กัมมันตรังสีอันตราย " ซีเซียม -137 " ส่งผล DNA กลายพันธุ์

สังคม
20 มี.ค. 66
16:16
1,366
Logo Thai PBS
กัมมันตรังสีอันตราย " ซีเซียม -137 " ส่งผล DNA กลายพันธุ์

ยังไม่รู้ใครจะเจอ "แจ็กพอต" แม้ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะยืนยันว่ากัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่ถูกขโมยไปจากโรงไฟฟ้าพลังงานไอน้ำ บริเวณนิคมอุตสาหกรรม 304 อ.ศรีมหาโพธิ์ ซึ่งเปลี่ยนสถานะเป็นของเหลวหลังจากถูกหลอมไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น แต่เบื้องต้น ไม่น่ากังวล เพราะลักษณะความร้อนที่สูงมากสารก็สลายไป

ที่น่ากังวล คือ เศษที่มีซีเซียมติดอยู่อาจกระจายออกไป ต้องให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ตรวจสอบและวัดสารดังกล่าวในสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสารชนิดนี้ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า จึงยากที่จะรู้ว่า ร่างกายได้รับสารนั้นมาแล้ว

และย้ำว่า แต่สังเกตได้จากอาการป่วย โดยผู้ที่มีประวัติสัมผัสสารดังกล่าว ต้องพบแพทย์เพื่อสอบสวนโรค และต้องติดตามตั้งแต่เส้นทางการขนย้ายภายในโรงงานกับพื้นที่โรงงานด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้สารกัมมันตรังสี มีผลทำให้เซลล์ของมนุษย์เกิดความผิดปกติ โดยปัจจัยความรุนแรง ขึ้นอยู่กับระยะเวลา วิธีที่สัมผัส และปริมาณสารที่ได้รับ แต่เดิมวัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม 137 มีประโยชน์ในทางการแพทย์ ใช้ในการรัก ษามะเร็ง ในอดีตผู้ป่วยมะเร็งจะได้รับการฝังแร่ซีเซียม แต่ค่าครึ่งชีวิตนานไปกำจัดยาก จึงเปลี่ยนเป็น โคบอลต์ ครึ่งชีวิต 5 ปี

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ต่อมาความเจริญทางการแพทย์ได้พัฒนามาเรื่อยๆ จนเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้า และปัจจุบันในหลายโรงพยาบาล ได้ใช้อยู่ โดยเฉพาะการใช้รังสีในทางการแพทย์ ซึ่งไม่เคยปัญหา เนื่องจากทราบวิธีในการจัดการทั้งการนำเข้าและเอาออกอย่างมีประสิทธิภาพ

"สำหรับผู้ที่สัมผัสกับสารดังกล่าว การรักษาต้องดูว่า สารถูกอวัยวะสำคัญหรือไม่ ซึ่งอาจเสียชีวิตได้ทั้งในระยะสั้นและยาว เหมือนโคบอลต์ 60 ที่ซาเล้งขายของเก่า เก็บโคบอลต์และได้รับสารพิษ หากถูกอวัยวะสำคัญ ก็มีผลกระทบ ต่อเซลล์และกระดูกไขสันหลัง ทำให้เกิดติดเชื้อได้ง่ายและก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ด้วย"นพ.ศุภกิจ กล่าว

ส่วนการเฝ้าระวังในบุคคลภายนอก หากไม่มีอาการป่วย หรือสงสัยเข้าข่ายมีอาการ ทางผิวหนัง หรือความผิดปกติอื่น ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อสอบสวนโรคตามข้อปฏิบัติการป้องกันเฝ้าระวังสารกัมมันตรังสีไทย ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.พลัง งานนิวเคลียร์เพื่อสันติพ.ศ. 2559 และขั้นตอนปฏิบัติตามมาตรฐานสากล

ขณะที่ข้อมูลจากสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย ระบุว่า สารซีเซียม-137 เป็นกัมมันตรังสี(radioactivity) คือ สารไอโซโทปของซีเซียม ซึ่งเป็นสารกัมมันตรังสี ปล่อยรังสีบีตา และรังสีแกมมา หากสัมผัสในช่วงเวลาสั้นๆ อาจจะไม่มีผลต่อร่างกายที่ชัดเจน

แต่ถ้าสัมผัสในระยะเวลานานและปริมาณสูงขึ้นจะเริ่มมีผลต่อร่างกาย ทำให้เกิดผื่นแดงตามผิวหนัง ผมร่วง แผลเปื่อย และหากสัมผัสในปริมาณสูงและยาวนาน อาจเกิดพังผืดที่ปอด เกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เกิดต้อกระจก ขึ้นในนัยน์ตา ซึ่งอาการจะขึ้นอยู่กับปริมาณรังสีที่ได้รับ

ข้อมูลยังระบุอีกว่า ที่ผ่านมาเคยมีการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าพลังนิว-เคลียร์ที่เมืองฟุกุชิมา ประเทศญี่ปุ่น และได้ตรวจพบสารกัมมันตรังสีจากสิ่งแวดล้อม อาหาร อากาศ และนํ้า ในบริเวณใกล้เคียง จนต้องอพยพผู้คนโดยรอบบริเวณที่รั่วไหล

สารกัมมันตรังสีที่ปนเปื้อนมีหลายชนิด ที่พบบ่อยคือสารกัมมันตรังสีไอโอดีน และซีเซียม โดยเฉพาะซีเซียม 137 มีค่าครึ่งอายุมากกว่า 30 ปี คงทำให้ต้องกักบริเวณรอบโรงไฟฟ้าดังกล่าวอีกหลายปี ถ้าได้รับรังสีขนาดสูงอาจเกิดอาการเป็นพิษเฉียบพลัน (acute radiation syndrome) ซึ่งวินิจฉัยไม่ยากจากประวัติทางสัมผัสอาการ และอาการแสดง

แต่ที่วินิจฉัยยากคือ อาการแบบเรื้อรังค่อยเป็นค่อยไป ได้รับรังสีในปริมาณไม่มาก แต่สามารถทำลายดีเอ็นเอของมนุษย์เกิดจากกลายพันธุ์ของยีน และตายผ่อนส่งด้วยโรคมะเร็ง

ข้อมูลระบุว่า จากการติดตามผู้ที่รอดชีวิตจากรังสีจากระเบิดปรมาณู ที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น พบว่าเกิดโรคมะเร็งที่ได้แทบทุกอวัยวะ และหลายคนเป็นหมันหลังการสัมผัสกับรังสี ซึ่งการเกิดโรคมะเร็งหรือไม่นั้น เกิดขึ้นจากความรุนแรงของยีนที่ถูกทำลาย โดยเฉพาะการกลายพันธุ์ของยีนก่อมะเร็ง

และการยับยั้งยีนต้านมะเร็ง การที่ยีนซ่อมแซมดีเอ็นเอไม่ทำงาน และความล้มเหลวของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายในการทำลายเซลล์แปลกปลอม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง