รัฐ-เอกชนประสานเสียงการเมืองไม่ควรแทรกแซง "ขึ้นค่าแรง"

เศรษฐกิจ
18 มี.ค. 66
20:56
777
Logo Thai PBS
รัฐ-เอกชนประสานเสียงการเมืองไม่ควรแทรกแซง "ขึ้นค่าแรง"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หลายพรรคการเมืองหาเสียงโดยใช้นโยบาย "ค่าจ้างขั้นต่ำ" นักวิชาการทีดีอาร์ไอหวั่นค่าจ้างไม่เป็นไปตามกลไกเศรษฐกิจ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ขณะที่ตัวแทนเอกชนอยากให้การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำของไทยเป็นค่าจ้างที่ขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ และไม่ควรมีการเมืองเข้ามาแทรกแซง

วันนี้ (18 มี.ค.2566) มีการจัดงานสัมมนาสาธารณะในประเด็น “ค่าแรงขั้นต่ำ ขายฝันแรงงานไทย” ของหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ บสก.รุ่นที่ 11 โดยสถาบันอิศรา

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เห็นว่า พรรคการเมืองต่างใช้นโยบายประชานิยมในการหาเสียง ด้วยการชูประเด็นขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และเห็นว่าเป็นนโยบายชวนเชื่อทางการตลาด แต่ก็เชื่อว่าส่วนหนึ่งทำได้จริง เพราะการขึ้นค่าจ้างเป็นเรื่องของนายจ้าง เป็นเรื่องของภาคเอกชนที่เป็นผู้จ่าย ไม่ได้ใช้งบประมาณของพรรคการเมือง หรืองบจากภาครัฐแต่อย่างใด

หากค่าจ้างที่สูงขึ้นเกินจากความเป็นจริง จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่ของการอุปโภคบริโภคทั้งหมด และสุดท้ายภาระจะตกอยู่กับผู้บริโภค ทั้งนี้ในฐานะนายจ้าง มองว่าค่าจ้างขั้นต่ำของไทยควรจะเป็นค่าจ้างที่ขึ้นเป็นอัตโนมัติตามอัตราเงินเฟ้อ และต้องไม่มีการเมืองเข้ามาแทรกแซง

เป้าหมายคือนายจ้าง-ลูกจ้างต้องอยู่ด้วยกันได้เหมือนปาท่องโก๋ การเมืองอย่าเข้ามาแทรกแซงทำลายต้นทุนของชาติ ประชาชนชนต้องรู้เท่าทันว่าพรรคการเมืองต่างใช้การตลาด 100% เพื่อให้ได้เข้ามาในสภาฯ

นอกจากนี้ยังฝากถึงเด็กรุ่นใหม่ Gen Z ที่กำลังหางานทำ สิ่งที่ต้องมีคือทักษะด้านภาษา โปรแกรมคอมพิวเตอร์พื้นฐาน บุคลิกภาพดี แต่งกายเหมาะสม มีการเตรียมข้อมูลก่อนการสัมภาษณ์ และสุดท้ายอย่าเลือกงาน เพราะแม้เงินเดือนจะน้อยในตอนต้น แต่ประสบการทำงานจะทำให้เราสามารถเพิ่มค่าตอบแทนในอนาคตได้

ขณะที่ รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ที่ปรึกษาฝ่ายการวิจัยนโยบายทรัพยากรมนุษย์ TDRI เห็นว่า การหาเสียงด้วยการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้ค่าจ้างไม่เป็นไปตามกลไกเศรษฐกิจ และทำให้ต้นทุนการผลิตของประเทศสูงขึ้น

ดังนั้น เมื่อพรรคการเมืองนำค่าจ้างมาเป็นนโยบายในการหาเสียงจะเป็นอันตรายต่อประเทศ เพราะ กกต.กำหนดไว้ว่า นโยบายที่พรรคการเมืองใช้หาเสียงเมื่อได้เป็นรัฐบาลแล้วจะต้องทำจริง ซึ่งจะทำให้นายจ้างได้รับผลกระทบ และจากนี้ไปมองว่ารัฐบาลไม่ได้อยู่ยาวเหมือนในอดีต มีความเป็นไปได้ว่านโยบายค่าแรงจะเปลี่ยนทุก 2 ปี

พร้อมฝากไปยังพรรคการเมืองว่าควรทำให้ค่าจ้างเป็นไปตามกลไกไตรภาคี เพราะหากมีการแทรกแซงจะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง ตลาดแรงงานได้รับผลกระทบ

ด้านนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ปัจจุบันค่าแรงไม่เพียงต่อการใช้จ่ายของแรงงาน ดังนั้นควรดูที่โครงสร้างมากกว่าการกำหนดเรื่องตัวเลขอย่างเดียว และควรหารือกันว่าค่าจ้างเท่าไหร่ที่แรงงานอยู่ได้ในปัจจุบัน

ขอบคุณทุกพรรคที่พยายามเสนอนโยบายค่าแรง แต่ทางปฏิบัติพูดแล้วต้องทำและต้องทำให้ได้ ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่านโยบายค่าแรงบางยุคไปไม่ถึงจุดที่หาเสียงเอาไว้

จี้รัฐคุ้มครองค่าจ้างขั้นต่ำ "แรงงานนอกระบบ"

นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง กรรมการสมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย) กล่าวว่า แรงงานนอกระบบคือแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในภาคการจ้างงานที่เป็นทางการ ปี 2565 มีคนทำงานทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานนอกระบบ 20.2 ล้านคน ซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำไม่คุ้มครอง เห็นได้ชัดในช่วงสถานการณ์โควิด-19 กลุ่มแรงงานนอกระบบเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ ต้องลดค่าใช้จ่ายของครอบครัวและปรับตัวอย่างมาก เนื่องจากไม่มีรายได้ประจำ ไม่สามารถที่จะฝันเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำได้

อีกทั้งบางอาชีพของแรงงานนอกระบบขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก หากการท่องเที่ยวยังไม่กลับมาก็ยากที่จะฟื้น แม้สถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลาย แต่หลายอาชีพที่เป็นแรงงานนอกระบบยังไม่ได้กลับมาทั้งหมด

คำถามว่า ค่าแรงขั้นต่ำขายฝันแรงงานไทยหรือไม่ เราอยู่นอกระบบของการคิดค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่ว่าจะประกาศอะไร จะเป็นฝันของใคร แต่ไม่ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ

ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐควรทำคือการคุ้มครองค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าจ้างที่เป็นธรรม ต้องคุ้มครองถึงแรงงานนอกระบบกลุ่มที่มีผู้จ้างงานหรือนายจ้างด้วย และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องประกันรายได้กลุ่มคนเหล่านี้ อีกทั้งต้องมีมาตรการส่งเสริมให้มีรายได้เท่าเทียมกับค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานในระบบ

ขึ้นค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศห่วงกระทบต้นทุน

ส่วนตัวแทนภาครัฐ นางนภสร ทุ่งสุกใส ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานมีนโยบายพลิกโฉมตลาดแรงงานไทยในปี 2566 เช่น พัฒนาภาคแรงงานต้องสอดรับกับโลกยุคดิจิทัล สนับสนุนการพัฒนาทุนมนุษย์ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาแรงงานนอกระบบ คำนึงถึงความต้องการของสถานประกอบการในประเทศและแรงงาน ได้รับการส่งเสริมด้านรายได้ แรงงานได้รับความคุ้มครองและได้รับความเป็นธรรมตามกฎหมาย มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีความสุขอย่างยั่งยืน

หากปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ จะส่งผลให้อุตสาหกรรมกระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองใหญ่ โดยเฉพาะปริมณฑล เพราะไม่มีแรงจูงใจกระจายการผลิตไปจังหวัดที่อยู่ห่างออกไป หากขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำก้าวกระโดดสูงเกินไป

นอกจากนี้ ไทยอาจสูญเสียความสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ส่งผลให้ราคาสินค้าของไทยในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น และผู้ประกอบการอาจต้องปิดกิจการหรือย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่า หากปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทุกจังหวัดและปรับแบบก้าวกระโดด ที่สำคัญอาจมีผลกระทบต่อต้นทุนของธุรกิจท้องถิ่นหรือกิจการขนาดเล็ก ส่งผลให้ต้องลดจำนวนคนงานหรือปิดกิจการ

ส่วนแรงงานจะมีรายจ่ายหรือภาระค่าครองชีพสูงขึ้น มีอำนาจซื้อน้อยลง มีความสามารถจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการได้น้อยลง ทำให้รายได้ที่มีหรือเงินที่หามาได้ไม่เพียงพอกับการยังชีพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง