มือหุ่นยนต์จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เคลื่อนไหว จับสิ่งของได้เหมือนมือมนุษย์

Logo Thai PBS
มือหุ่นยนต์จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เคลื่อนไหว จับสิ่งของได้เหมือนมือมนุษย์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ พัฒนา "มือหุ่นยนต์" หรือแขนกลหุ่นยนต์ ประหยัดพลังงาน ที่สร้างขึ้นจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ จับสิ่งของได้โดยไม่ตกหล่น และเคลื่อนไหวได้เหมือนมนุษย์

การจะหยิบจับวัตถุต่าง ๆ ไม่ว่าจะมีรูปร่าง ผิวสัมผัสอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ง่ายดายมากสำหรับมนุษย์ แต่สำหรับหุ่นยนต์การหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์จึงได้พัฒนามือหุ่นยนต์ที่สร้างขึ้นจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ให้สามารถหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ ที่ไม่ว่าจะมีรูปร่างหรือผิวสัมผัสอย่างไร ก็สามารถทำได้ถนัดมือ และไม่ตกหล่นได้ง่าย ซึ่งมือหุ่นยนต์สามารถทำได้ดีเหมือนมนุษย์เลยทีเดียว

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ออกแบบมือหุ่นยนต์ให้มีความยืดหยุ่น ถึงแม้จะไม่สามารถขยับนิ้วมือได้อย่างอิสระ แต่ก็สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างซับซ้อนและหลากหลาย ซึ่งมือหุ่นยนต์นี้ได้รับการฝึกฝนให้สามารถจับวัตถุต่าง ๆ ได้ และยังมีระบบเซนเซอร์ที่ฝังอยู่ในมือของหุ่นยนต์เพื่อช่วยคาดเดาการตกหล่นของวัตถุ จึงทำให้วัตถุไม่ตกหล่นจากมือของหุ่นยนต์ได้ง่าย

เซนเซอร์ที่นำมาใช้จึงเปรียบเสมือนผิวหนังของหุ่นยนต์ โดยจะทำหน้าที่วัดแรงกดที่กระทำต่อวัตถุ โดยหุ่นยนต์จะสามารถประเมินตำแหน่งที่วัตถุถูกหยิบจับ และประเมินได้ว่าจะต้องใช้แรงมากน้อยเพียงใด ซึ่งเทคโนโลยีนี้มีการใช้ต้นทุนในการผลิตต่ำ และประหยัดพลังงานเนื่องจากนิ้วมือของหุ่นยนต์ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ จึงทำให้เกิดการใช้พลังงานในระดับต่ำ

มือหุ่นยนต์จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ มีการติดตั้งเซนเซอร์เพื่อรับรู้สิ่งที่สัมผัสอยู่ และนักวิจัยได้ทำการทดสอบมากกว่า 1,200 ครั้ง เพื่อประเมินความสามารถของมือในการจับวัตถุโดยไม่ทำตก ซึ่งเริ่มฝึกจากการจับลูกบอลพลาสติก ต่อด้วยลูกพีช เมาส์คอมพิวเตอร์ แผ่นกันกระแทก 1 ม้วน และวัตถุอื่น ๆ ซึ่งมือหุ่นยนต์สามารถถือสิ่งของได้ 11 ชิ้น จากทั้งหมด 14 ชิ้น

ในปัจจุบันทีมนักวิจัยกำลังพัฒนาเพิ่มเติมในส่วนของความแม่นยำ และความเร็วของมือหุ่นยนต์ รวมถึงสำรวจการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้งานในรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อพัฒนามือหุ่นยนต์เวอร์ชันสูงที่สามารถรับรู้ และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม เช่น อุณหภูมิหรือความชื้นได้

ที่มาข้อมูล: bbc, interestingengineering, scitechdaily, techxplore
ที่มาภาพ: bbc
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง