กังขา ร.ร.รัฐไม่รับเด็ก 23 คน จากศูนย์อพยพ เข้าเรียนชั้นอนุบาล

ภูมิภาค
18 มี.ค. 66
15:10
1,170
Logo Thai PBS
กังขา ร.ร.รัฐไม่รับเด็ก 23 คน จากศูนย์อพยพ เข้าเรียนชั้นอนุบาล
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เรื่องราวของเด็ก 23 คน ที่เกิดในประเทศไทยจากพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านนุ จ.ตาก ถูกปฏิเสธไม่รับเข้าเรียนต่อชั้นอนุบาล ด้านเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระบุ มีข้อห้ามเด็กในศูนย์อพยพเข้าเรียน แต่เด็กไร้สัญชาติ และนอกศูนย์อพยพเข้าเรียนได้

เมื่อวานนี้ สื่อสังคมออนไลน์ เพจเฟซบุ๊ก คลินิกกฎหมายอุ้มผาง โครงการสี่หมอชายแดน จ.ตาก ได้ โพสต์ภาพเด็กๆ ที่บริเวณหน้าป้าย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านนุโพ สังกัดเทศบาลตำบลแม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก พร้อมกับเขียนข้อความว่า

ชะตากรรมเด็กน้อย 23 คน โรงเรียนปฏิเสธไม่ให้เข้าเรียน อ้างว่าหากรับเด็กไม่มีสัญชาติไทยอาจเป็นการทำผิดกฎหมาย แถมเป็นภาระครู

เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2566 คลินิกกฎหมายอุ้มผาง โรงพยาบาลอุ้มผาง ได้รับแจ้งว่ามีนักเรียนจำนวน 23 ราย ซึ่งเป็นเด็กที่เกิดในประเทศไทยจากพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านนุโพ ถูกปฏิเสธไม่รับเข้าเรียนต่อชั้นอนุบาล 1-2 ที่ โรงเรียนบ้านนุโพ ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก

เมื่อคลินิกกฎหมายได้ตรวจสอบ พบว่า มีการออกประกาศสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 เรื่อง มาตรการเกี่ยวกับการรับนักเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2

ซึ่งสั่งห้ามมิให้โรงเรียนภายใต้สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 รับบุคคลดังต่อไปนี้เข้าเป็นนักเรียน กล่าวคือ 1.ผู้หนีภัยจากการสู้รบที่พักอาศัยและมีชื่ออยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราว หรือศูนย์อพยพ 2.คนต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองโดยไม่ถูกกฎหมาย 3.บุคคลที่มีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศเดินทางไปกลับบริเวณชายแดน

การปฏิเสธไม่รับเด็กเข้าเรียนของโรงเรียน ซึ่งอ้างตามประกาศสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 นั้น เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมายภายในที่เกี่ยวข้องอย่างชัดแจ้ง

การกระทำดังกล่าวยังขัดต่อเจตนารมณ์ของประเทศไทยที่ประสงค์เปิดโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กทุกคนอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่คำนึงถึงสัญชาติ หลักฐานทางทะเบียน และสถานะทางกฎหมาย มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2535

อีกทั้งยังจะเป็นการละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคี อาทิ ปฏิญญาโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน พ.ศ.2533 อนุสัญญาสิทธิเด็ก และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ

จากเด็ก 23 คนในวันนี้ จะเพิ่มเป็นเด็กในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 ทั้ง 5 อำเภอชายแดน จ.ตาก เด็กใน อ.แม่สอด ซึ่งในสถานศึกษาบางแห่ง มีเด็กต่างชาติศึกษาอยู่มากกว่าร้อยละ 50 รวมถึงเด็กในพื้นที่ อ.พบพระ แม่ระมาด และท่าสองยาง ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ชายแดนไทยเมียนมาด้วยเช่นกัน

จ.ตากเป็นพื้นที่ชายแดนที่มีความละเอียดอ่อน และมีความสำคัญมากในหลายมิติ แต่กลายเป็นว่า หน่วยงานที่มีหน้าที่คุ้มครองสิทธิทางการศึกษาของประชาชน เช่นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาฯ กลับมีมุมมองความมั่นคงแบบเก่า ยิ่งกว่าหน่วยความมั่นคงของไทย ซึ่งเข้าใจมานานแล้วว่าชาตินิยมหรือสัญชาตินิยมไม่สามารถพัฒนาพื้นที่ชายแดน และพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ได้

ประเทศไทยได้รับการชื่นชมในทางระหว่างประเทศในเรื่องการให้การศึกษาแก่ทุกคนอย่างไม่เลือกปฏิบัติเสมอมา ประกาศสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 ฉบับนี้ แสดงถึงความถดถอยในการดำเนินนโยบายเรื่องการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ

อันส่งผลเป็นการทำลายภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย ซึ่งบุคลากรทางการศึกษาของไทยสร้างสัมมานานหลายสิบปี จึงขอเรียนถามท่านผู้บริหาร ว่าท่านเห็นด้วยกับการออกประกาศที่มีเนื้อหาเป็นการเลือกปฏิบัติเช่นนี้หรือไม่

ด้าน ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า ได้รับการร้องเรียนเรื่องนี้จากโรงพยาบาลกับชุมชนในพื้นที่ อ.อุ้มผาง ว่า มีโรงเรียนไม่รับเด็กเข้าเรียน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิสูจน์ว่า เด็กเหล่านั้นเป็นผู้มีสิทธิที่จะเข้าเรียนในสถานศึกษาหรือไม่

เนื่องจากตอนนี้มีกฎหมายอยู่ 2 ฉบับ คือ ข้อห้ามเด็กในศูนย์อพยพเข้ามาเรียนในโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ แต่เด็กไร้สัญชาติ เด็กที่อยู่นอกศูนย์อพยพ สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการได้

“ตอนนี้ต้องพิสูจน์ก่อนว่า เป็นเด็กในศูนย์พักพิงชั่วคราวหรือไม่ เด็กในศูนย์พักพิงชั่วคราว จะได้รับการจัดการเรียนการสอนในศูนย์พักพิงชั่วคราวโดยองค์กรพัฒนาเอกชน (ร่วมกับ UNHCR) ซึ่งได้รับอนุญาตการดำเนินงานจากกระทรวงมหาดไทย“

ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้เป็นไปตามประเด็นเรื่องความมั่นคง ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ได้เข้าไปในเรื่องความมั่นคง กระทรวงศึกษาธิการมีหน้าที่จัดการศึกษาตามกฎหมายที่สามารถกำหนดได้ ซึ่งหลังจากทำการพิสูจน์สิทธิเสร็จแล้ว ก็จะเข้าไปทำการแนะนำให้ เด็กทั้ง 23 คน ได้เข้าเรียนตามสิทธิที่พวกเขามีอยู่

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง