ระวังก่อนสแกน! มุกใหม่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้ QR Code หลอกดูดเงิน

อาชญากรรม
18 มี.ค. 66
13:19
2,757
Logo Thai PBS
ระวังก่อนสแกน! มุกใหม่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้ QR Code หลอกดูดเงิน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้ QR Code หลอกดูดเงินร้านอาหารผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ทำทีสั่งอาหารและให้ร้านสแกนเพื่อรับเป็นเพื่อน ก่อนหลอกดูดเงินในบัญชี

วันนี้ (18 มี.ค.2566) น.ส.นพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวการฉ้อโกงออนไลน์รูปแบบใหม่ของขบวนการคอลเซนเตอร์ โดยการใช้ QR Code หลอกดูดเงิน

วิธีการคือ แก๊งคอลเซนเตอร์ติดต่อร้านอาหารผ่านแอปพลิเคชันไลน์ หลอกสั่งข้าวกล่องจำนวนมากโดยอ้างว่านำไปจัดเลี้ยงประชุมและโอนเงินมัดจำก่อน ต่อมา มิจฉาชีพได้โทรศัพท์สั่งอาหารเพิ่มและส่ง QR Code มาให้ร้านอาหารแอดเพื่อน แต่เมื่อแสกน QR Code กลับพบว่าหน้าจอเหมือนถูกไวรัส เจ้าของโทรศัพท์จึงรีบเข้าแอปพิเคชันธนาคาร เพื่อโอนเงินออกไปบัญชีอื่นก่อน และโทรศัพท์ก็เริ่มค้าง ระบบรวน จึงรีบปิดเครื่อง

ดีอีเอส จึงแจ้งเตือนประชาชนระวังและมีสติในการใช้จ่ายสินค้าหรือบริการต่างๆ เพราะร้านอาหารหลายแห่งเริ่มใช้ QR Code ในการชำระเงินแบบไร้เงินสด ขณะเดียวกันมิจฉาชีพอาจจงใจใช้ QR Code พิมพ์ URL ซึ่งนำไปสู่เว็บไซต์หลอกลวงให้กรอกข้อมูลหรือบัญชีธนาคาร หรือหลอกให้โอนเงินไปบัญชีคนอื่นที่ไม่ใช่บัญชีของร้านค้าได้

ดังนั้น ควรตรวจสอบแหล่งที่มาของ QR Code ว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่ และก่อนโอนเงินหรือทำธุรกรรมใดๆ ควรจะตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็นบัญชีของผู้ขายจริง ทั้งนี้หากประชาชนถูกหลอกลวงออนไลน์ต่าง ๆ สามารถแจ้งได้ทางสายด่วนโทร 1212 ตลอด 24 ชั่วโมง

แนะข้อกฎหมายป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์ที่ควรรู้

ขณะที่เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา เป็นวันแรกที่พระราชกำหนดปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์มีผลบังคับใช้ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้คาดหวังว่าจะเป็นเครื่องมือลดอาชญกรรมไซเบอร์และปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์

นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า เมื่อกฎหมายมีผลแล้ว อยากให้คนไทยได้ศึกษาและเรียนรู้ข้อกฎหมาย หากตกเป็นเหยื่อจะได้ปฎิบัติตัวถูก รู้ขั้นตอนวิธีการ ซึ่งมาตราที่น่าสนใจประกอบด้วย

- มาตรา 6 ธนาคารพบเหตุเองหรือได้รับแจ้ง ธนาคารมีหน้าที่ระงับธุรกรรมได้ หยุดความเสียหายให้ประชาชนได้แล้ว

- มาตรา 7 ผู้เสียหายแจ้งเหตุเอง ธนาคารมีหน้าที่ระงับธุรกรรมชั่วคราวและให้ผู้เสียหายไปแจ้งความภายใน 72 ชั่วโมง ใครได้รับความเสียหายให้รีบโทรศัพท์แจ้งธนาคารทันที และสามารถแจ้งความได้ทุกโรงพัก

- มาตรา 9 เปิดบัญชีม้า โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- มาตรา 10 เป็นธุระจัดหาหรือชักชวนให้มีการซื้อขายบัญชีม้า มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2-5 ปีปรับตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท

- มาตรา 11 เป็นธุระจัดหาโฆษณาหรือซื้อขายหมายเลขโทรศัพท์ซึ่งลงทะเบียนในชื่อผู้อื่น หรือซิมผี มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2-5 ปี ปรับตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มีผลแล้ว พ.ร.ก.ป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์

แจ้งอายัด "บัญชีม้า-ซิมผี" แจ้งความภายใน 72 ชม.

เตือนภัยออนไลน์ หลอกเด็กส่งรูปโป๊แลกไอเทมเกม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง