จึงมีฝุ่นลอยเข้ามาในช่วงกลางวันและจมตัวลงในช่วงเวลาเย็นถึงค่ำ บวกกับฝุ่นที่มีในกรุงเทพฯ เองมาจากการจราจร ทำให้เห็นตัวเลขของฝุ่นขึ้น

สำหรับการแก้ไขปัญหาการเผาไหม้ที่อยู่ข้างนอกจะต้องลดลงให้ได้ เดิมใช้มาตรการห้ามเผาแต่ก็มีการเลี่ยงไปเผาได้ช่วงอื่น จึงต้องชั่งน้ำหนักว่าจะใช้วิธีการห้ามเผาหรือกำหนดช่วงเวลาในการจัดการแทน ซึ่งน่าจะเป็นวิธีการจัดการที่ดีที่สุดที่ให้ชาวบ้านอยู่ได้

ขณะเดียวกันฝุ่นก็ต้องไม่กระทบกับภาพรวมด้วย ส่วนเรื่องมาตรการการเก็บภาษีเป็นเรื่องที่พยายามคุยกัน แต่ในเชิงของทางด้านเศรษฐศาสตร์มีขั้นตอนในการทำมาตรฐานที่จะนำเรื่องของการเผาเข้าไปคิด ที่ทำได้ง่าย คือ เรื่องของการเผาอ้อย ได้เริ่มดำเนินการไปแล้วบางส่วนเกี่ยวกับการไม่รับซื้ออ้อยที่มาจากการเผา ซึ่งสามารถทำได้และช่วยลดการเกิดฝุ่นละอองได้

ฉีดพ่นละอองน้ำ ไม่เห็นผลแตกต่าง

ส่วนการฉีดพ่นละอองน้ำรวมถึงการล้างถนนมีส่วนช่วยในเรื่องการลดฝุ่น รศ.ดร.เอกบดินทร์ กล่าวว่า จากการที่ได้ทดลองที่โรงเรียนวิชูทิศ ปรากฎว่า มีผลการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก หากโดยพบว่าค่าเฉลี่ยในชั่วโมงระหว่างที่เปิดสเปรย์น้ำกับไม่เปิดน้ำค่าฝุ่นต่างกันแค่ประมาณ 1-2 มคก./ลบ.ม. ซึ่งช่วงปกติค่าผันผวนของปริมาณฝุ่นจะอยู่ที่ 3-4 มคก./ลบ.ม. อยู่แล้ว จึงไม่สามารถบอกได้ชัดว่ามีผลแตกต่าง ขณะที่การล้างถนน พบว่า มีส่วนช่วยในการลดฝุ่น แต่จำเป็นต้องฉีดลงท่อ ฝุ่นจะได้ไม่กลับขึ้นมา

สำหรับหลักการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองมีความชัดเจนว่าจะต้องมีการแก้ไขที่แหล่งกำเนิดฝุ่น โดยมาดูว่าแหล่งกำเนิดเป็นอะไร ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าในกรุงเทพฯ โดยหลักมาจากรถยนต์ ส่วนข้างนอกมาจากการเผา และอาจจะมีมาจากแหล่งกำเนิดอื่น ๆ ด้วย 

ตรวจแหล่งกำเนิดมลพิษลดฝุ่นต้นทาง

ด้าน นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 จนถึงวันที่ 14 มี.ค.2566 กทม. ได้ลงพื้นที่ตรวจแหล่งกำเนิดมลพิษ เพื่อลดการเกิดฝุ่นตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งมีผลการดำเนินการ ดังนี้

  • สถานประกอบการ/โรงงาน มีจำนวน 1,052 แห่ง ดำเนินการตรวจสอบ 6,081 ครั้ง ไม่ผ่านและสั่งให้ปรับปรุงแก้ไข 8 แห่ง
  • แพลนท์ปูน มีจำนวน 133 แห่ง ดำเนินการตรวจสอบ 793 ครั้ง ไม่ผ่านและสั่งให้ปรับปรุงแก้ไข 17 แห่ง
  • สถานที่ก่อสร้าง ประกอบด้วย สถานที่ก่อสร้างที่ตรวจโดยสำนักงานเขต มีจำนวน 277 แห่ง ดำเนินการตรวจสอบ 1,199 ครั้ง ไม่ผ่านและสั่งให้ปรับปรุงแก้ไข 27 แห่ง และตรวจโดยสำนักการโยธา 399 แห่ง ดำเนินการตรวจสอบ 392 ครั้ง ไม่ผ่านและสั่งให้ปรับปรุงแก้ไข 1 แห่ง
  • ถมดิน/ท่าทราย มีจำนวน 9 แห่ง ดำเนินการตรวจสอบ 88 ครั้ง
  • ตรวจควันดำในสถานที่ต้นทาง ดำเนินการตรวจสอบ 1,746 คัน ไม่ผ่านและสั่งให้ปรับปรุงแก้ไข 14 คัน
  • ตรวจจับรถยนต์ปล่อยควันดำ ร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจร กรมควบคุมมลพิษ และกรมการขนส่งทางบก เรียกตรวจสอบ 60,270 คัน ออกคำสั่งห้ามใช้ 1,265 คัน
  • ตรวจรถโดยสารประจำทาง/ไม่ประจำทาง โดยกรมการขนส่งทางบก เรียกตรวจสอบ 12,975 คัน พ่นห้ามใช้ 57 คัน
  • ตรวจรถบรรทุก โดยกรมการขนส่งทางบก เรียกตรวจสอบ 42,755 คัน พ่นห้ามใช้ 220 คัน 

 

สำหรับองค์ประกอบฝุ่นใน กทม. จาก 90 มคก./ลบ.ม. พบว่า 30 มคก./ลบ.ม. แรก มาจากการจราจร 30 มคก./ลบ.ม. ถัดมาเป็นจากสภาพอากาศ และจากการเผาชีวมวล

เมื่อกลับมาดูแหล่งกำเนิดสำคัญซึ่งมาจากการจราจรและยานพาหนะซึ่งอยู่ในส่วนของ 30 มคก./ลบ.ม. แรก เป็นเรื่องที่ กทม.ทำโดยลำพังไม่ได้ จะต้องมีภาคีที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานที่รับผิดชอบเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งแผนวาระแห่งชาติการจัดการมลพิษทางอากาศได้ระบุไว้ชัดเจนว่ามีหน่วยงานใดบ้างที่เกี่ยวข้อง โดยกรุงเทพมหานครพร้อมที่จะประสานเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา

สำหรับนโยบายนักสืบฝุ่นที่กรุงเทพฯ ได้ริเริ่มไว้หากจังหวัดอื่นประสงค์จะรับไปทำก็ถือว่าเป็นแนวทางที่ดีเพราะทุกอย่างที่ทำต้องอ้างอิงจากข้อมูล ปัจจุบันมีข้อมูลที่สามารถจะนำไปวิเคราะห์หรือนำไปใช้ต่อ ซึ่งมีความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องการฉีดน้ำและแหล่งกำเนิดของฝุ่น การจัดการเรื่องยานพาหนะ ควันดำ การจัดการการเผาชีวมวลต้องทำทั้งปีไม่ใช่เฉพาะช่วงหน้าฝุ่น

นอกจากนี้ กทม.ยังได้เสริมมาตรการลดฝุ่น ทั้ง WFH การควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษ การทำ Big Cleanning ให้บริการคลินิกฝุ่นดูแลสุขภาพประชาชน และแจ้งเตือนค่าฝุ่นผ่านแอปฯ AirBKK พร้อมทั้ง ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศในการประสานประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลดการเผา โดยคาดว่า ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (16 มี.ค.) ค่าฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯ จะลดลงต่อเนื่อง

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง