สำเร็จ เคลื่อนย้าย "มีนา" ลูกช้างป่าไปอยู่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่ากระบกคู่

สิ่งแวดล้อม
6 เม.ย. 66
11:44
560
Logo Thai PBS
สำเร็จ เคลื่อนย้าย "มีนา" ลูกช้างป่าไปอยู่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่ากระบกคู่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สำเร็จ ภาจกิจเคลื่อนย้าย "มีนา" ลูกช้างป่าพลัดหลงจาก ขสป.ดงใหญ่ ไปศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่ากระบกคู่ เบื้องต้นพบลูกช้างยังร่าเริง-กินนมได้ปกติ

วันนี้ (6 เม.ย.2566) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช รายงานภารกิจเคลื่อนย้าย "มีนา" ลูกช้างป่าพลัดหลง โดยรถเคลื่อนย้ายสัตว์ป่าของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าช่องกล่ำบน จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จ.บุรีรัมย์ ไปอนุบาลที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) จ.ฉะเชิงเทรา เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง

ทั้งนี้ พบว่า ลูกช้างป่ายังคงสดใสร่าเริง ลงจากรถเดินสำรวจพื้นที่และกินนมได้ปกติ

ก่อนหน้านี้ สัตวแพทยหญิง มัชฌมณ แก้วพฤหัสชัย หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) รายงานว่า ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) ร่วมกับสัตวแพทย์ประจำส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่าเขากระป็อด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ และสัตวบาลจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าช่องกล่ำบน เข้าติดตามอาการและดูแลลูกช้างป่า "มีนา" ณ หน่วยพิทักษ์ป่าเขากระป็อด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จ.บุรีรัมย์

จากการตรวจสุขภาพพบว่า สุขภาพโดยรวมของลูกช้างป่าปกติ ค่าคะแนนความสมบูรณ์ของร่างกาย = 2/5 ถือว่าเกณฑ์ขนาดตัวต่ำกว่ามาตรฐาน และร่างกายขาดน้ำ พฤติกรรมลูกช้างร่าเริง ตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมได้ดี กินนม และขับถ่ายได้ปกติ ทำการเสริมวิตามินซีและแคลเซียมให้กิน สำหรับการนอนหลับลูกช้างนอนหลับได้ดีในช่วงกลางวัน สามารถแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้ดี แต่เริ่มมีพฤติกรรมติดคน ติดพี่เลี้ยงและวิ่งเข้าหาคน

เมื่อคืนวันที่ 30-31 มี.ค.2566 และวันที่ 1-2 เม.ย.2566 ได้ทำการตามหาช้างฝูงที่มีลูกช้าง โดยได้รับความอนุเคราะห์โดรนตรวจจับความร้อนจากกลุ่ม save ฅน save ช้าง เพื่อหาโอกาสกลับเข้าฝูง ซึ่งพบว่ามีช้างฝูง 1 ฝูง ประมาณ 18 ตัว และมีลูกช้างป่าอยู่ด้วย คาดว่าเป็นฝูงเดียวกับลูกช้างป่า "มีนา" พลัดหลง ใกล้หน่วยพิทักษ์ป่าเขากระป็อด แต่ฝูงช้างป่าดังกล่าวไม่มารับลูกช้างป่ากลับฝูง

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะวิกฤตของลูกช้างป่าที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะเกรงว่าลูกช้างป่าจะเกิดการบอบช้ำและมีความเครียดทำให้เกิดอาการป่วย หรือทรุดลงได้ จึงเห็นควรพิจารณาเคลื่อนย้ายลูกช้างป่าไปทำการรักษาและอนุบาลฟื้นฟูร่างกายในพื้นที่ที่เหมาะสมต่อไป

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง