โอกาสผลักดันนโยบายสิ่งแวดล้อม ในการ "เลือกตั้ง 66" ผ่านมุมมอง "ปริญญา"

การเมือง
17 มี.ค. 66
10:08
388
Logo Thai PBS
โอกาสผลักดันนโยบายสิ่งแวดล้อม ในการ "เลือกตั้ง 66" ผ่านมุมมอง "ปริญญา"
"ปริญญา" นักนิติศาสตร์ มธ. อธิบายปัจจัยความสำเร็จของ "เยอรมนี" ในการทำให้นโยบายสิ่งแวดล้อม-นโยบายเรื่องโลกร้อน กลายเป็นนโยบายรัฐบาลได้ ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายถึง การแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่ขับเคลื่อนผ่านนโยบายรัฐบาล ที่สามารถเกิดขึ้นได้ โดยยกตัวอย่างปัจจัยความสำเร็จของประเทศเยอรมนีที่ทำให้นโยบายสิ่งแวดล้อม และนโยบายเรื่องโลกร้อน ให้กลายเป็นนโยบายรัฐบาลได้ โดยผ่านกระบวนการเลือกตั้ง 

นายปริญญา อธิบายว่า ขณะนี้ปัญหาโลกร้อน หรือ Global Warming กับโลกรวน ซึ่งแปลมาจาก Climate Change หรือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่คุกคามมนุษยชาติในปัจจุบัน

สหประชาชาติบอกแล้วว่า เราอาจจะมีเวลาแค่ไม่ถึง 10 ปีในการต้องแก้ไขเดี๋ยวนี้ เรามาดูกันว่าในการเลือกตั้งที่จะถึง พรรคการเมืองของเรามีนโยบายเรื่องนี้อย่างไร และอะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ นโยบายเรื่องนี้จะเป็นนโยบายของรัฐบาลได้ ผ่านการเลือกตั้ง

อยากจะเล่าให้ฟังเรื่องแรก การเลือกตั้งของประเทศเยอรนีครั้งล่าสุด คือ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ในปี 2021 พรรคกรีนได้สร้างปรากฏการณ์สำคัญจาก 8.9% ก็เพิ่มเป็น 14.8% พรรคกรีนในขณะนี้ก็เป็นพรรคที่เข้มแข็งที่สุดในบรรดาพรรคกรีนด้วยกันในประเทศยุโรป รวมถึงทั้งโลกด้วย

รัฐบาลในขณะนี้ ก็เป็นรัฐบาลที่มีพรรคกรีนอยู่ด้วย ว่าง่าย ๆ คือ นโยบายเรื่องกรีนของพรรคกรีน ซึ่งให้ความสำคัญในเรื่องโลกร้อนและ Climate Change ก็เป็นนโยบายของรัฐบาลเยอรมนีอย่างเต็มที่แล้ว

ตอนนี้เขาเรียกรัฐบาลเยอรมันว่า เป็นรัฐบาลไฟจราจร เพราะประกอบด้วยพรรคสังคมประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสีแดง พรรค Free Democracy Party ซึ่งเป็น Liberal เสรีนิยม ก็เป็นสีเหลือง และพรรคกรีนเป็นสีเขียว ก็เลยเรียกว่าเป็นรัฐบาลสัญญาณจราจร

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อเทียบกับพรรคกรีนอื่น ๆ ในประเทศยุโรป จะเห็นได้ว่าพรรคของเยอรมนีนั้นเข้มแข็งที่สุด สีเขียวอ่อน คือ ผลการเลือกตั้งครั้งก่อน สีเขียวเข้มคือปัจจุบัน เยอรมันเรียกว่า แซงหน้าไปทุกประเทศในขณะนี้

ปัจจัยความสำเร็จ ผลักดันนโยบายสิ่งแวดล้อม

นายปริญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า อะไร คือ ปัจจัยความสำเร็จของประเทศเยอรมนีที่ทำให้นโยบายสิ่งแวดล้อม นโยบายเรื่องโลกร้อน กลายเป็นนโยบายรัฐบาลได้ โดยผ่านกระบวนการเลือกตั้ง

เรื่องสำคัญที่สุด คือ ตัวระบบเลือกตั้งของเยอรมนีเอง ตามที่เรามักจะเรียกกันว่าระบบสัดส่วนผสม ถ้าแปลเป็นภาษาไทย ในระบบเลือกตั้งของเยอรมนีประชาชนจะมี 2 คะแนน ไม่ได้มี 2 ใบ มีบัตรใบเดียวแต่มี 2 คะแนน ทางฝั่งซ้ายเป็นคะแนนเลือก ส.ส.เขตเลือกตั้ง เขตละคนเหมือนไทย อีกฝั่งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ฝั่งนี้เป็นคะแนน ส.ส.พึงมี

ถ้าเปรียบเทียบระบบเลือกตั้งของเยอรมันให้เข้าใจง่าย ๆ ก็ต้องเปรียบเทียบกับระบบเลือกตั้งครั้งที่แล้วที่เป็นระบบบัตรใบเดียว ระบบบัตรใบเดียวของเรานั้นเป็นทั้งการเลือก ส.ส.เขต และ ส.ส.พึงมี โดยของเยอรมนีนั้นได้แยกเอา ส.ส.พึงมีเป็นอีก 1 คะแนน

ว่าง่ายๆ คือ คะแนน ส.ส.พึงมี คือ การเลือกพรรคหรือ Party List คือ คะแนนกำหนดยอดรวมของแต่ละพรรคว่าจะได้ ส.ส.กี่คน โดยที่จะมี ส.ส.เขตตามจริงที่ชนะการเลือกตั้งมา ถ้าขาด จำนวน ส.ส.เขตขาดเท่าไหร่ตามจำนวน ส.ส.พึงมี ก็จะเอาผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อเติมให้จนครบตามนั้น

ดังนั้น ว่าง่าย ๆ คือ ระบบเลือกตั้งเหมือนปี 2562 แต่แยกคะแนน ส.ส.พึงมีเป็นคะแนนที่ 2 และก็จับให้อยู่ในบัตรใบเดียว ไม่ได้เป็นคนละใบ

ระบบเลือกตั้งแบบนี้ "พรรคกรีน" ซึ่งความจริงเป็นพรรคที่มีความเข้มแข็งในเขตเลือกตั้งน้อยมาก เป็นพรรคที่เรียกว่ามีฐานเสียงในเขตเลือกตั้งไม่มาก คะแนนของพรรคกรีนมาจากคะแนน Party List หรือคะแนน ส.ส.พึงมี ทำให้ ส.ส.พรรคกรีนส่วนใหญ่เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ตรงนี้ คือ ระบบเลือกตั้ง เพราะในคะแนนของการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อซึ่งเป็นระบบสัดส่วนนั้น ไม่มีคะแนนตกน้ำ

คะแนนทั้งหมดที่ประชาชนเลือกไปจะกลายเป็นที่นั่ง ส.ส.ในสภา ก็แบบเดียวเทียบเคียงกับพรรคอนาคตใหม่ พรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนประมาณ 16% กว่า ซึ่งกลายเป็น ส.ส.จำนวน 87 คน จากการคำนวณในครั้งแรก

สิ่งที่มีความแตกต่างกันเพียงประการเดียวคือ ในระบบเลือกตั้งของเยอรมัน จะมีด่านขั้นต่ำ 5% เพราะประเทศเยอรมนี ไม่ต้องการให้มีพรรคการเมืองในสภามากเกินไป และผลลัพธ์ของการใช้ด่าน 5% ทำให้เยอรมนีในขณะนี้มีพรรคการเมือง 6 พรรคเท่านั้น

แต่จริง ๆ แล้ว เนื่องจากคะแนนที่เลือกพรรคหรือคะแนนบัญชีรายชื่อหรือ Party List เป็นคะแนนกำหนดยอดรวม ส.ส.ของแต่ละพรรค ระบบของเยอรมนีจริง ๆ ก็คือระบบสัดส่วน 100% แต่ให้มี ส.ส.แบบแบ่งเขตอยู่ด้วย เพราะเห็นว่า ส.ส.บัญชีรายชื่ออย่างเดียว มันอาจจะห่างจากประชาชน อยากให้มี ส.ส.เขต ก็เป็นระบบผสม

ทำไม พรรคกรีนใน "อเมริกา-อังกฤษ" แจ้งเกิดไม่ได้ 

แล้วทำไมพรรคกรีนในประเทศอเมริกา อังกฤษ ถึงไม่สามารถแจ้งเกิดได้ ทำไมพรรคการเมืองในสหรัฐอเมริกาจึงมีแค่ Democrat กับ Republican  เท่านั้น

จริง ๆ แล้วถ้าดูผลการเลือกตั้ง มี 42% คือเกือบครึ่งหนึ่งบอกเป็น Independent คือ เขาไม่ได้เป็นสาวกของพรรคทั้งเดโมแครตกับรีพลับฯ แต่เขาถูกระบบเลือกตั้งบีบให้ต้องเลือกเอาระหว่าง Democrat หรือ Republican เพราะถ้าไม่เลือกพรรคใดพรรคหนึ่งใน 2 พรรคนี้ คะแนนของเขาจะเป็น Wasted vote คือ แปลเป็นไทยเรียกว่าคะแนนตกน้ำ คือ มันจะหายไป เขาจึงต้องเลือกเอาว่าระหว่าง 2 พรรคนี้ ไม่ชอบพรรคไหนน้อยกว่า ก็จะเลือกพรรคนั้น

ว่าง่าย ๆ การที่พรรคกรีนไม่สามารถแจ้งเกิดเช่นเดียว กับพรรคริเบอรัลหรือพรรอื่น ๆ ไม่สามารถแจ้งเกิดในอเมริกาได้ เป็นเพราะระบบเลือกตั้งของอเมริกาเอง

ระบบเลือกตั้งของอเมริกาเป็นระบบเลือกตั้งเขตละ 1 คน มีแต่ ส.ส.เขต แล้วผู้ชนะการเลือกตั้งคือผู้ซึ่งได้คะแนนมากที่สุดโดยที่ไม่จำเป็นต้องได้คะแนนเกินครึ่ง

ระบบเลือกตั้งแบบนี้คนมีแนวโน้จะเลือกแค่ที่ 1 กับที่ 2 เพราะเลือกอันดับ 3 - 4 คะแนนตกน้ำหมด นี้จึงเป็นปัจจัยทำให้พรรคอันดับ 3 -4 -5 ไม่เคยแจ้งเกิดในสภาได้เลย รวมถึงพรรคกรีนด้วย ในอเมริกามีพรรคริเบอรัล และมีพรรคกรีน แต่ไม่เคยแจ้งเกิดในระบบเลือกตั้ง ซึ่งมีแค่พรรคเดโมแครตกับรีพลับฯ ผูกขาดอยู่ได้เลย

ระบบเลือกตั้งแบบนี้ ภาษาอังกฤษเรียกว่า First Past The Post เรียกย่อ ๆ ว่า FPTP First คือ ที่หนึ่ง Post คือตำแหน่งชนะเลิศ ผู้ชนะก็แบบเดียวกับแข่งม้า ม้าที่ชนะ คือ ม้าที่เข้าเส้นชัยเป็นตัวแรก โดยไม่สนใจว่าตัวอื่นจะวิ่งมาสูสีแค่ไหน หรือทิ้งห่างเพียงใด

รวมถึง ไม่สนใจด้วยม้าตัวแรกจะวิ่งช้าแค่ไหน ขอเพียงชนะ ระบบเลือกตั้งแบบนี้จึงถูกเรียกโดยคนอังกฤษว่าเป็น First Past The post และกลายเป็นคำที่ใช้กันทั่วโลก หมายถึงระบบเลือกตั้งที่แบ่งเป็นเขตละคน และผู้ชนะไม่จำเป็นต้องได้คะแนนเกินครึ่ง

ซึ่งก่อให้เกิดผลเลือกตั้งคือว่า คนจะไม่เลือก Wasted Vote คือ พรรคที่สาม สี่ ห้า เพราะเลือกไปแล้วก็จะเป็นคะแนนที่เสียของ ระบบเลือกตั้งแบบนี้ จึงทำให้เกิดระบบ 2 พรรคการเมืองในอเมริกา รวมถึงอังกฤษด้วย

อังกฤษจริง ๆ มีพรรคกรีน แต่มี ส.ส.เพียงแค่ 2-3 คน มีพรรคอื่นด้วย แต่ก็มี ส.ส.คนจำนวน 2 คนเท่านั้น พรรคเลเบอร์กับ Conservative รวมกัน 85% ก็คือระบบ 2 พรรคนั่นเอง

ถ้าพูดกันในแง่ของว่ามีแค่ 2 พรรคเท่านั้นที่มีบทบาทอย่างแท้จริง เพราะอังกฤษก็เป็นระบบเดียวกับอเมริกา ความจริงพูดกลับกัน อเมริการับระบบนี้มาจากอังกฤษ

ดังนั้น ก็เช่นเดียวกัน ประเทศที่ใช้ระบบเลือกตั้งแบบนี้ คือ เสียงข้างมากธรรมดาเขตละคน แบ่งเขตเลือกตั้งให้เป็นเขตละคน โดยผู้ชนะไม่ต้องได้คะแนนเกินครึ่ง ไม่มีที่สำหรับพรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็ก เป็นเรื่องของพรรคขนาดใหญ่เท่านั้น

ดังนั้นประเทศเหล่านี้ ได้แก่ อเมริกา อังกฤษ จึงไม่มีพรรคกรีน แล้วความแย่ของระบบเลือกตั้งแบบนี้คือว่า สุดท้ายแล้วจะกลายเป็นระบบพรรคเดียวในทางปฏิบัติ

พรรคเดโมแครตกับรีพลับฯ จะขัดแย้งกันตอนหาเสียง พอเป็นรัฐบาลได้ นโยบายจะไม่ต่างกันมาก คล้ายกัน เพราะทั้งคู่ต่างก็ต้องพยายามแย่งเสียงคนตรงกลางที่มีประมาณ 40% สุดท้ายนโยบายก็เดินเข้ามาหากัน ก็เลยบอกว่าอเมริกาเป็นพรรครีพลับรีแครต คือเป็นพรรคเดียว ซึ่งมันแย่มาก

สรุปก็คือว่า ระบบ 2 พรรคของอเมริกากับอังกฤษ ไม่ใช่ทางเลือก หรือไม่ควรจะเป็นทางเลือกของประเทศไทย เราต้องการพรรคที่ 3 - 4 - 5 ด้วยวิธีนี้เท่านั้น นโยบายใหม่ ๆ ถึงจะเข้าไปสู่สภาได้ ถ้าเหลือแค่ 2 พรรค เขาก็จะไม่มีนโยบายใหม่เข้าสภาเลย ดังเช่นที่เกิดมาแล้วในประเทศอเมริกากับอังกฤษ วิธีการมีพรรคที่ 3 - 4 - 5 คือระบบเลือกตั้ง

จะให้ดูข้อมูลว่า ประเทศที่มีประชาธิปไตยในขณะนี้เข้มแข็งมากที่สุดในโลก 15 ประเทศ เช่น นอร์เวย์ สวีเดน ไอซ์แลนด์ นิวซีแลนด์ เดนมาร์ก และอื่น ๆ รวม 15 ประเทศ ปรากฏว่า เป็นประเทศที่ใช้ระบบสัดส่วนถึง 13 ประเทศ ขณะที่ไม่มี ส.ส.แบ่งเขต อย่างที่เราเลือกกันเขตละคน ไม่มี 100 % เลย

ขณะที่ ระบบแบบเยอรมนี มีทั้ง ส.ส.เขต ผสมกับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ กับระบบอีกแบบหนึ่ง เป็นระบบสัดส่วนที่เลือกเป็นคน ๆ แต่ก็เป็นระบบสัดส่วนเหมือนกัน

โดยสรุป 15 ประเทศ มีประเทศที่ใช้ระบบสัดส่วน คือ ทุกคะแนนที่ประชาชนเลือกไปจะกลายเป็นที่นั่ง ส.ส.ถึง 13 ประเทศ แปลว่า นี่คือคำตอบของประชาธิปไตยเข้มแข็ง

ประเทศเหล่านี้มีพรรคการเมืองหลายพรรค เป็นระบบพรรคการเมืองหลายพรรคทุกประเทศเลย เพราะระบบเลือกตั้งของเขา ทำให้เกิดพรรคที่ 3 - 4 - 5 ขึ้นมา เพราะเขาเห็นแล้วว่า การมีพรรคแค่ 2 หรือ 3 พรรคนั้น ทำให้ทางเลือกใหม่ ๆ นโยบายใหม่ ๆ ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ มันเข้าสู่สภาไม่ได้ นี่คือคำตอบ คือระบบเลือกตั้ง

ระบบสัดส่วนเรามักจะพูดถึงแค่ประเทศเยอรมนี อยากจะเล่าให้ฟังถึงระบบสัดส่วนอีกแบบ เพราะเมื่อพูดถึงระบบสัดส่วน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของไทย มักจะรังเกียจ ส.ส.เขตจะรังเกียจ เพราะรู้สึกว่า พอมี ส.ส.บัญชี ส.ส.เขตจะน้อยลง พอน้อยลง ใครที่จะสอบตก เขตใครจะหายไป จะเห็นได้ว่า ตัวเลข ส.ส.ตอนนี้กลับไปเป็น 400 คนอีกแล้ว แบบแบ่งเขต

ปรับระบบเลือกตั้ง เปิดโอกาส "พรรคทางเลือก" 

ความจริงมีระบบเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่แบ่งเขต อันนี้เรายังรู้จักกันน้อย ผมจึงขออนุญาตมาเล่าให้ฟังว่า ถ้าต้องการพรรคกรีน พรรคนโยบายใหม่ ๆ คำตอบคือ ระบบเลือกตั้ง แต่ระบบเลือกตั้งนั้น ไม่ได้มีแต่ระบบเยอรมนีเท่านั้น ยังมีระบบอีกแบบ

ขอยกตัวอย่างประเทศสวีเดน สมมติว่าฝั่งนี้ คือ คะแนนของ Voter มันก็จะกลายไปเป็นที่นั่งตามนั้น มีคนที่คิดถึงนโยบายสิ่งแวดล้อม นโยบายโลกร้อนเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว มันจะกลายเป็นที่นั่งในสภาตามนั้น ไม่ใช่เป็นคะแนนตกน้ำ

ยกตัวอย่างประเทศสวีเดน ซึ่งมี ส.ส.ทั้งหมด 349 คน โดยเป็นระบบสัดส่วน 100% แต่แบ่งเขตเป็น 21 เขต เขตหนึ่งมี ส.ส.ประมาณ 15 – 20 คน ว่าง่าย ๆ คือ เป็นระบบบัญชีรายชื่อที่แบ่งเขต หรือ พูดอีกทางกลับกันคือระบบแบ่งเขตที่คิดคะแนนแบบสัดส่วน นี่จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

ว่าง่าย ๆ คือ แทนที่จะเป็นเขตละคน ก็เป็นเขตละ 10 คน 15 คน 20 คน และคิดคะแนนแบบสัดส่วน ความมีระบบเลือกตั้งแบบนี้ พรรคการเมืองหลัก ๆ ก็อาจจะชอบด้วยซ้ำ เพราะเขตละคนนั้น มันต้องที่หนึ่งเท่านั้น เพราะเขตละคนและคิดคะแนนเป็นสัดส่วน ทุกพรรคก็ได้คะแนนตามสัดส่วน นี่คือตัวอย่างของประเทศสวีเดน ซึ่งมีประชาธิปไตยที่เข้มแข็งที่สุดในโลก ประเทศหนึ่ง นี่เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

ส่อง "นโยบายสิ่งแวดล้อม" พรรคการเมืองไทย 

เมื่อมาส่องดูนโยบายของพรรคการเมืองของไทยว่า แล้วนโยบายของพรรคการเมืองไทยในขณะนี้ที่จะลงเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่จะมาถึง มีนโยบายเรื่องโลกร้อน หรือ โลกรวน หรือ สิ่งแวดล้อม อย่างไรบ้าง

ในเบื้องต้นจะเห็นได้ว่า ไม่มีพรรคไหนในขณะนี้ที่เอานโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อม โลกร้อน หรือโลกรวน เป็นนโยบายหลักแม้แต่พรรคเดียว โดยจะพบว่า นโยบายหลักจะเป็นเรื่องปากท้อง โดยที่ พรรคก้าวไกลจะมีเรื่องการเมืองเข้ามามากหน่อย เรื่องของปัญหาเรื่องความไม่เป็นประชาธิปไตย ที่เหลือจะเน้นไปที่ปัญหาปากท้อง แต่ไม่ได้แปลว่าไม่มีนโยบายเรื่องโลกร้อน เพียงแต่ว่ามันไม่ใช่นโยบายหลัก

แล้วพรรคกรีนของไทยเรามีไหม เราเคยมีพรรคกรีนในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 เรามีพรรคกรีน ชื่อพรรคกรีน Green Party เลย แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่ได้ ส.ส.แม้แต่คนเดียว

ของไทย ถ้าจะไม่ดูชื่อ ดูนโยบาย ดูทิศทางการทำงาน พรรคซึ่งน่าจะใกล้เคียงกับพรรคกรีน น่าจะเป็นพรรคก้าวไกล

พรรคกรีนตอนที่เข้าสู่สภาเยอรมนีครั้งแรกในปี ค.ศ.1983 ก็เป็นพรรคที่สร้างความเปลี่ยนแปลง มี ส.ส.แบบที่เป็น NGO เป็นนักพัฒนา เป็นคนเล็กคนน้อย เข้าไปนั่งในสภา คือเรื่องเดียวกัน เราไม่เคยมีมาก่อน ที่จะมีผู้พิการเป็น ส.ส.เราไม่เคยมี LGBT เราไม่เคยมีชนเผ่า เป็น ส.ส.นี่เป็นครั้งแรก และเป็นผลมาจากระบบเลือกตั้งที่ทุกคะแนนกลายเป็น ส.ส.พึงมี

ระบบเลือกตั้งที่ทุกคะแนนกลายเป็น ส.ส.พึงมี นี่คือกุญแจของความสำเร็จ ในการพาเอาเสียงเล็กเสียงน้อย ซึ่งไม่เคยถูกนำเข้าไปเลย เพราะในสภาเป็นเรื่องของพรรคใหญ่ที่มีแนวโน้มจะทำตามแบบที่เคยทำมา ไม่ได้สนใจเสียงเล็กเสียงน้อย พรรคก้าวไกลได้พาเอาสิ่งนี้เข้าสู่สภา

ทีนี้ถ้ามาดูนโยบายสิ่งแวดล้อม โลกร้อน ของพรรคก้าวไกล ผมเอาที่เขาสรุปจาก Workpoint เขาสรุปได้ดี ขออนุญาตเอามาเล่าให้ฟัง

นโยบายของของมุ่งเน้นไปที่ PM 2.5 และสิ่งแวดล้อม ไม่ได้พูดเรื่องโลกร้อน โลกรวน โดยตรง แต่มันปรากฏมาพร้อม ๆ กัน เพราะ PM 2.5 ก็เป็นผลจากสภาวะโลกร้อน

ถ้าดูเท่านี้ ยังเห็นไม่ชัด ต้องไปดูการแถลงของพรรคก้าวไกล ตอนนั้น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็ยืนแถลง น้ำท่วมถึงหัวเข่า และแถลงนโยบาย เพื่อจะบอกว่าโลกร้อน น้ำท่วมซ้ำซาก และถี่ขึ้น เรื่องที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่

ไปส่องดูนโยบาย ปรากฏว่า เป็นพรรคเดียวในขณะนี้ที่เขียนแบบนี้ คือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้สุทธิเป็นศูนย์ ภายใน 2050 หรือ 2593 คืออีก 27 ปี เราต้องบรรลุเป้าหมายนี้ให้ได้ เพราะว่าโลกร้อนเกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งได้แก่ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ จากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมัน และการปล่อยแก๊ซมีเทน ซึ่งเกิดจากขยะเศษอาหาร เกิดจากการย่อยสลาย

รวมถึงมีมาตรการต่างๆ ตามมา เพื่อลดในเรื่องนี้ รวมถึงเรื่องการขนส่ง เปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้า เพิ่มพื้นที่สีเขียว มีเรื่องของการจัดการขยะ ก็จะเห็นได้ว่า เป็นพรรคที่มีนโยบายเรื่องนี้ชัดเจนที่สุด เพียงแต่อย่างที่บอก เป็นหนึ่งในหลายนโยบายของก้าวไกล ยังไม่ใช่นโยบายหลักอย่างเดียว

แต่ชัดเจนที่สุด เมื่อไปเทียบกับพรรคอื่น ก็จะไม่ชัดเจนเท่า แต่มีเรื่องนี้อยู่ จะมากน้อยแตกต่างกันไป

พรรคเพื่อไทย ซึ่งคาดการณ์ว่า จะได้ ส.ส.มากที่สุดในการเลือกตั้งที่จะถึง เขาก็มีเรื่องของการให้คนใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น มีเรื่องของผลักดันกฎหมายอากาศสะอาด เรื่องการเผาป่า เผาไร่ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของคาร์บอนมอนอกไซด์ ก็มีนโยบายที่เกี่ยวข้อง แต่ว่าดูเหมือนว่าไม่ชัดเจนเท่ากับพรรคก้าวไกล

ส่วนพรรคซึ่งเจ้ากระทรวงเป็นหัวหน้าพรรค หมายถึงเจ้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าพรรค ก็คือ พรรคชาติไทยพัฒนา ก็ดูจะมีนโยบายที่ชัดเจนกว่า เมื่อเทียบกับเพื่อไทย เศรษฐกิจสีเขียว เป็นแรงขับเคลื่อนหลัก ก็คือเรื่องกรีนเป็นเรื่องหลัก เน้นเรื่องพลังงานสะอาด เพิ่มเรื่องป่าไม้ ลดการใช้รถส่วนตัว ก็เรียกว่า ถ้าเทียบกับพรรคเพื่อไทย ก็ดูจะมีความชัดเจนกว่า แต่ก็ยังต่างกับพรรคก้าวไกล ซึ่งชัดเจนมาก

พรรคภูมิใจไทย ก็ดูจะมีไม่กี่ข้อ แต่ก็เป็นข้อที่สำคัญมาก เรื่องของโซลาร์ลูฟ ลดโลกร้อนทุกครัวเรือน รถเมล์ไฟฟ้า เรือไฟฟ้า ทั้งกรุงเทพฯ หรือ วินไฟฟ้า ก็เป็นนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการสัญจรและการใช้พลังงาน

พรรคประชาธิปัตย์ ก็มีแต่คำว่าสิ่งแวดล้อม อากาศสะอาด แต่ดูเหมือนว่า อย่างน้อยเท่าที่ค้นมาในขณะนี้ เรื่องโลกร้อน โลกรวน ก็ยังไม่มีความชัดเจนเด่นชัดนัก ซึ่งก็ต้องรอฟังต่อไป

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จุดขายเป็นเรื่องของความปรองดอง โอกาสของ พล.อ.ประวิตร จะเป็นนายกฯได้คือเรื่องความปรองดอง เช่น เขาจะสามารถเป็นตัวเชื่อมระหว่าง 2 ข้างได้ เขาสามารถจะเชื่อมได้ทั้งกับพรรคเพื่อไทย หรือกับ ส.ว. อันนี้อาจจะไม่ได้พูดออกมา แต่ความหมายปรองดองคือเชื่อมได้หมดทุกฝ่าย เป็นจุดขาย นโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือโลกร้อนโลกรวน ก็ไม่ปรากฏ

จณะที่ พรรครวมไทยสร้างชาติของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จันทร์โอชา ก็มีแต่เรื่องปากท้อง ไม่ได้มีเรื่องสิ่งแวดล้อม โลกร้อน โลกรวน เลย

จะเห็นได้ว่าถ้าเป็นพรรค Conservative นโยบายเรื่องโลกร้อนไม่ปรากฏ เพราะว่ายัง Conservative อยู่กับแนวทางที่เคยทำมา และจะโฟกัสกับเรื่องปากท้อง เพราะเชื่อว่านี่คือสิ่งที่จะได้คะแนนจากประชาชน แต่ความเปลี่ยนแปลงใหม่ เรื่องใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้คือเรื่องโลกร้อนกับโลกรวน ยังไม่ปรากฏอยู่ในพรรค Conservative มากเท่ากับพรรคใหม่

"พรรคกรีน" ในเยอรมนี โตแต่ยังไม่สุด

ทีนี้มาถึงคำถามสำคัญ คือ ผมได้สรุปไปแล้วว่า พรรคกรีนของเยอรมนีเป็นพรรคที่เข้มแข็งที่สุด การเลือกตั้งเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ได้ ส.ส.ถึง 14.8% เป็น ส.ส.ถึง 180 คนจาก 700 คน คำถามคือว่า แม้ว่าตอนนี้จะไปถึง 14.8 แล้ว แต่ว่าพรรคกรีน มองอีกด้านหนึ่ง พรรคกรีนของเยอรมันก็ไม่เคยไปถึง 15 - 20 % หรือถึงครึ่ง

คนเยอรมันเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง คนเยอรมันก็เป็นชนชาติที่เรียกว่ามีวินัยและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง แต่ทำไมคนเยอรมันจึงไม่เลือกพรรคกรีนให้มากกว่านี้

การมี ส.ส.เพียงแค่ 5% 8% หรือตอนนี้ 14% มันไม่ถึงครึ่ง ถ้าจะผลักดันกฎหมาย ผลักดันนโยบายมันต้องเกินครึ่ง ทำไมคนเยอรมันไม่เลือกให้เกินครึ่ง กราฟอันนี้จะช่วยบอกเราได้ คำตอบอยู่ที่คะแนนเสียงในการเลือกตั้งแต่ละครั้งของพรรคกรีนที่ผ่านมา

ดังที่เล่าให้ฟังว่า เยอรมนีมีด่าน 5% ซึ่งพรรคกรีนก็ทะลุด่าน 5% ครั้งแรกในปี 1983 แล้วพอ 4 ปีต่อมา ก็ขึ้นมาถึง 8.3 อย่างรวดเร็ว คำถามและเป็นปริศนาคือทำไมถึงปี 1990 ถึงตกลงมาเป็น 5.1 มันควรจะขึ้นไปเรื่อย ๆ ทำไมมันตกลง ตกฮวบเลย แล้วค่อยไต่ช้า ๆ ขึ้นไปใหม่ มันตกลงมาอีกที และขึ้นใหม่อีกที

คำถามคือ ทำไมตกลงมาเยอะจากที่ 5.6 สี่ปีผ่านมาเป็น 8.3 คำตอบมันง่ายมาก ลองคิดว่า ส.ส.มี 100% และต้องจัดสรรไปตามคะแนน การที่พรรคใหม่เกิดขึ้นมา พรรคที่มีอยู่ก็ได้ ส.ส.น้อยลง มันคือเหมือนกับทรัพยากรที่มีจำกัด เมื่อมีคนมาแบ่งมากขึ้น คนที่เคยได้ ก็ได้น้อยลง แล้วปรากฏว่าพรรคใหม่ คือพรรคอันดับ 4

แต่ก่อนประเทศเยอรมนีมีเพียงพรรค SPD หรือ สังคมประชาธิปไตย ซึ่งเป็นแนวออกมาทางฝ่ายซ้าย กับพรรค Conservative คือ Christian Democratic Union of Germany ออกไปทาง Conservative และพรรคตรงกลาง คือ liberal free democracy party ก็มีแค่ 3 พรรค จนกระทั่งในปี 1983 พรรคกรีนก็ทะลุด่าน 5% กลายเป็นพรรคที่ 4 มาได้

การที่เขาขึ้นไปถึง 8.3 แปลว่าอะไร ก็แปลว่า พรรคเดิมนั้นเขาก็ยังทำแบบเดิม นโยบายแบบเดิม สัดส่วนของคนเยอรมันก็มาเลือกพรรคกรีนมากขึ้นแต่พอถึงจุดนี้แล้ว ในการเลือกตั้งปี 1990 พรรคเดิมคือ SPD CDU FDP ก็พบแล้วว่า ถ้าเราไม่มีนโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อม เราจะสูญเสียที่นั่งให้กับพรรคกรีนมากไปกว่านี้ และนี่เองทำให้พรรค SDU SPD FDP จึงต้องเอานโยบายกรีนใส่เข้ามาในพรรค

ผลลัพธ์คือ เมื่อพรรคที่มีอยู่แล้ว เขามีนโยบายกรีนแล้ว ความจำเป็นในการเลือกพรรคกรีนก็น้อยลง ครั้งต่อมาก็เลยตกลงมาเหลือแค่ 5.1 เกือบสอบตกด้วยซ้ำ

นี่แปลว่าอะไร แปลว่า การที่มีพรรคกรีนเป็นพรรคที่ 4 เข้าสภาไป แม้ว่าจะได้คะแนนไม่ถึงครึ่ง ไม่ถึง 10% ด้วยซ้ำ แต่มันคือ การพาเอานโยบายกรีนเข้าไปสู่สภา เพราะพรรคที่มีที่นั่งในสภาแล้ว จำเป็นต้องปรับตัว ถ้าไม่ปรับตัว นโยบายใหม่เข้าสภาไป คนจะเลือกพรรคใหม่มากขึ้นเรื่อย ๆ และพรรคตัวเองจะได้ ส.ส.น้อยลง นี่เป็นความสำคัญของการมีพรรคใหม่เข้าสภา แล้วนี่เองคือคำตอบ

ผมถามว่า เรื่องของสุรา ซึ่งผูกขาดโดยบริษัทยักษ์ใหญ่แค่ 2 บริษัท เราก็รู้มานาน ทำไมไม่มีใครแก้ หรือเรื่องของสมรสเท่าเทียม ก็มีมาแล้วตั้ง 10 - 20 ปี ทำไมไทยถึงขยับได้ช้ามาก เป็นเพราะว่ามีพรรคใหม่ คือ พรรคก้าวไกล ซึ่งทีแรกคือ พรรคอนาคตใหม่ ได้พาเรื่องนี้พวกนี้เข้าไป

ถามว่าทำไมพรรคที่มีอยู่ถึงต้องตอบสนอง แม้ว่าสุราก้าวหน้าจะไม่ผ่าน แต่อย่าลืมว่ารัฐบาลก็ผลักดันให้มีการแก้ไขกฎกระทรวงในเรื่องนี้ ยืดหยุ่นกฎเกณฑ์ ซึ่งผูกขาดมากให้มันผ่อนลงมา

ขณะที่ กรณีสมรสเท่าเทียม แม้จะไม่สำเร็จ ก็เกิด พ.ร.บ.คู่ชีวิต ถ้าไม่มีพรรคใหม่นำเรื่องนี้เข้าไป เราจะไม่มี พ.ร.บ.คู่ชีวิต เราจะไม่มีการแก้กฎกระทรวงให้การทำเรื่องสุราสามารถให้คนท้องถิ่น หรือสุราพื้นบ้านแจ้งเกิดได้เลย หรือแม้กระทั่งเรื่อง พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหายทรมาน ถ้าไม่มีพรรคใหม่อย่างพรรคก้าวไกลผลักดันเข้าสภา หรือพรรคอะไรก็แล้วแต่ที่เข้าสภาไป พรรคอื่นก็จะไม่ผลักดันตาม

ดังนั้น เราจึงจำเป็นที่ต้องมีระบบเลือกตั้งที่จะพาพรรคใหม่ หรือพรรคที่ไม่ใช่พรรค Conservative เข้าสภาได้ เพื่อพานโยบายใหม่ๆ ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ ตอบสนองต่อเสียงเล็กเสียงน้อยของผู้คนซึ่งพรรคการเมืองหลักแต่เดิมไม่เคยฟัง ตอบสนองต่อชุมชน ตอบสนองต่อภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ซึ่งไม่เคยถูกได้ยิน เพราะว่าพรรคการเมืองหลักมักจะฟังแต่เสียงของคนตัวโต ฟังแต่เสียงของนักธุรกิจนายทุน ซึ่งมีเงินมาก

แต่ปัญหาของไทยในขณะนี้คือว่า เรื่องหลักของประเทศไทย เรายังอยู่ในเรื่องของการไม่เป็นประชาธิปไตย ยังมีประเด็นเรื่อง ส.ว. เลือกนายกฯ ยังมีประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญที่สืบทอดอำนาจ ยังมีปัญหาเรื่ององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นผลพวงคนที่ใช้อำนาจอยู่ เป็นความเชื่อมโยงมาจากการสืบทอดอำนาจ

เรื่องของการไม่เป็นประชาธิปไตย ยังคงเป็นเรื่องหลัก และทำให้นโยบายสิ่งแวดล้อม โลกร้อน โลกรวน จึงยังไม่สามารถเป็นเรื่องหลักได้ในการเลือกตั้งคราวนี้

คนรุ่นใหม่ ตัวแปรสำคัญเลือกตั้ง 66 

แต่เรื่องโลกร้อน Global Warming กับเรื่องโลกรวนก็เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องผลักดันไปพร้อมกันเช่นเดียวกัน

คิดว่าคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก และครั้งที่ 2 จะเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญ อาจจะพูดได้ว่า สำคัญที่สุดด้วยซ้ำ เลือกตั้งครั้งแรกกับครั้งที่ 2 จะมีการเลือกเป็นกลุ่มก้อนมากกว่าคนเจนฯอื่น ทีนี้มีจำนวนเท่าไหร่ ในการเลือกตั้งปี 2562 เนื่องจากไม่ได้เลือกตั้งมา 7 ปีกว่า ผู้เลือกตั้งครั้งแรกจึงมีถึง 5.6 ล้านคน ในคราวนี้มี 4 ล้านคน รวมกันก็คือ 9.7 ล้านคน คือ 10 ล้านคนนั่นเอง

ถามว่า คนซึ่งเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2562 ในคราวนี้พฤติกรรมการเลือกตั้งเขาจะเปลี่ยนไหม ก็เชื่อว่า ส่วนใหญ่น่าจะไม่เปลี่ยน คือส่วนใหญ่ไม่ได้เลือกพรรคทาง Conservative มีโอกาสจะเลือกพรรคที่มีนโยบายที่เป็นเรื่องของตอบสนองต่อภาคประชาสังคมและการเปลี่ยนแปลงของโลก มากกว่าไปเลือกพรรค Conservative เมื่อบวกกับคราวนี้มาเพิ่มอีก 4 ล้าน เบ็ดเสร็จก็ 9 ล้านกว่า นี่เป็น voter ประมาณ 9 ล้านกว่าคนที่จะเป็นผู้ซึ่งจะเปลี่ยนแปลง

คือผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกในคราวที่แล้วกับคราวนี้ประมาณ 9 ล้านคน ไม่ถึง 10 ล้านคน และแน่นอนว่าไม่ได้แปลว่า คนที่ 5.6 ล้านคนจะอยู่ทั้งหมดถึงตอนนี้ อาจมีคนที่เสียชีวิตไปแล้ว เบ็ดเสร็จคือ 9 ล้าน สรุปคือประมาณ 9 ล้านคน จะเป็นผู้ซึ่งมีความสำคัญในการกำหนดอนาคตประเทศ

เพราะคน 9 ล้านคนนี้ คือ เลือกตั้งครั้งแรกคราวที่แล้วกับครั้งแรกคราวนี้รวมเป็น 9 ล้านคน มีแนวโน้มจะเลือกเป็นกลุ่มก้อนมากกว่าคนเจนอื่น และกลุ่มก้อนก็มีแนวโน้มจะเลือกไปในทางซึ่งเลือกพรรคที่มีนโยบายใหม่ ๆ ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ ซึ่งก็คือโลกร้อน รวมถึงเรื่องอื่นด้วย เรื่องความเสมอภาค ความเท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ คนที่เป็นผู้เลือกตั้งครั้งแรกครั้งที่ 2 จะมีแนวโน้มเลือกมากกว่า จึงเป็นผู้ที่จะมีบทบาทสำคัญ

สิ่งที่ควรต้องเกิดขึ้นต่อไป ก็คือบทบาทของภาคประชาสังคมร่วมกับสื่อมวลชนอย่างไทยพีบีเอส คือต้องสร้างเวทีสาธารณะ ให้มีการผลักดันนโยบายเรื่องโลกร้อนอย่างจริงจังให้มากกว่านี้

เท่าที่ดูแล้ว นอกจากพรรคก้าวไกล พรรคอื่นก็ยังไม่ชัดเจนเท่า วิธีการคือต้องสร้างเวทีสาธารณะ เพราะว่าการสร้างเวทีสาธารณะนั้น มันต้องทำก่อนเลือกตั้ง เพราะทำหลังเลือกตั้ง มันเป็นแค่ข้อเรียกร้อง

การสร้างนโยบาย เจ้าของประเทศสร้างได้โดยช่วงก่อนเลือกตั้ง ด้วยการถามเขาว่าเรื่องนี้ พรรคของท่านว่าอย่างไร มันก็จะเกิดเป็นนโยบายที่ต้องฟังก่อน และปัญหา คือ อะไร แล้วจะเสนอทางแก้อย่างไร ก็จะกลายเป็นสิ่งที่เหมือนกับสัญญาประชาคม และนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงหลังเลือกตั้ง ก็ต้องสร้างเวทีแบบนี้ เวทีของพรรคการเมืองให้มากขึ้น

ถ้าต้องการผลักดันเรื่องใด ก็ต้องผลักดันเวทีนั้นให้เกิดสัญญาประชาคมประเด็นนั้นก่อนเลือกตั้ง ถ้าต้องการผลักดันเรื่องโลกร้อนกับการต่อสู้กับโลกรวน ก็ต้องผลักดันเรื่องนี้ให้มีเวทีก่อนเลือกตั้ง

และผมเชื่อว่าโอกาสของเราที่จะมีการเปลี่ยนแปลงหลังเลือกตั้ง ทั้งเรื่องความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เรื่องการปิดสวิตช์ ส.ว. การนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงการสู้กับเฉพาะโลกร้อนกับโลกรวน จะทำสำเร็จอย่างแน่นอน และคนรุ่นใหม่คือผู้ที่จะเปลี่ยนแปลง 

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งที่แล้ว มี 5.6 ล้านคน รวมกับคราวนี้อีก 4 ล้านคน ก็ประมาณ 9 ล้านกว่าคน จะเป็นผู้กำหนดอนาคตของประเทศผ่านการเลือกตั้งในคราวนี้ เพราะคนรุ่นใหม่ซึ่งเพิ่งเลือกตั้งไป 1 ครั้ง และอีก 1 ครั้งในคราวนี้ แล้วกับคนที่จะเลือกตั้งในคราวนี้เป็นครั้งแรก มีแนวโน้มที่จะเลือกพรรคการเมืองในแบบซึ่งตอบสนองต่อปัญหาที่เขาเห็น ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงไปของโลกใบนี้ ตอบสนองต่อสิ่งใหม่ๆ ที่เขาเผชิญมามากกว่าพรรค Conservative

ดังนั้น คนกลุ่มนี้จะเป็นคนกลุ่มที่เลือกตั้งเป็นกลุ่มเป็นก้อน และมีโอกาสที่จะมีการเลือกตั้ง และทำให้พรรคการเมืองจะต้องมีความตระหนัก และผลักดันเรื่องนโยบายโลกร้อน โลกรวน รวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความเหลื่อมล้ำ เรื่องความเสมอภาคเท่าเทียม รวมถึงการแก้ไขความไม่เป็นประชาธิปไตย ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องเหล่านี้จะถูกผลักดันโดยผ่านกระบวนการเลือกตั้งได้

สำคัญกว่านั้นก็คือ เราจำเป็นต้องมีเวทีสาธารณะดังเช่นที่ไทยพีบีเอสกำลังทำอยู่ เพื่อให้พรรคการเมืองต่างๆ ได้ตอบคำถามต่อประชาชน ว่าเรื่องโลกร้อน โลกรวน รวมถึงเรื่องอื่นที่เราจะผลักดัน พรรคของท่านมีนโยบายอย่างไร

ซึ่งมันจะนำไปสู่การสร้างนโยบายสาธารณะ และนำไปสู่การเป็นนโยบายรัฐบาลหลังเลือกตั้งได้จริง เพราะเมื่อพรรคการเมืองชนะการเลือกตั้ง ก็มีหน้าที่ต้องเอานโยบายที่หาเสียงไว้ มาเป็นนโยบายรัฐบาล การที่เราไปเรียกร้องรัฐบาลหลังเลือกตั้ง มันเป็นแค่ข้อเรียกร้อง อำนาจประชาชนมีอย่างแท้จริงคือ ก่อนหย่อนคะแนนลวงหีบบัตรเลือกตั้ง

ดังนั้น เราต้องสร้างเวทีสาธารณะ เพื่อนำไปสู่การเกิดสัญญาประชาคม และนโยบายต่างๆ ที่ต้องการผลักดัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องโลกร้อนและโลกรวน ในช่วงนี้ ก่อนหน้าจะถึงวันที่เราหย่อนบัตรของเราในหีบบัตรเลือกตั้ง

กระบวนการทั้งหมดนี้ ผมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นผู้เลือกตั้งครั้งแรกและครั้งที่สอง จะเป็นผู้ที่เปลี่ยนแปลงการเลือกตั้ง มากกว่าคนเจนอื่น เป็นผู้ที่จะกำหนดอนาคตของเขา ซึ่งต้องอยู่บนโลกนี้ยาวนานกว่าคนรุ่นเก่า และนี่เองคือบทบาทของทุกท่านในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยของเรา

เปิดเวทีสาธารณะผลักดันนโยบายประชาชน

นโยบายที่เอามาให้ดู เป็นนโยบาย ณ ขณะนี้ จะเห็นได้ว่า นอกจากพรรคก้าวไกล พรรคอื่นก็ยังไม่ชัดเท่าพรรคก้าวไกล พรรคอื่นมีเหมือนเป็นโครงการ โซลาร์ลูฟทอป รถเมล์ไฟฟ้า อากาศสะอาด ห้ามเผาป่า

แต่มันต้องมีเป้าหมาย ยุทธศาสตร์และเป้าหมายคืออะไร ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในกี่ปี ว่ามา ตรงนี้มันคือเป้าหมายและยุทธศาสตร์ และเรื่องอื่นโครงการที่พาไปสู่ตรงนั้น นอกจากพรรคก้าวไกลแล้วพรรคอื่นไม่มี

แต่ไม่ได้แปลว่าจะไม่มี เมื่อเขาไม่มี ประชาชนก็ต้องสร้างมันขึ้นมา ด้วยการจัดเวทีสาธารณะขึ้นมา ไทยพีบีเอสจัดเวทีเลย เวทีนโยบายสาธารณะก่อนการเลือกตั้ง เรื่องนโยบายโลกร้อน

จากนั้นเชิญพรรคต่าง ๆ มาดีเบตกัน ก็จะเป็นเวทีที่นำไปสู่การทำให้พรรคแต่ละพรรค ถ้าไม่มีนโยบายนี้ ก็ต้องมีขึ้นมาแล้ว เพราะประชาชนผู้เลือกตั้ง ได้ตั้งคำถาม ซึ่งจะเป็นกระบวนการสร้างนโยบายสาธารณะก่อนการเลือกตั้ง และจะกลายเป็นนโยบายรัฐบาล ด้วยกระบวนการเช่นนี้ มันจะเกิดเป็นสัญญาประชาคม ก็ขอเชียร์ไทยพีบีเอสให้จัดเวทีแบบนี้ขึ้นมา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง