รายงานพิเศษ : “สวนชูวิทย์” กับการลดหย่อน..ผ่อนโทษ

อาชญากรรม
9 เม.ย. 66
13:56
2,186
Logo Thai PBS
รายงานพิเศษ : “สวนชูวิทย์” กับการลดหย่อน..ผ่อนโทษ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เป็นเวลากว่า 12 ปีแล้วที่ “สวนชูวิทย์” ที่ตั้งอยู่บริเวณปากซอยสุขุมวิท 10 กรุงเทพมหานคร ในพื้นที่ทำเลทอง ที่หลายคนต้องการเป็นเจ้าของ แต่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ กลับทำเป็นสวนสาธารณะ ให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์

หลังจากที่เมื่อปี 2546 เป็นที่ตั้งของบาร์เบียร์กว่า 60 ร้าน และถูกรื้อถอนออกไป โดยนายชูวิทย์ถูกดำเนินคดีด้วย

เช้ามืดวันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2546 มีกลุ่มชายกว่า 100 คน พร้อมกับอุปกรณ์รื้อถอนโครงสร้างอาคารเข้ามาปิดล้อม และเข้ารื้อถอนบาร์เบียร์กว่า 60 ร้าน บนที่ดินปากซอยสุขุมวิท 10 เนื่องจากเจ้าของที่ดินต้องการพื้นที่คืน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น

คดีนี้พนักงานสอบสวน สั่งฟ้องนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ และพวกรวม 66 คน ในข้อหา ทำให้เสียทรัพย์ บุกรุกในเวลากลางคืน กักขังหน่วงเหนี่ยว ข่มขืนใจผู้อื่น ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องผู้ต้องหาเกือบทั้งหมด แต่ในชั้นศาลอุทธรณ์ พิพากษาลงโทษจำคุกนายชูวิทย์ กับพวก เป็นเวลา 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา

แต่เมื่อคดีถึงชั้นศาลฎีกาในปี 2559 ศาลตัดสินลดโทษจำคุกนายชูวิทย์เหลือ 2 ปี เนื่องจากนายชูวิทย์ ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลลงโทษในสถานเบา

โดยนายชูวิทย์แถลงต่อศาลว่า ที่ผ่านมาได้ร่วมกับจำเลยคนอื่น ชดใช้ค่าเสียหายกับผู้เสียหายจนพอใจแล้ว และได้นำที่ดินข้อพิพาทไปทำประโยชน์สวนสาธารณะให้ประชาชนทั่วไป ไม่ได้ทำธุรกิจแสวงหาผลกำไรอีก

สวนสาธารณะแห่งนี้ กลายเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของคนย่านสุขุมวิท มากว่า 10 ปี จนกระทั่งต้นปีที่ผ่านมา พื้นที่บริเวณนี้ถูกรื้อถอนต้นไม้ออก เพื่อเตรียมปรับพื้นที่สร้างอาคารสูง 51 ชั้น ในโครงการ เดอะ เทนธ์ เอเวนิว

นายสนธิ ลิ้มทองกุล นำเรื่องนี้ไปพูดในรายการ “สนธิ ทอล์ก” ระบุถึงสาเหตุที่นายชูวิทย์ ได้รับการพิจารณาลดโทษ “โดยนำสวนสาธารณะไปอ้างถึงการให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์สาธารณะ” แต่เมื่อพ้นโทษมาแล้ว กลับนำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว

คุณชูวิทย์ ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา ให้เห็นใจ เพราะเอาที่ดินพิพาทนั้นมาทำเป็นสวนชูวิทย์ ขอความเมตตาจากศาลเพื่อให้นำมาเป็นปอดของกรุงเทพ เป็นสวนสารธารณะให้ประชาชนใช้งานไม่แสวงหาผลกำไร บาร์เบียร์ที่เป็นที่ดินสาธารณะเพื่อลดคำพิพากษา มีผลเป็นที่ดินสาธารณะไม่กี่ปี เมื่อพ้นโทษก็ยุบออกมาทำประโยชน์ตัวเอง

การออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ของนายสนธิ นายชูวิทย์ กลับถูกตั้งคำถามอีกครั้งว่า “สวนชูวิทย์” แห่งนี้เป็นการใช้ที่ดินอ้างต่อศาลว่า ให้ใช้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ แต่เมื่อพ้นโทษมาแล้ว กลับเปลี่ยนเป็นธุรกิจของตัวเองหรือไม่ ซึ่งนายชูวิทย์ก็ยืนยันว่าสวนแห่งนี้ เป็นสวนสาธารณะส่วนบุคคล ที่มีการกำหนดเวลาเข้าใช้ และเสียภาษีที่ดินด้วยตัวเองทุกปี

ผมทำให้ชุมชน ชุมชนปกป้องผม พวกนก พวกกา พวกอีแร้ง พวกสัมภเวสี ทำไปเถอะครับ ชุมชนสุขุมวิท จะปกป้องชูวิทย์ เพราะผมทำให้กับเขา เขามาใช้บริการ เขาเห็นอยู่ว่าผมทำ แม้แต่หม่อมสุขุมพันธ์ บ้านอยู่ติดกับผม ก็มาใช้วิ่งสวนผม เมื่อผมทำให้ชุมชน ชุมชนก็เห็นความดีของผม ผมนั้นทำความดีไม่ขึ้น สิ่งที่ผมทำให้เป็นเจตนารมย์ของผม ว่าผมทำให้เขาใช้ ได้ปิดเปิดเป็นเวลา จ่ายค่าบำรุง ผมไม่เคยใช้ให้กทม.มาจ่าย

ขณะที่ชาวบ้านที่อยู่ในย่านสุขุมวิท ก็เห็นว่า ก่อนหน้านี้นายชูวิทย์ ได้เปิดให้บุคคลอื่นมาใช้พื้นที่ของตัวเองมานานแล้ว ส่วนหลังจากนี้จะนำไปใช้ประโยชน์ในทางอื่นก็ถือว่าเป็นสิทธิ์ของตัวเอง

ก็มันที่ดินของเขา เขาให้วิ่งสาธารณะมา 10 ปี ก็ไม่มีใครทำแล้ว คนรวยทั้งหลายแหล่ ยังไม่กล้าทำเหมือนเขาเลย ยอมติดคุกที่ตัวเองด้วย มันกรรมสิทธิ์ของเขา คุณคิดอย่างไร ถ้าเป็นที่ของตัวเอง คุณก็ไม่ให้มาวิ่ง 10 กว่าปี คนรวยในกรุงเทพฯ ไม่มีใครทำแบบเขานะ

ในเรื่องนี้ นายษิทรา เบี้ยบังเกิด ยังได้โพสต์ข้อความแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการใช้ประโยชน์ของที่ดินสวนชูวิทย์อีกด้วย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้แถลงข่าวว่า นายชูวิทย์รับเงินจากเว็บไซต์พนันออนไลน์ ซึ่งนายชูวิทย์ ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท จากนายษิทรา ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาไว้แล้ว

ขณะที่ นายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความของนายชูวิทย์ ก็ยืนยันว่า ที่ดินของสวนชูวิทย์ ไม่ได้ยกให้เป็นสาธารณะ ยังคงดูแลพื้นที่ด้วยตัวเอง มีหลักฐานชัดเจนทั้งหมด

การที่มีคำพิพากษาของศาลฎีกาว่า ที่ใดเป็นที่สาธารณะหรือไม่ ต้องดูเป็นเรื่องๆ ไปไม่ใช่ดูทุกเรื่องนะครับ อีกอย่างหนึ่งการทำงานเราต้องดูบริบทของการเขียน เราต้องดูว่าที่ดินแปลงนี้ เขาไปทำเพื่ออะไร ในเมื่อเขายังไม่ใช้ทำประโยชน์ในตอนนั้น เขาก็เอาออกให้ประชาชนใช้สวน แล้วเขียนว่า "สวนชูวิทย์ส่วนบุคคล"

คำว่าสาธารณะมันไม่ได้หมายความว่าจะยกให้เป็นที่สาธารณะ แต่ยกให้เพื่อประชาชนใช้ แต่เมื่อเขาจะใช้ก็เป็นเรื่องปกติ เพราะฉะนั้นใครจะโจมตียังไง จะฟ้องคุณชูวิทย์ ต้องผ่านด่านอรหันต์ไปก่อน คนที่จะฟ้องได้ ไม่ใช่บุคคลที่พูด เพราะไม่ใช่ผู้เสียหาย คนที่ฟ้องได้คือกทม. แต่เชื่อว่า กทม.ไม่กล้าฟ้อง เพราะผมก็จะฟ้องกลับตามมาตรา 157 เพราะต่างคนต่างมีข้อมูล วัตถุประสงค์มีครบ เขียนชัดเจนว่าเป็นที่ส่วนบุคคล ในที่สาธารณะ

นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อัยการอาวุโส สำนักการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด บอกว่า ในทุกคดีอาญามีหลักการพิจารณาที่จะได้รับการลดโทษอยู่ 2 ส่วน คือ ส่วนแรก ความผิดนั้นลุแก่โทษแล้ว คือการรับสารภาพตั้งแต่ชั้นจับกุม สอบสวน จนมาถึงชั้นศาล ศาลจะพิจารณาลดโทษให้จำเลยตาม มาตรา 78

แต่หากการรับสารภาพนั้นเพราะจำนนต่อหลักฐาน ศาลออาจจะไม่พิจารณาลดโทษให้ รวมทั้งการรับสารภาพในชั้นศาลจะต้องรับตั้งแต่ศาลชั้นต้น หากเลยไปจนถึงศาลอุทธรณ์ หรือ ฎีกา ศาลจะพิจารณาเฉพาะประเด็นข้อที่ขออุทธรณ์ หรือ ฎีกาคดีเท่านั้น

“ถ้าจะลดโทษนอกจากนั้น เช่น คดีรถชนกัน กรณีที่เสี่ยเบนซ์ ขับรถชนผู้กำกับ และจ่ายเงินค่าเสียหายไปกว่า 40 ล้านบาท พร้อมกับดูแลครอบครัว นั่นคือเป็นเหตุบรรเทาโทษในการชดใช้ค่าเสียหาย เพราะฉะนั้นเรื่องการให้การเป็นประโยชน์กับศาล ถือว่าลุแก่โทษแล้ว และชดใช้ค่าเสียหาย

ส่วนในเรื่องอื่น เช่น คดีปราบปรามทุจริต เคยมีคดีของทหารคนหนึ่งถูกจับเรื่องขายอาวุธปืน ก็ได้นำประวัติการรับราชการที่ก่อนหน้านี้เคยประกอบคุณงามความดี พอมากระทำความผิดครั้งนี้จึงนำความดีในอดีตมาขอลดโทษ แต่ไม่ใช่การขอเอาความดีในอนาคตจะมาลดโทษ เพราะไม่มีใครรู้ว่า จะดีจริง หรือไม่ดีจริง แต่ความดีที่ว่ามันต้องมีมาก่อนแล้วไม่ใช่มาสร้างเอาตอนมีคดี อันนี้ศาลไม่ดูให้”

นายปรมศวร์ ยังกล่าวว่า ศาลจะไม่มีการพิจารณาการลดโทษ จากการนำที่ดินของตัวเองไปทำประโยชน์อื่น แต่หากจำเลยมีการแถลงต่อศาลในเรื่องนี้ เพื่อแสดงความรู้สึกให้ศาลเห็นใจ แต่ไม่ได้เขียนในคำพิพากษา เพราะไม่ใช่ประเด็นในข้อกฎหมาย ซึ่งศาลก็เป็นมนุษย์ ก็มีความรู้สึก อาจจะพิจารณาได้ว่า นี่คือองคุลีมาลกลับใจ และทำประโยชน์ไว้ ซึ่งก็เป็นการทำประโยชน์เกิดขึ้นก่อนจะพิพากษา ก็อาจจะเป็นสิ่งที่โน้มน้าวใจศาลได้บ้าง

ส่วนประเด็นการยกที่ดินให้ กทม.ไปดูแลหรือไม่นั้น ถ้าหากนายชูวิทย์ประกาศยกพื้นที่นี้ให้ กทม.เข้าไปดูแล บริหารจัดการ ก็ถือว่าเป็นการยกให้เป็นของแผ่นดินได้ทันที โดยที่ไม่ต้องไปโอนโฉนด

แต่หากที่ดินผืนนี้เปิดให้ใช้สาธารณะ แล้วลงทุนเอง มีเวลาเปิดปิดชัดเจน อันนี้ไม่ใช่ เป็นเพียงการเปิดโอกาสให้คนอื่นมาใช้บริการในทรัพย์สินของตัวเอง และถือว่ายังมีเจตนาครอบครองไว้อยู่โดยการอนุเคราะห์ให้ประชาชนได้มาใช้

สำหรับพื้นที่ดังกล่าว ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างเสาเข็ม ซึ่งที่ดินผืนนี้หากตีเป็นมูลค่าแล้วไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งนายชูวิทย์ ยืนยันก็จะดำเนินการต่อ

ขณะที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็เคยออกมายืนยันแล้วว่า พื้นที่ของสวนชูวิทย์ไม่ใช่เป็นที่ดินในความดูแลของกทม. เพราะมีการเสียภาษี และดูแลโดยเจ้าของอย่างชัดเจน

รายงาน : เบญจพจน์ ทิพย์กมลแสง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง